เปิดสนธิสัญญาปี1911 ช่องทางสู้‘ยิ่งลักษณ์’หลังถูกขอส่งตัวกลับไทย?
“…ข้อ 5 ของสนธิสัญญาฉบับนี้ ระบุว่า ถ้าผู้ร้ายที่หนีมายังประเทศใดประเทศนั้น เห็นว่า โทษที่ขอให้ส่งตัวไปชำระนั้น เป็นโทษมีลักษณะผิดต่ออำนาจของบ้านเมืองก็ดี หรือว่าผู้ร้ายนั้นนำพยานพิสูจน์ให้เห็นว่า การที่ขอให้ส่งตัวกลับไป เป็นการเพื่อจะชำระและลงโทษ อันมีลักษณะผิดต่ออำนาจของบ้านเมืองแล้ว ก็ไม่ต้องส่งผู้ร้ายคนนั้นให้แก่กัน นั่นหมายความว่า ข้อ 5 ตามสนธิสัญญาฉบับนี้ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะหยิบยกมาต่อสู้กับทางการอังกฤษว่า คดีที่ตัวเองเผชิญอยู่ และถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกนั้น เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร ถือว่าเป็นคดีทางการเมือง ? …”
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที!
หลังสำนักข่าวบีบีซีไทย รายงานข่าวว่า สถานเอกอัครราชทูตไทยในสหราชอาณาจักร ส่งจดหมายลงวันที่ 5 ก.ค. 2561 ไปที่กระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร เพื่อร้องขอต่อทางการอังกฤษให้ส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาประเทศไทย เนื่องจากมีความผิดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษาจำคุก 5 ปี คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว โดยศาลฎีกาฯออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ไม่มาฟังคำพิพากษา ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : บีบีซี แพร่ข่าวไทยขออังกฤษส่งตัว 'ยิ่งลักษณ์' เป็นผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว-อ้างสนธิสัญญาปี1911)
ประเด็นที่น่าสนใจคือ สถานเอกอัครราชทูตไทยในสหราชอาณาจักร ได้อ้างถึงสนธิสัญญาระหว่างสหราชอาณาจักรและสยามปี 1911 ที่ว่าด้วยการส่งตัวอาชญากรผู้หลบหนีคดีกลับประเทศ ซึ่งอ้างสิทธิร้องขอให้ส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มีสัญชาติไทย และเชื่อว่าพำนักอยู่ในสหราชอาณาจักรกลับไปรับโทษที่ไทยด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยเขียนเกี่ยวกับสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนฉบับนี้ไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2560 คล้อยหลัง 2 วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ 5 ปี คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ท่ามกลางกระแสข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ พำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษ (อ่านประกอบ : เปิดสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนสยาม-อังกฤษ ช่องนำ‘ปู'กลับไทยติดคุกคดีข้าว กรณีอยู่ลอนดอน?)
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรานำเนื้อหาสนธิสัญญาฉบับนี้มาเผยแพร่อีกครั้ง ดังนี้
สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันในระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษปี 1911 หรือ รศ.130 (ประมาณ พ.ศ.2455 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) จัดทำขึ้นที่กรุงลอนดอน โดยมีตัวแทนฝ่ายไทย ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศฝ่ายสยาม ส่วนตัวแทนฝ่ายสหราชอาณาจักรคือ อาเธอปิลเอสไควร์ อรรคราชทูตพิเศษ เป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้
แม้ว่าสนธิสัญญาฉบับนี้ จะจัดทำขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีก่อน สมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตาม แต่การบังคับใช้ของสนธิสัญญาฉบับนี้ยังมีผลอยู่จนถึงปัจจุบัน
สำหรับฐานความผิดในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีทั้งหมด 31 ข้อ ส่วนใหญ่เป็นข้อหาเกี่ยวกับการฆ่าคนตาย ปลอมเงิน ปลอมแปลงสินค้า ยักยอก หรือลักทรัพย์ ฉ้อโกงเงิน หรือสิ่งของ รับของโจร เบิกความเท็จ ข่มขืนกระทำชำเรา กระทำอนาจาร ลักพาตัว ชิงทรัพย์ หรือปล้น เป็นต้น
ไม่มีการกำหนดโทษที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเรื่อง ปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต หรือว่าโทษอื่นที่ใกล้เคียงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกศาลฎีกาฯพิพากษาแต่อย่างใด
แต่สัญญาดังกล่าว ข้อ 2 วรรคท้าย เปิดช่องว่า ถ้าโทษอย่างอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถ้ามีความอยู่ในกฎหมายซึ่งใช้อยู่ทั้งสองฝ่ายว่าจะส่งผู้ร้ายให้กับได้นั้น ก็สุดแล้วแต่ประเทศซึ่งรับคำขอให้ส่งนั้นจะเห็นสมควร จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ต่อกันหรือไม่
นั่นหมายความว่า หากกฎหมายของประเทศอังกฤษ มีการระบุฐานความผิดเกี่ยวกับกรณีปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ก็สามารถนำมาเทียบเคียง และทำเรื่องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนยุคสากล
นอกจากนี้ ข้อ 5 ของสนธิสัญญาฉบับนี้ ระบุว่า ถ้าผู้ร้ายที่หนีมายังประเทศใดประเทศนั้น เห็นว่า โทษที่ขอให้ส่งตัวไปชำระนั้น เป็นโทษมีลักษณะผิดต่ออำนาจของบ้านเมืองก็ดี หรือว่าผู้ร้ายนั้นนำพยานพิสูจน์ให้เห็นว่า การที่ขอให้ส่งตัวกลับไป เป็นการเพื่อจะชำระและลงโทษ อันมีลักษณะผิดต่ออำนาจของบ้านเมืองแล้ว ก็ไม่ต้องส่งผู้ร้ายคนนั้นให้แก่กัน
หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายต่อยุคสมัยใหม่คือ ถ้าเป็นคดีทางการเมืองก็ไม่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนคืนให้แก่กัน
นั่นหมายความว่า ข้อ 5 ตามสนธิสัญญาฉบับนี้ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะหยิบยกมาต่อสู้กับทางการอังกฤษว่า คดีที่ตัวเองเผชิญอยู่ การไต่สวน และการพิพากษาคดีเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลตัวเอง ดังนั้นถือว่าเป็นคดีทางการเมือง ?
ทั้งหมดคือใจความสำคัญ-ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ ของสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามและอังกฤษปี 1911 หรือร้อยกว่าปีที่แล้ว ที่ยังมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน
ท้ายที่สุดทางการอังกฤษจะพิจารณาอย่างไร ต้องรอติดตามอย่างใกล้ชิด!
อ่านประกอบ :
ชำแหละพฤติการณ์‘ปู’รับทราบระบายจีทูจีเก๊-ปล่อย‘บุญทรง’ทำสัญญาทุจริตก่อนปรับออก?
จำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา ศาลฎีกาฯ พิพากษา 'ยิ่งลักษณ์' คดีจำนำข้าว
บรรทัดสุดท้ายคดีจำนำข้าว!ล้วงเหตุผลสำคัญไฉนศาลสั่งคุก5ปี‘ยิ่งลักษณ์’ละเลยปัญหาทุจริต?
หมายเหตุ : ภาพประกอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จาก ABS-CBN News