กรมชลประทานชี้แจง กรณีข้อกังวลต่อสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศ
อธิบดีกรมชลประทานชี้แจง กรณีข้อกังวลต่อสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศ ยืนยันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 23,900 ล้าน ลบ.ม. เปิดสายด่วน 1460 ให้ประชาชนโทรถามสถานการณ์น้ำได้ตลอด 24 ชม.
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงประเด็นข่าวข้อกังวลต่อสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศ ตามที่นายอนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวแสดงความห่วงใยสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพภูมิอากาศของไทยยังอยู่ในสภาวะฝนตกทั่วประเทศ นั้น กรมชลประทาน ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ จำนวน 35 แห่ง (เป็นของกรมชลประทาน 25 แห่ง และของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 10 แห่ง) มีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 48,908 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯรวมกัน ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 412 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 3,183 ลูกบาศก์เมตร รวมปริมาตรน้ำทั้งหมดทั้งอ่างฯขนาดใหญ่และขนาดกลางรวมกันประมาณ 52,019 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 23,900 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของกรมชลประทาน ได้ดำเนินการควบคุมการเก็บกัก การระบายภายใต้ โค้งปฏิบัติการของอ่างเก็บน้ำ หรือ เกณฑ์เก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ซึ่งในการควบคุมปริมาตรน้ำจะใช้เส้นบนของโค้งปฏิบัติการของอ่างเก็บน้ำเป็นตัวควบคุม ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำบางแห่งมีปริมาตรน้ำเกินกว่าเส้นควบคุม กรมชลประทานจะเร่งระบายน้ำให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยการระบายน้ำผ่านระบบชลประทาน ผ่านอาคารระบายน้ำ ลงสู่ลำน้ำเดิม (River outlet) และใช้วิธีการกาลักน้ำเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการระบายน้ำ สำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการระบายน้ำดังกล่าว กรมชลประทานจะพิจารณาแจ้งข้อมูลไปทางหน่วยงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์และเตรียมการขนย้ายสิ่งของตลอดจนมาตรการให้การช่วยเหลือเยียวยาในลำดับต่อไป
ในด้านความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน (Dam Safety) ของกรมชลประทานมีแผนการตรวจสอบติดตามเพื่อให้เขื่อนและอาคารประกอบมีความมั่นคงปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ดำเนินการก่อสร้าง ภายหลังจากก่อสร้างเสร็จ กรมฯ มีแผนการเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ โดยการตรวจสภาพเขื่อนด้วยสายตา (ขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก) หาสิ่งผิดปกติ เช่น การกัดเซาะ การรั่วซึม การทรุดตัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังติดตั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อนสำหรับตรวจสอบติดตามพฤติกรรมเขื่อน (ขนาดใหญ่และขนาดกลาง) เช่น การไหลซึมผ่านตัวเขื่อน ฐานรากเขื่อน เป็นต้น ทั้งนี้จากการดำเนินการตรวจสภาพเขื่อนด้วยสายตาและการตรวจสอบติดตามพฤติกรรมจากเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน นำมาประเมินความมั่นคงตัวเขื่อน โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทุก ๆ 30 วัน และในกรณีวิกฤติจะทำการตรวจสอบทันที ทุก 24 ชั่วโมง ตามมาตรฐานความปลอดภัยเขื่อน เพื่อให้เขื่อนมีความมั่นคงปลอดภัย พร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ
สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมชลประทาน ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำปรึกษา แนะนำ การบำรุงดูแลรักษา การตรวจสอบความปลอดภัยเขื่อน รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม
ส่วนการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าวสารสู่สาธารณะเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่าอยู่ในพื้นที่บริเวณใด ตลอดจนระยะเวลาที่อาจจะได้รับผลกระทบจะใช้เวลานานเท่าไร กรมชลประทาน มีหน่วยงานประชาสัมพันธ์ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของกรมชลประทาน และมีศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) มีหน้าที่ติดตามข้อมูล ตรวจสอบและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบเว็บไซต์ของกรมชลประทาน http://wmsc.rid.go.th/ หรือช่องทางสื่อออนไลน์ อาทิ Facebook Fan page ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ที่มีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook live รายงานสถานการณ์น้ำ เวลาประมาณ 07.00 น. , การเผยแพร่ข่าวสารสถานการณ์น้ำผ่านทาง Facebook Fan page เรารักชลประทาน รวมไปถึงการเผยแพร่ข่าวสารสถานการณ์น้ำผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ ทั้งสื่อออนไลน์ทุกแขนง และกรุ๊ปไลน์ต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าถึงสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้เปิดใช้สายด่วน 1460 เพื่อให้ประชาชนสามารถโทร.เข้ามาสอบถามสถานการณ์น้ำได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ หรือ SWOC ได้ตลอด 24 ชม. อีกด้วย