นำร่อง 35 สหกรณ์ ชู “ไมซ์เพื่อชุมชน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ทีเส็บ-กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชู "ไมซ์เพื่อชุมชน" นำร่องสหกรณ์เกษตร 35เเห่งทั่วประเทศ หวังกระจายรายได้ ยกระดับมาตรฐานสินค้า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
นับเป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่างสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ (Thailand Convention&Exhibition Bureau:TCEB) กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ผลักดันโครงการ “ไมซ์ [MICE (1)] เพื่อชุมชน” เพื่อนำอุตสาหกรรมไมซ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและพัฒนาจุดมุ่งหมายใหม่ในการรองรับงานประชุมฝึกอบรม จัดกิจกรรมการเรียนรู้ และศึกษาดูงานในประเทศ กระจายรายได้อย่างมั่นคง
(หมายเหตุ: MICE ย่อมาจาก Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions หมายถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดประชุม งานแสดงสินค้า การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการจัดนิทรรศการ )
โดยจัดกิจกรรมเปิดตัวนำร่องไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นสหกรณ์ 1 ใน 35 แห่ง ที่ได้รับคัดเลือก จากทั้งหมด 8,171 แห่งทั่วประเทศ โดยเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรม สมมติเป็นการจัดศึกษาดูงานนอกสถานที่
ส่วนสหกรณ์อีก 34 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด จ.ราชบุรี, สหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมแปลงใหญ่ วัดเพลง จำกัด จ.ราชบุรี, สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด จ.สระบุรี, สหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด จ.อุทัยธานี, สหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทยเพชรบุรี จำกัด จ.เพชรบุรี, สหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟจังหวัดชุมพร จำกัด จ.ชุมพร, สหกรณ์นิคมท่าแซะ จำกัด จ.ชุมพร, สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด จ.กระบี่, สหกรณ์การเกษตรนาโยง จ.ตรัง, กลุ่มอันดาบ่อแร่บาติก สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ่อแร่สันติสุข จ.ภูเก็ต, สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด จ.สงขลา, สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน จำกัด จ.จันทบุรี, สหกรณ์นิคมสอยดาว จำกัด จ.จันทบุรี, สหกรณ์โคนมบ้านบึง จำกัด จ.ชลบุรี, สหกรณ์การเกษตรธรรมชาติวัดญาณฯ จำกัด จ.ชลบุรี, สหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา
สหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด จ.นครปฐม, สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด, จ.นครปฐม, สหกรณ์นิคมสมุทรสาคร จำกัด จ.สมุทรสาคร, กลุ่มอาชีพผู้ปลูกจำปี สหกรณ์การเกษตรหนองแขม บางขุนเทียน จำกัด จ.กรุงเทพฯ, สหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด จ.ขอนแก่น, กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านหัวฝาย สหกรณ์การเกษตรชนบท จ.ขอนแก่น, สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จ.นครราชสีมา, สหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษในเขตปฏิรูปที่ดิน อ.วังน้ำเขียว จำกัด จ.นครราชสีมา, สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จ.ร้อยเอ็ด, สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด จ.เชียงใหม่, สหกรณ์นิคมแม่แตง จำกัด จ.เชียงใหม่, สหกรณ์ประมงพาน จำกัด จ.เชียงราย, สหกรณ์โคนมเชียงราย จำกัด จ.เชียงราย, สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด จ.น่าน, สหกรณ์นิคมวังทอง จำกัด จ.พิษณุโลก, สหกรณ์นิคมห้างฉัตร จำกัด จ.ลำปาง, สหกรณ์นิคมหนองบัวพัฒนา จำกัด จ.สุโขทัย, และสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด จ.เลย
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึงแนวคิดของทีเส็บ ซึ่งเล็งเห็นว่า ชุมชนสหกรณ์มีศักยภาพที่จะทำในเรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมซ์ได้ และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นกลไกหลักอันหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ สร้างรายได้เพิ่ม และช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะเมืองรองและชุมชนรายย่อย
โดยสหกรณ์ทั้ง 35 แห่ง ที่ได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมสหกรณ์นั้น จะได้รับจัดทำเป็นคู่มือสถานที่จัดงานไมซ์เพื่อชุมชน กำหนดแล้วเสร็จภายใน ส.ค. ศกนี้ พร้อมจัดทำแคมเปญสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ไปยังองค์กรธุรกิจ สถาบันต่าง ๆ และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เห็นว่า สหกรณ์เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการจัดประชุมหรือศึกษาดูงานนอกห้องประชุมได้
อีกทั้งยังจัดให้มีกิจกรรม Table Top sale จับคู่ธุรกิจสินค้าในชุมชนกับองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จากเครือข่ายอนาคตไทย และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำร่องให้เกิดการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาต่อไป
“ทีเส็บทำหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างสหกรณ์กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเครือข่ายอนาคตไทย รวมถึงสภาหอการค้า ในลักษณะการสื่อสารการตลาด เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้มั่นใจในความพร้อมของสหกรณ์แต่ละแห่ง” ผอ.สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมฯ กล่าว
พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
ด้านพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการไมซ์เพื่อชุมชนเป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์อย่างยิ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาสหกรณ์ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นส่งเสริมการหาตลาดเพื่อกระจายสินค้า แต่สำหรับโครงการฯ กลับเข้ามาเสริมโดยประสานกับภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลืออีกแรงหนึ่ง
“ปัจจุบันสหกรณ์ดูแลชุมชนและสมาชิกอยู่แล้ว ซึ่งเป็นลักษณะองค์กรปิด แต่วันนี้ได้มีคนภายนอกเข้ามาเอื้อประโยชน์ โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาสัมผัสกับสหกรณ์โดยตรง” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว และว่า ช่วยยกระดับสินค้าเกษตรให้มีมาตรฐานมากขึ้น และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของสหกรณ์ออกไป
สำหรับสหกรณ์เข้าร่วมโครงการนำร่องนั้น พิเชษฐ์ ระบุกรมส่งเสริมสหกรณ์คัดเลือกเน้นกลุ่มสหกรณ์การเกษตร โดยดูจากความเข้มแข็งของสหกรณ์ ทั้งในด้านฐานะการเงิน ธรรมาภิบาลในการบริหารงาน เรียกว่าต้องไม่มีข้อบกพร่องในเรื่องทุจริต ที่สำคัญ สหกรณ์นั้นจะต้องดำเนินกิจการมาระยะหนึ่งและมีสินค้าที่ได้มาตรฐานแล้ว
“ไมซ์เพื่อชุมชน” จึงนับเป็นโครงการบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนที่น่าสนใจ ซึ่งสุดท้ายแล้ว คาดหวังว่า จะบรรลุเป้าหมายสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากและขยายโครงการครอบคลุมทุกสหกรณ์ทั่วประเทศ .