ชำแหละ5โครงการไทยนิยมฯ รบ.บิ๊กตู่ใช้ 9.4 หมื่นล. คุ้มค่าหรือละลายแม่น้ำ?
“…เบ็ดเสร็จตอนนี้มีการวางงบประมาณไว้ที่ 94,707 ล้านบาท ดำเนินการไปแล้ว 3 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการหมู่บ้าน/ชุมชนละ 200,000 บาท และยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร ส่วนอีก 2 โครงการคือ โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนฯ ยังไม่มีการรายงานความคืบหน้าให้กับคณะรัฐมนตรีทราบ…”
หลายคนอาจทราบไปแล้วว่า โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เป็นโครงการระดับ ‘อภิมหาโปรเจ็ก’ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หวังกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง หลังทรุดหนักนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อ 4 ปีก่อน
คณะรัฐมนตรีหว่านงบประมาณลงทุกพื้นที่ทั่วประเทศตามปรัชญา ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็น ‘แม่งาน’ หลักในการกระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น เท่าที่ตรวจสอบพบขณะนี้มีประมาณ 5 โครงการย่อย รวมเม็ดเงินประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดีอุปสรรคใหญ่ของโครงการดังกล่าวคือ ประชาชนยังไม่ค่อยรู้จัก หรือไม่ทราบว่ามีโครงการอะไรจากภาครัฐบ้าง ทำให้คณะรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย และกรมประชาสัมพันธ์ เร่ง ‘พีอาร์’ ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลโดยพลัน มีการชูดารา-บุคคลผู้มีชื่อเสียงมาช่วยในเรื่องการประชาสัมพันธ์ด้วย (อ่านประกอบ : พีอาร์ถี่ขึ้น-ใช้ดาราชู! รบ.สั่งโฆษก มท.-กรมประชาฯเร่งอธิบาย ปชช.โครงการ ‘ไทยนิยม’)
แล้วใน 5 โครงการย่อยของ ‘ไทยนิยม ยั่งยืน’ มีอะไรบ้าง ใช้เม็ดเงินแต่ละโครงการเท่าไหร่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากมติคณะรัฐมนตรี พบรายละเอียด ดังนี้
หนึ่ง โครงการหมู่บ้าน/ชุมชนละ 2 แสนบาท กำหนดวงเงิน 20,000 ล้านบาท
กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบ โดยกรอบการดำเนินโครงการนี้มีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ เบื้องต้น กระทรวงมหาดไทยรายงานผลดำเนินโครงการให้คณะรัฐมนตรีทราบแล้ว มีการเสนอโครงการจากหมู่บ้าน/ชุมชน 91,384 โครงการ จาก 80,754 หมู่บ้าน รวมเป็นเงิน 16,107,335,184 บาท (ราว 1.6 หมื่นล้านบาท) แบ่งเป็น ส่วนภูมิภาค 89,385 โครงการ จาก 79,378 หมู่บ้าน/ชุมชน งบประมาณ 15,853,316,984 บาท (ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท) และส่วน กทม. 1,999 โครงการ จาก 1,376 หมู่บ้าน/ชุมชน งบประมาณ 254,018,200 บาท
มีหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ไม่ประสงค์ขอรับการจัดสรรงบประมาณโครงการนี้ จำนวน 31 จังหวัด 1,479 หมู่บ้าน/ชุมชน โดยระบุสาเหตุว่า ไม่มีพื้นที่ดำเนินโครงการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอ และได้บรรจุโครงการในแผนพัฒนาท้องถิ่น ไม่สามารถคัดเลือกคณะผู้รับผิดชอบโครงการได้ หรือหลักเกณฑ์โครงการไม่ตรงกับความต้องการของชุมชน เป็นต้น
อย่างไรก็ดีโครงการนี้ถูกสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ แสดงความเห็นว่า กระทรวงมหาดไทยควรเร่งรัดขั้นตอนการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกรอบระยะเวลาการดำเนินการ รวมทั้งพิจารณากลไกการติดตามตรวจสอบประเมินผลการดำเนินงานของโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่สะท้อนทั้งประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประเมินกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งประเมินผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริงด้วย (อ่านประกอบ : รวมงบไทยนิยมฯ 9.4 หมื่นล.! สภาพัฒน์ฯจี้ มท.ตรวจสอบให้รัดกุม-ปชช.ต้องได้ประโยชน์)
สอง โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กำหนดวงเงิน 21,078 ล้านบาท
กระทรวงการคลังเป็นแม่งานหลัก โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 เห็นชอบหลักการโครงการนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประกอบด้วยวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเท่าที่จำเป็น จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด แบ่งเป็น วงเงิน 200 บาท/คน/เดือน สำหรับผู้มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี และวงเงิน 300 บาท/คน/เดือน สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี รวมถึงวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 45 บาท/คน/3 เดือน วงเงินค่าโดยสารรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบบ e-Ticket/รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาท/คน/เดือน วงเงินค่าโดยสารรถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จำนวน 500 บาท/คน/เดือน และ วงเงินค่าโดยสารรถไฟ จำนวน 500 บาท/คน/เดือน
ความคืบหน้าล่าสุด กระทรวงการคลังรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบว่า กรมบัญชีกลาง ได้แจกจ่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีสิทธิไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 2560-11 มิ.ย. 2561 มีผู้มารับบัตรแล้ว 11.06 ล้านราย (ร้อยละ 96) มีผู้มีสิทธิเสียชีวิตแล้ว 124,533 ราย โดยดำเนินการระงับบัตรของผู้มีสิทธิที่เสียชีวิตแล้ว
ข้อมูลการวางเครื่อง EDC หรือ ‘เครื่องรูดบัตรประชารัฐ’ ติดตั้งแล้ว 30,460 เครื่องทั่วประเทศ แบ่งเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง 28,977 แห่ง ร้านก๊าซหุงต้ม 828 แห่ง รถ บขส. 121 แห่ง และรถไฟ 534 แห่ง โดยคงเหลือร้านค้าธงฟ้า อีก 9,023 แห่ง และร้านก๊าซหุงต้มอีก 6,172 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งเครื่องมีประชาชนมาจับจ่ายสินค้าไปแล้วกว่า 103 ล้านรายการ รวมวงเงินกว่า 30,716.44 ล้านบาท (ราว 3 หมื่นล้านบาท)
อย่างไรก็ดีภายหลังรัฐบาลประกาศใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐดังกล่าวในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังที่ติดตามลงพื้นที่ตรวจสอบ พบปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ มีร้านค้าธงฟ้าทำผิดหลักเกณฑ์หลายแห่ง เช่น ร้านธงฟ้าใน จ.เชียงราย ฉวยโอกาสเรียกเก็บเงินจากการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม เนื่องจากเจ้าของร้านอ้างว่าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ยังมีกรณีร้านค้าในตลาดนัด จ.อำนาจเจริญ ขายสินค้าให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยยึดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไว้ และนำบัตรของผู้มีสิทธิไปรูดร้านธงฟ้าที่เป็นร้านค้าส่งใน จ.มุกดาหาร เป็นต้น
สำนักงานคลังจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์แล้ว โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเพิกถอนการเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ และกรมบัญชีกลางได้สั่งให้สำนักงานคลังจังหวัด เรียกคืนเครื่อง EDC จากเจ้าของร้านค้าดังกล่าวแล้ว และจะไม่ให้มีการวางเครื่อง EDC ของโครงการนี้แก่ร้านค้าเหล่านั้นอีกต่อไป
สาม แผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร กำหนดวงเงิน 24,301 ล้านบาท
โครงการนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพหลัก มีการอ้างว่าเกษตรกรได้ประโยชน์รวม 4.3 ล้านคน ซอยย่อยได้อีก 20 โครงการ แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบริหารจัดการน้ำ เช่น การสร้างฝายชะลอน้ำ 1,349 แห่ง (ข้อมูลเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2561 ระบุว่า สร้างไปแล้ว 255 แห่ง) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำชลประทาน 1,400 แห่ง (ข้อมูลเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2561 ระบุว่า สร้างไปแล้ว 72 แห่ง) เป็นต้น
ด้านการแก้ไขปัญหาที่ดิน เช่น ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร หวังผล 27,920 ราย ปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเพื่อผลิตสินเกษตรอื่นที่เหมาะสม หวังผล 6,832 ไร่ ด้านการปศุสัตว์ เช่น ศูนย์ขยายพันธุ์ และส่งเสริมการผลิตปศุสัตว์ หวังผล 25,169 ตัว เป็นต้น ด้านผลผลิตทางการเกษตร เช่น พัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน หวังผล 30,000 ราย ส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานรัฐ หวังผล 3,509.5 ตัน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป หวังผล 2,000 กิจการ เป็นต้น
สี่ โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กำหนดวงเงิน 9,328 ล้านบาท
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน เป็นแม่งานหลัก วางแผนดำเนินการในหมู่บ้าน/ชุมชน 3,273 แห่ง ครอบคลุม 76 จังหวัด ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ และจัดตั้งศูนย์ประสานงาน OTOP จึงยังไม่มีความคืบหน้าในการทำโครงการใด ๆ ที่เห็นเป็นรูปธรรม
ห้า โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ กำหนดวงเงิน 20,000 ล้านบาท
สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง เป็นเจ้าภาพหลัก เป้าหมายคือเพื่อสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพ และยกระดับรายได้ของประชาชนผ่านกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 65,670 กองทุน สนับสนุนให้กองทุนละไม่เกิน 300,000 บาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ จึงยังไม่มีความคืบหน้าในการทำโครงการใด ๆ ที่เห็นเป็นรูปธรรม
เบ็ดเสร็จตอนนี้มีการวางงบประมาณไว้ที่ 94,707 ล้านบาท จากแผนงานใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ที่กำหนดงบไว้ราว 9.5 หมื่นล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบายประชารัฐ และโครงการไทยนิยม ยั่งยืน
ดำเนินการไปแล้ว 3 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการหมู่บ้าน/ชุมชนละ 200,000 บาท และยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร ส่วนอีก 2 โครงการคือ โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนฯ ยังไม่มีการรายงานความคืบหน้าให้กับคณะรัฐมนตรีทราบ (ดูรายละเอียดได้ตามตารางท้ายรายงาน)
นับเป็นอีกหนึ่งอภิมหาโครงการที่ใช้งบประมาณเฉียดแสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท้ายสุดประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ คงต้องรอติดตามผลกันต่อไป
แต่เชื่อว่าประชาชนหลายคนที่เข้าร่วมในโครงการรัฐเหล่านี้ คงได้สัมผัสแล้วว่า คุ้มค่าจริงหรือไม่ ?
(ข้อมูลจากมติคณะรัฐมนตรี, สำนักข่าวอิศรา รวบรวม)