กษ.เร่งโครงการต้นน้ำถึงปลายน้ำ รับมือน้ำท่วม-ฝนแล้งพื้นที่เกษตร มิ.ย.-ก.ย.นี้
กษ.เร่งแผนรับมือภัยพิบัติภาคเกษตร เฝ้าระวังอุทกภัย ส.ค.-ก.ย. ระบุเสี่ยง 59 จว. ส่วนภัยแล้ง มิ.ย.-ก.ค. เสี่ยง 46 จว. เร่งกรมชลฯจัดการโครงการต้นน้ำถึงปลายน้ำ
วันที่ 22 พ.ค. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) มีการประชุมคณะทำงานวางแผนเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติภาคการเกษตร โดยมีนายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ ผู้ตรวจราชการ กษ.เป็นประธาน
นายฉลอง กล่าวว่า กษ.กำลังปรับร่างแผนเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติภาคการเกษตร โดยมีการบันทึกข้อมูลปัจจุบันเพื่อเป็นฐานการสำรวจพื้นที่และเร่งรัดโครงการต่างๆ ให้เสร็จทันกำหนด โดยแบ่งออกเป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้ง ซึ่งมีช่วงเฝ้าระวังช่วง มิ.ย.-ก.ค. 55 ที่จะเกิดฝนทิ้งช่วงมาก ส่งผลให้มีพื้นที่ีเสียงขาดน้ำ 46 จังหวัด 407 อำเภอ 16.5 หมื่นไร่ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคเหนือ 12 จังหวัด ภาคกลาง 8 จังหวัด และภาคตะวันออก 6 จังหวัด ซึ่งแนะนำให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการเพาะปลูกพืชไม่ทนแล้ง และจะมีโครงการฝนหลวง การพัฒนาพื้นที่แหล่งน้ำ รวมถึงการชดเชยเงินแก่พื้นที่ได้รับผลกระทบ
ส่วนการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมืออุทกภัย มีช่วงเฝ้าระวังช่วง ส.ค.-ก.ย. 55 ซึ่งเป็นช่วงเกิดลมมรสุมบ่อยครั้ง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มได้ง่ายในพื้นที่เสี่ยง 59 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 5.58 ล้านไร่ ได้แก่ ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด ภาคกลาง 13 จังหวัด ภาคใต้ 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ซึ่ง กษ.จะดูแลในเรื่องการจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ รวมถึงการหาพื้นที่อพยพสัตว์ และจะเร่งรัดให้หน่วยงานรับผิดชอบลงพื้นที่ดูแลให้ความรู้แก่เกษตรกรเมื่อเกิดภัยพิบัติ
ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ยังกล่าวถึงการติดตามความคืบหน้าแผนโครงการป้องกันอุทกภัยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ 24 เม.ย. 55 ให้ส่วนราชการจังหวัดเร่งรัดติดตามโครงการดังกล่าว โดยใช้ฐานข้อมูลและแผนที่ประกอบมาตรฐานเดียวกันให้มีประสิทธิภาพ โดยกำชับให้ทุกโครงการพื้นที่ต้นน้ำเสร็จในเดือน มิ.ย. กลางน้ำเสร็จ ก.ค. และปลายน้ำเสร็จภายใน ส.ค. ปีนี้ แต่โครงการดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน และมีการพัฒนาที่ดินล่าช้า ดังนั้นจึงอยากให้เร่งดำเนินการ ก่อนที่อุทกภัยจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อภาคเกษตรอีกได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การฟื้นฟูเเละปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างของกรมชลประทาน เพื่อป้องกันอุทกภัยมีทั้งสิ้น 123 โครงการประกอบด้วย โครงการประเภทการป้องกันน้ำล้นจากแม่น้ำจำนวน 23 โครงการ โครงการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลประทาน 26 โครงการ โครงการขุดลอกคลอง 28 โครงการ โครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม 3 โครงการ โครงการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ 23 โครงการ โครงการเพิ่มชุดเครื่องจักร-เครื่องมือเฉพาะกิจไว้แก้ไขปัญหาเร่งด่วนอีก 3 โครงการ
นอกจากนี้ยังมีโครงการเสริมเครื่องมือจัดการน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและชุมชนอีก 15 โครงการ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ 2 โครงการ โครงการเชื่อมโยงระบบโทรมาตร 1 โครงการ และโครงการสำรวจระดับพื้นที่และตรวจสอบค่าพิกัดระดับอาคารชลประทานเพิ่มเติม 1 โครงการ .