เจาะงบ ก.คลัง 4 ปี รบ.ประยุทธ์ ได้ไป 7.3 แสนล. ทุ่มบริหารหนี้สาธารณะ 5 แสนล.
เช็คกระทรวงการคลัง ผู้ดูแลสถานะการเงินของประเทศ 4 ปี ยุค รบ.ประยุทธ์ ได้งบ 7.3 แสนล้านบาท ทุ่มบริหารหนี้สาธารณะ 5 แสนล้าน จัดสรรงบ 3 หน่วยงานสำคัญ กรมสรรพสามิต 1 แสนล้านเศษ กรมศุลกากร 1.5 หมื่นล้านเศษ กรมสรรพากร 4.4 หมื่นล้านเศษ ทำสัญญาจ้างเอกชนแล้ว 3.1 หมื่นโครงการ เบิกจ่าย 2.3 หมื่นล้าน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า ในช่วงปลายเดือน ส.ค. 2561 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะบริหารประเทศในนามรัฐบาลอย่างเป็นทางการครบรอบ 4 ปี
สำนักข่าวอิศรา จึงนำเสนอซีรีย์การตรวจสอบเงินงบประมาณของรัฐบาลชุดนี้ ในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับการเป็นรัฐบาลปกติตามรัฐธรรมนูญ เพื่อดูว่ามีการนำงบประมาณไปใช้เท่าไหร่ ทำสัญญาว่าจ้างเอกชนเท่าไหร่ ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557-2561 รวม 5 ฉบับ และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2559-2561 รวม 3 ฉบับ และฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
2 ตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรารายงานการใช้งบประมาณของกระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย 2 หน่วยงานสำคัญไปแล้วว่า 4 ปีที่ผ่านมา ได้รับงบประมาณไป 8.9 แสนล้านบาท และ 1.1 ล้านล้านบาท ตามลำดับ (อ่านประกอบ : ถึงคิว! เช็คงบ มท. 4 ปี รบ.บิ๊กตู่จัดหนัก 1 ล้านล.-3 กรมฯจ้างเอกชนแล้ว 3.3 แสนสัญญา, เช็คงบ กห. 5 ปี รบ.บิ๊กตู่ 8.9 แสนล้าน! ทบ.มากสุด4.5แสนล.-ว่าจ้างเอกชนแล้ว 1.7 แสนสัญญา)
คราวนี้มาดูกระทรวงการคลัง ‘กระทรวงเกรดเอ’ อีกแห่งหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่เบิกจ่ายและควบคุมดูแลเงินงบประมาณของประเทศว่าที่ผ่านมาได้เงินไปแล้วเท่าไหร่ ใช้จ่ายอะไรไปบ้าง ?
4 ปีที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านงบประมาณให้กระทรวงการคลังไปแล้ว 739,868,527,800 บาท หรือราว 7.3 แสนล้านบาท โดยมี 3 หน่วยงานสำคัญ คือ กรมศุลกากร ได้งบ 15,556,785,500 บาท หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาท กรมสรรพสามิต ได้งบ 106,400,286,200 บาท หรือราว 1 แสนล้านบาท และกรมสรรพากร ได้งบ 44,999,594,100 บาท หรือราว 4.4 หมื่นล้านบาท
ปี 2557 กระทรวงการคลัง ได้งบ 228,796,658,400 บาท หรือราว 2.2 แสนล้านบาท มากที่สุดในช่วง 4 ปีใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ โดย 3 หน่วยงานหลัก คือ กรมศุลกากร ได้งบ 2,789,694,900 บาท กรมสรรพสามิต ได้งบ 42,286,758,100 บาท และกรมสรรพากร ได้งบ 8,982,389,000 บาท โดยเกือบทั้งหมดเป็นงบในเรื่องแผนงานรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซีย แผนงานบริหารจัดการเศรษฐกิจมหาภาคให้เกิดความยั่งยืน และแผนงานยกระดับรายได้ และเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน
ปี 2558 กระทรวงการคลัง ได้งบ 186,101,134,700 บาท หรือราว 1.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จำนวน 185,852,223,000 บาท โดย 3 หน่วยงานหลัก คือ กรมศุลกากร ได้งบ 3,383,593,800 บาท กรมสรรพสามิต ได้งบ 4,057,363,400 บาท และกรมสรรพากร ได้งบ 9,147,426,500 บาท โดยเกือบทั้งหมดเป็นงบในเรื่องแผนงานดำเนินการตามกรอบข้อตกลงของประชาคมอาเซียน และแผนงานบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้เกิดความยั่งยืน
นอกจากนี้ยังได้งบตาม พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2558 จำนวน 248,911,700 บาท มีกรมศุลกากรได้เพิ่มเติม 44,187,000 บาท และกรมสรรพากร ได้เพิ่มเติม 77,724,700 บาท เพื่อเป็นการตั้งจ่ายเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน
ปี 2559 กระทรวงการคลัง ได้งบ 209,738,019,200 บาท หรือราว 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 จำนวน 199,174,066,600 บาท โดย 3 หน่วยงานหลัก คือ กรมศุลกากร ได้งบ 4,257,701,600 บาท กรมสรรพสามิต ได้งบ 2,658,100,200 บาท และกรมสรรพากร ได้งบ 9,627,129,300 บาท โดยเกือบทั้งหมดเป็นงบในเรื่องแผนงานบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้เกิดความยั่งยืน
นอกจากนี้ยังได้ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2559 จำนวน 8,338,972,700 บาท เพื่อชดใช้เงินคงคลัง โดยนำงบประมาณมาจากภาษีและรายได้อื่น สำหรับเหตุผลเพื่อใช้ในการจ่ายเงินคงคลังเพื่อเป็นเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
ขณะเดียวกันยังได้ตาม พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2559 จำนวน 2,224,979,900 บาท โดยกรมศุลกากรได้เพิ่มเติม 345,641,400 บาท กรมสรรพากรได้เพิ่มเติม 3,097,500 บาท เพื่อเป็นการตั้งจ่ายเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน
ปี 2560 กระทรวงการคลัง ได้งบ 52,854,242,900 บาท หรือราว 5.2 หมื่นล้านบาท น้อยที่สุดในช่วง 4 ปีใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ แบ่งเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 จำนวน 25,580,994,700 บาท โดย 3 หน่วยงานหลัก คือ กรมศุลกากร ได้งบ 2,838,530,800 บาท กรมสรรพสามิต ได้งบ 2,703,694,500 บาท และกรมสรรพากร ได้งบ 9,679,535,500 บาท โดยเกือบทั้งหมดเป็นงบในเรื่องแผนงานบุคลากรภาครัฐ และแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุล และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
นอกจากนี้ยังได้ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2560 จำนวน 27,078,278,700 บาท เพื่อชดใช้เงินคงคลัง โดยนำงบประมาณมาจากภาษีและรายได้อื่น สำหรับเหตุผลเพื่อใช้ในการจ่ายเงินคงคลังเพื่อเป็นเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
ขณะเดียวกันยังได้ตาม พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2560 จำนวน 194,969,500 บาท โดยกรมสรรพากร ได้เพิ่มเติม 154,581,600 บาท เพื่อเป็นการตั้งจ่ายเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน
ปี 2561 กระทรวงการคลัง ได้งบ 62,378,472,600 บาท หรือราว 6.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 จำนวน 12,402,784,200 บาท โดย 3 หน่วยงานหลัก คือ กรมศุลกากร ได้งบ 1,897,262,200 บาท กรมสรรพสามิต ได้งบ 1,494,226,900 บาท และกรมสรรพากร ได้งบ 7,041,407,400 บาท
นอกจากนี้ยังได้ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2561 จำนวน 49,647,248,000 บาท แบ่งเป็น เพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต 5,325,000 บาท และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 49,641,923,000 บาท โดยนำงบประมาณมาจากภาษีและรายได้อื่น สำหรับเหตุผลเพื่อใช้ในการจ่ายเงินคงคลังเพื่อเป็นเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
ขณะเดียวกันยังได้ตาม พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2561 จำนวน 328,440,400 บาท โดยกรมศุลกากร ได้เพิ่มเติม 173,800 บาท และกรมสรรพากร ได้เพิ่มเติม 286,266,600 บาท เพื่อเป็นการตั้งจ่ายเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน
สาเหตุสำคัญที่ในปี 2557-2559 กระทรวงการคลังได้รับงบประมาณมากกว่าปีหลัง ๆ เนื่องจากช่วงนั้น กระทรวงการคลังมีการตั้งงบประมาณให้กับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อจัดการหนี้เป็นจำนวนมาก รวม 5 ปีหลังสุด (2557-2561) กระทรวงการคลังตั้งงบให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะทั้งสิ้น 501,207,348,600 บาท หรือราว 5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น
ปี 2557 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้งบ 162,480,082,600 บาท ปี 2558 ได้งบ 161,751,051,100 บาท ปี 2559 ได้งบ 174,787,685,400 บาท ส่วนในปี 2560 ได้งบเพียง 2,119,828,400 บาท และปี 2561 เหลือเพียง 68,701,100 บาท
หากนับเฉพาะช่วงปี 2557-2559 กระทรวงการคลังตั้งงบให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมากถึง 499,018,819,100 บาท หรือราว 4.9 แสนล้านบาท
คราวนี้มาดู 3 หน่วยงานหลักในกระทรวงการคลังกันบ้างว่าใช้จ่ายงบไปเท่าไหร่ โดยดูจากฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน (ณ วันที่ 8 ส.ค. 2561)
กรมศุลกากร ว่าจ้างเอกชนทำสัญญาแล้ว 4,507 โครงการ (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 8,573.56 ล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ จ.สงขลา วงเงิน 1,532,07 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2559 ดำเนินการโดยบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)
กรมสรรพสามิต ว่าจ้างเอกชนทำสัญญาแล้ว 8,708 โครงการ (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 6,048.87 ล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์สำรองระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพสามิต พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ วงเงิน 332 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2559 ดำเนินการโดยบริษัท ไซท์ เพรพพาเรชั่น แมเนจเมนท์ จำกัด
กรมสรรพากร ว่าจ้างเอกชนทำสัญญาแล้ว 18,340 โครงการ (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 9,130.98 ล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ เช่าใช้บริการวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูง สำหรับปีงบประมาณ 2559 วงเงิน 249.90 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2558 ดำเนินการโดยบริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด
เบ็ดเสร็จ 3 หน่วยงานสำคัญใต้ปีกกระทรวงการคลัง ว่าจ้างเอกชนทำสัญญาไปแล้ว 31,555 โครงการ (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ใช้จ่ายเงินงบประมาณไปแล้วราว 23,753.41 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)
อย่างไรก็ดีข้อมูลส่วนนี้ นับเฉพาะรายได้ที่มาจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี และ พ.ร.บ.โอนจ่ายงบประมาณปี เท่านั้น ยังไม่นับรายได้ที่มาจากเอกชนหลายแห่งที่กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้น หรือบริหารจัดการ
(ที่มา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี-พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม-พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย-ฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, สำนักข่าวอิศรา รวบรวม)