ถ้ำหลวง...บททดสอบความพร้อมระบบรับมือ "โรคอุบัติใหม่"
การติดตามโรคติดต่อจากถ้ำ ถือเป็นการประสานทำงานสุขภาพเป็นหนึ่งเดียว จนมั่นใจ 99.9% ไม่พบการติดเชื้ออุบัติใหม่ใดๆ พร้อมกับเฝ้าระวังอีกไม่ต่ำกว่าปีครึ่ง
แม้ว่า ภารกิจช่วยผู้ประสบภัยติดภายในถ้ำหลวง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้สำเร็จและเสร็จสิ้นลงไปแล้ว รวมถึงผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ณ ปัจจุบัน ก็ไม่พบการติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ใดๆ ในตัวผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เข้าไปช่วยเหลือ
กรณีถ้ำหลวงกับภาวะที่ต้องเข้าไปปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ติดในถ้ำ ที่อาจมีการป้องกันตัวเองไม่ได้สมบูรณ์มากนัก การเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยในกลุ่มผู้ประสบภัย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เข้าไปในถ้ำ จึงเป็นเรื่องสำคัญ
การผนึกกำลังเพื่อรับมือความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่ออย่างฉับไว ทันเวลาครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยกลุ่มสอบสวนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข สำนักระบาดวิทยา ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคติดต่ออุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งได้จัดทำแนวทางเฝ้าระวังเจ้าหน้าที่กู้ภัย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในถ้ำหลวง รวมถึงการเก็บตัวอย่างของผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจากการอาศัยหรือการปฏิบัติงานอยู่ในถ้ำเป็นเวลานาน ครอบคลุมทุกระบบของร่างกาย และครอบคลุมกลุ่มโรคทุกชนิด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ทุกคนปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน
หรือที่เรียกว่า โรคอุบัติใหม่ (Emerging Disease)
ทีมาภาพ:https://www.facebook.com/medicine.chulalongkornuniversity/
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดี ฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปรียบการทำงานครั้งนี้ ไว้บนเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “ถ้ำหลวง:ความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่” จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และรพ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย ว่า ไม่ต่างจากหน่วยซีล (SEAL) แต่เป็น SEAL ทาง Scientists
พร้อมกับแสดงความเห็นว่า กรณีถ้ำหลวง ถือเป็นการทดสอบระบบการเตรียมความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ของประเทศไทย
สำหรับความจำเป็นของการเตรียมความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่นั้น ศาสตราจารย์นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า เวลามีการพูดถึง "โรคอุบัติใหม่" ทุกคนก็จะตื่นกลัว โรคที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ โรคที่ทุกคนไม่เคยทราบมาก่อน เป็นโรคที่เกิดขึ้นมาปุ๊บ ทุกคนก็หวาดผวา ที่คุ้นหู อย่างเช่น โรคเมอร์ส (MERS) โรคซาร์ หรืออีโบล่า นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นคว้า วิจัย เพื่อหาต้นตอของโรค หาทางรักษา และวิธีการป้องกัน
นี่คือที่มา ทำไมประเทศไทยจึงต้องมีทีมงาน หรือมีศูนย์โรคติดต่ออุบัติใหม่ระดับชาติเกิดขึ้น ก็เพื่อคอยทำหน้าที่เฝ้าระวังโรค ค้นหาโรคใหม่ๆ และพัฒนาการตรวจวินิจฉัย
“การเตรียมความพร้อมทำให้เราสามารถวินิจฉัยโรค ควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งลดขนาดการระบาด และประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็จะลดลง” ผอ.รพ.จุฬาฯ ระบุถึงความสำคัญ พร้อมกับยกตัวอย่างเมื่อปี 2558 ที่ประสบความสำเร็จในการวินิจฉัยผู้ป่วยโรคเมอร์ส รายแรกได้ จนสามารถยืนยันผลการตรวจได้ภายใน 24 ชั่วโมง และนำมาสู่ขั้นตอนการวางมาตรการป้องกัน รับมือกับสถานการณ์ มีการแยกผู้ป่วย ทำให้โรคไม่ระบาดไปสู่คนอื่น
กรณีเหตุการณ์เด็กติดถ้ำนั้น บริบท “ถ้ำ” จัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ มีระบบนิเวศน์แตกต่างจากบริบทที่มนุษย์อาศัยอยู่ ทั้งสภาวะแวดล้อมภายในถ้ำจะคงที่เนื่องจากไม่มีสิ่งรบกวนจากภายนอก การไม่มีแสงแดดส่องถึงทำให้มีสัตว์บางชนิดอาศัยอยู่ในถ้ำ สิ่งมีชีวิตบางจำพวกที่เป็นแหล่งรังโรคของเชื้อโรคต่างๆ และไม่เคยปรากฏที่ใด โดยเฉพาะ ค้างคาว สัตว์ฟันแทะ และแมลงชนิดต่างๆ เช่น ริ้นฝอยทราย ยิ่งหากมนุษย์ไปสัมผัสหรืออยู่ในถ้ำนานๆ ก็อาจส่งผลต่อการเกิดโรคอุบัติใหม่ได้
โดยเชื้อโรคที่พบได้ในสัตว์รังโรคในถ้ำ ได้แก่
1.ค้างคาว แหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ ที่พบได้ในเขตตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไวรัสโคโรน่า ไวรัสนิปปาห์ ส่วนที่พบในแอฟริกา ได้แก่ ไวรัสมาร์เบอร์ก และไวรัสอีโบลา นอกจากนี้มูลค้างคาวยังมีเชื้อรา Histoplasma ที่ทำให้เกิดโรคในคนได้ด้วย
2.สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู แหล่งรังโรคของเชื้อ Leptospira ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส นอกจากนี้หมัดหนู เป็นแหล่งโรคไทฟัส
3.แมลงต่างๆ เช่น ยุงก้นปล่อง นำเชื้อมาลาเรีย ริ้น ฝอยทราย นำโรค Leishmaniasis เป็นต้น
4.สิ่งแวดล้อม เช่น ดินหรือน้ำ ที่เป็นแหล่งโรคของแบคทีเรีย โปรโตซัว และเชื้อราต่างๆ เช่น เมลิออยโตลิส เป็นต้น
ในฐานะที่ทำงานด้านติดตามโรคอุบัติใหม่มาไม่ต่ำกว่า 18 ปี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ยกตัวอย่างกรณีถ้ำที่นิวแม็กซิโก ซึ่งไม่เคยมีมนุษย์เข้าไปเลย มีการเอาผนังถ้ำไปตรวจพบมีแบคทีเรียดื้อยาโดยธรรมชาติ ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ ขณะที่เชื้อในสัตว์ป่า สามารถติดเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ เช่น ไวรัสพิษสุนัขบ้าในค้างคาวในทวีปอเมริกาเหนือ ลงมายังหมาป่า ตัวสกังก์ (Skunk) พัวพันกันไปมาจนกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังยกตัวอย่างให้เห็นวิวัฒนาการของเชื้อโรค พร้อมระบุว่า ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของโรคอุบัติใหม่ ก็คือการติดต่อได้จากคนสู่คน นอกจากนี้ยังมีไวรัสที่ติดแล้วไม่หายขาด โดยเชื้อหลบซ่อนอยู่ เช่น ไวรัสซิกา ไวรัสนิปาห์ มาจากค้างคาว และอีโบล่า ทำให้สมองอักเสบ
การติดตามโรคอุบัติใหม่ติดต่อจากถ้ำ ถือเป็นการประสานทำงานสุขภาพเป็นหนึ่งเดียว จนมั่นใจ 99.9% ไม่พบการติดเชื้ออุบัติใหม่ใดๆ พร้อมกับเฝ้าระวังอีกไม่ต่ำกว่าปีครึ่ง
“วันนี้กระทรวงกลาโหม ร่วมกับภาควิชาจุลชีววิทยา และปาราสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีหน่วยงานสำรวจเชื้อโรคต่างๆ ในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ หนู ค้างคาว เห็บ ไร ริ้น ตามบริเวณของตะเข็บชายแดนที่มีหน่วยทหารลาดตะเวน ซึ่งข้อมูลการสำรวจเก็บไว้ ทำให้เรามีแผนที่สำหรับเชื้อโรคทางภูมิศาสตร์และฤดูกาล นอกจากได้ประโยชน์กับทหารเกณฑ์แล้วประชาชนในพื้นที่ก็ได้ประโยชน์ด้วย จะได้รู้ว่า ณ เวลานี้ เดือนนี้มีเชื้อที่อยู่ในแมลงอะไรบ้าง เป็นการเตรียมพร้อมการเกิดโรคล่วงหน้า”
สุดท้ายนพ.โรม บัวทอง นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ถ่ายทอดประสบการณ์และการบริหารจัดการในพื้นที่ถ้ำหลวง ความซับซ้อนของการปฏิบัติงานเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ให้ฟัง โดยให้มุมมองต่อการทำงานเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ว่า ถือเป็นการทำงานด้านการป้องกัน
ก่อนตอบคำถาม เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง เราใช้จ่ายมากเกินไปหรือไม่ ? นพ.โรม ได้ยกกรณีไวรัสเมอร์สระบาดที่เกาหลีใต้เมื่อปี 2558 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเกาหลี มูลค่าเท่ากับงบประมาณแผ่นดินของประเทศไทยทั้งปี ซึ่งกรณีเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ที่ถ้ำหลวง เป็นการป้องกันโรค แม้ว่าเราจะเสียค่าใช้จ่าย ส่งตรวจวิเคราะห์หาเชื้อละเอียดทุกคน เสียค่าใช้จ่ายไม่ต่ำ 1 แสนบาทต่อคนนั้น เทียบไม่ได้กับผลกระทบหากเกิดโรคระบาดเกิดขึ้น จึงไม่อยากให้เปรียบเทียบกัน หรือกรณีประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคเมอร์ส 3 ราย ช่วงนั้น ก็ไม่ได้เกิดจากโชคช่วย แต่เกิดจากการเฝ้าระวังนั่นเอง"