ป.ป.ช.วางแนวทางต้านทุจริตภาคธุรกิจ-ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ
“ป.ป.ช.”ร่วมถก “รัฐ-เอกชน-ตปท.” วางแนวทางต้านทุจริตภาคธุรกิจ-ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งเป้าภาคตะวันออกรับอีอีซี หวังทุกภาคส่วนร่วมร่วมต้านทุจริต
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่โรงแรมเมอเวนพิค สยาม โฮเทล เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวในการเปิดสัมมนาระดับภูมิภาค เรื่อง "มาตรการที่มีประสิทธิภาพสาหรับภาคธุรกิจเอกชนในการต่อต้านการให้สินบน" ตอนหนึ่งว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของภาครัฐและเอกชนไทย รวมทั้งเพื่อนประเทศอาเซียนที่จะร่วมกันต่อต้านการทุจริตและการให้สินบน โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง ป.ป.ช. , สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) , สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และ American Bar Association (ABA) ที่ต่างเล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการส่งเสริมให้ ภาคเอกชนมีการประกอบธุรกิจที่โปร่งใส ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการแก้ไข ปัญหาการทุจริตในภาพรวม
ทั้งนี้ปัจจุบันเรื่องการให้สินบนไม่ได้เป็นเพียงปัญหาภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงการให้สินบนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจระหว่างประเทศ ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมขับเคลื่อนกฎหมายและมาตรการต่างๆ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยได้เริ่มจากการเพิ่มเติมมาตรา 123/5 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป)ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับเดิม และใน พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ก็ได้คงหลักการสำคัญของกฎหมายไว้ในมาตรา 176 โดยหลักการสำคัญคือการกำหนดความรับผิดของนิติบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนมีมาตรการควบคุม ภายในที่เหมาะสมในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีการขับเคลื่อนการดำเนินการเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การออกประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว การออกคู่มือมาตรการ 8 ประการที่นิติบุคคลควรนำไปใช้เพื่อป้องกันการให้สินบน โดยมีคู่มือฉบับสมบูรณ์ออกมาแล้วทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันก็เดินหน้าประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวให้กระจายสู่ภาคธุรกิจเอกชนให้ได้กว้างขวางที่สุด โดยในครั้งนี้มาที่ภาคตะวันออก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในด้านการค้าการ ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษที่เรียกว่า ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วโลกในฐานะพื้นที่ชั้นนำในการพัฒนาอุตสาหกรรมของอาเซียน อย่างไรก็ตามการจัดการกับการทุจริตให้สินบนได้อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมสากลนั้น จะส่งผลต่อศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของ ภูมิภาคอาเซียน
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนประกอบกิจการอย่างโปร่งใสมีธรรมาภิบาลได้อย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือจากบุคลากร ทุกภาคส่วน จึงอยากจะฝากให้ทุกคนนำเรื่องนี้ไปต่อยอด เท่าที่ทำได้ เช่น ภาครัฐอาจต้องกวดขันการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้มีความโปร่งใส รวดเร็ว ตรวจสอบได้โดยประชาชน นำเรื่องมาตรการต่อต้านสินบนไปเผยแพร่แก่ภาคธุรกิจ และประชาชนให้ทราบอย่างกว้างขวาง ใน ส่วนของภาคเอกชน ทั้งหอการค้าประจำจังหวัด สภา สมาคมหรือชมรมที่เกี่ยวข้อง กับธุรกิจการค้า ผู้ประกอบการ ต่างเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านการทุจริต และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ เชื่อว่าเมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกันก็สามารถทำให้ปัญหาสินบน และการทุจริตลดน้อยลงไปได้.
ที่มาข่าว:https://www.dailynews.co.th/politics/658383