ถอดบทเรียน ‘น้ำพอง’ โมเดล จ.ขอนแก่น ต้นแบบชราแบบไม่โดดเดี่ยว
“พยาบาลของเราส่งเรียนเอง การคัดเลือกผู้ที่รับทุนนั้น เราเลือกเขาด้วยใจ เพราะเป็นคนในพื้นที่ มีจิตอาสาอยากทำงานในบ้านตัวเอง สมัยก่อนการรับพยาบาลที่ไม่ใช่คนพื้นที่ ส่วนใหญ่จะลาออกไม่อยู่นาน”
สังคมพัฒนา 'ชราแบบโดดเดี่ยว' ก็ยิ่งนับวันจะเพิ่มมากขึ้นขึ้น ยิ่งชีวิตในชนบทด้วยแล้ว จะพบว่า ลูกหลานมักจะเข้ามาทำงานในกรุงเทพ หรือตามเมืองใหญ่ๆ ทอดทิ้งผู้สูงอายุให้อยู่บ้านตามลำพัง
“ผู้สูงอายุบางรายเดินไม่ได้ มีกับข้าววางไว้ต้องช่วยตัวเอง” นายศุภชัย ดอนกระสินธุ์ นายกเทศมนตรี ตำบลสะอาด อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ถ่ายทอดให้เห็นสถานการณ์ผู้สูงอายุ และสภาพความไม่พร้อมของบางครอบครัว ก่อนตอบโจทย์ว่า ทำไมท้องถิ่นถึงต้องเข้ามาทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ
ตำบลสะอาด มี 14 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ประชากรประมาณ 10,739 คน 68.9% อยู่ในวัยแรงงาน (7,400 คน) 15.7% ผู้สูงอายุ (1,681 คน) และอีก 14.2% วัยก่อนผู้สูงอายุ (1,526 คน) ที่เหลือจะเป็นเด็ก เยาวชน และปฐมวัย
ขณะที่สถานะผู้สูงอายุตำบลสะอาด แบ่งเป็น ผู้สูงอายุพิการถึง 97 คน ผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียว 60 คน และผู้สูงอายุอยู่กับผู้สูงอายุ 15 คน
สำหรับการดูแลประชากรสูงวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียงนั้น นายกเทศมนตรีตำบลสะอาด บอกว่า เทศบาลจะมีทีมผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือเรียกว่า Care givers เข้าไปดูแลเหมือนญาติ โดยบุคลากรที่เป็น Care giver ประมาณ 10 คน ส่วนใหญ่ก็คือลูกหลาน เครือญาติคนในพื้นที่ทั้งนั้น
เขาเล่าต่อว่า ก่อนการเกิดศูนย์ดูแลฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งมีอาคารหลังใหม่เอี่ยม โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) นั้น เมื่อก่อนศูนย์เดย์แคร์ของเทศบาลตำบลสะอาดจะหลังเล็กๆ เราพบว่า ผู้สูงอายุบางคนอยู่คนเดียว ไม่ยอมทานข้าว แต่เมื่อมีทีมไปเยี่ยมบ้าน มีการพบปะสนทนาพูดคุย ผู้สูงอายุเหล่านี้ดีขึ้น ยิ่งเมื่อพามาฟื้นฟูที่ศูนย์ฯ ด้วยแล้ว จากนอนอยู่บ้านคนเดียวติดเตียง ปัจจุบันก็ดีขึ้น โดยเฉพาะสุขภาพจิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“ผมคิดว่า ไม่ได้เกิดมาจากรักษาอย่างเดียว แต่เกิดจากการดูแลเอาใจใส่ การให้กำลังใจ ดูแลสุขอนามัยให้ มีทีมหมอครอบครัว นักกายภาพบำบัดมาดูแล”
ช่วงแรก ผู้ดูแลผู้สูงอายุ เขาบอกว่า ไม่มีค่าตอบแทน จนต่อมาเมื่อปี 2560 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีโครงการระบบการดูแลระยะยาว (Long–term care) ทำให้มีงบประมาณ มาจ่ายเป็นค่าน้ำมัน 300 บาทต่อวันให้กับ Care giver
Care giver 10 คนของตำบลสะอาด แต่ละวันจะแบ่งออกเป็น 3 ทีม แยกกันทำงาน ได้แก่
ทีม A เยี่ยมดูแลผู้สูงอายุติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ทีม B เยี่ยมผู้สูงอายุที่ป่วย ช่วยตัวเองได้บ้าง แต่ต้องการการดูแลช่วยเหลือบางเรื่อง
ทีม C บริการในศูนย์ดูแลกลางวัน สำหรับผู้สูงอายุ โดยมีนักกายภาพบำบัดที่เป็นอาสาจากญี่ปุ่นประจำการ
ปัจจุบันศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ตำบลสะอาด รับดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ ประมาณ 20 คน จัดหมุนเวียนมาวันละ 5 คน ฝึกใช้เครื่องมือบริหารข้อ กล้ามเนื้อ การฝึกสมองที่ควรได้รับบริการต่อเนื่อง
ในฐานะพี่เลี้ยงพยาบาลชุมชน ที่ตำบลสะอาด และเป็นผู้ร่วมออกแบบบริการการดูแลระยะยาวผู้สูงอายุ นางศิริพร เหลืองอุดม พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เล่าถึงผลลัพธ์ที่เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านติดเตียง พบว่า มีพัฒนาการการทำกิจวัตรประจำวันดีขึ้นถึง 32 ราย คงสภาพ 39 ราย และอาการแย่ละ 11 ราย
ทั้งนี้ยังมีผู้สูงอายุได้รับการปรับสภาพที่อยู่อาศัย 9 ราย ได้รับกายอุปกรณ์ 10 ราย เตียงลม 4 ราย
ยิ่งเมื่อวัดความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติด้วยแล้ว เธอบอกว่า เกือบ 100% พึงพอใจระบบการดูแลผู้สูงอายุของตำบลสะอาด
“มีอยู่เคสหนึ่งผู้สูงอายุ นอนติดเตียงมากว่า 2 ปี ข้อติดเดินไม่ได้ มารับบริการที่ศูนย์ฯ ประมาณ 1 ปี ปัจจุบันเดินเองได้แล้ว นึ่งข้าวกินเอง ทำอาหาร ซักผ้าเองได้แล้ว” เธอชี้ไปที่หญิงชรา ที่กำลังยืนกายภาพบำบัดอยู่ แม้เราจะเห็นท่าทางการเดิน ไม่ได้เดินตัวตรงเหมือนคนปกติ แต่ถือได้ว่า จากผู้ป่วยติดเตียงวันนั้น วันนี้อาการเป็นที่น่าพอใจมาก ก่อนจะเล่าแบบติดตลก “เคยมีคนป่วยจากตำบลหนึ่ง ย้ายมาอยู่ตำบลสะอาดนี้ก็มีนะ ย้ายมาเพื่อมาเข้าระบบของเรา พอหายแล้วก็ย้ายกลับไป”
จากนั้น ศิริพร ชี้ไปที่พยาบาลสาวอีกคนที่จบใหม่ ทำงานประจำอยู่ศูนย์เดย์แคร์แห่งนี้ เธอได้รับทุนเรียนพยาบาล “สมัยก่อนน้องเขาทำงานจิตอาสาเดินตามตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน ตระเวนไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน ไปไหนก็ไปด้วย จนได้ทุนเรียนจบพยาบาล และกลับมาทำงานในพื้นที่บ้านเกิด"
จะเห็นว่า กำลังหลักดูแลผู้สูงอายุ นั่นก็คือ วิชาชีพพยาบาล หากจะถามว่า การพัฒนากำลังคนด้านการพยาบาลต้องทำอย่างไรบ้าง นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง อธิบายสั้นๆ ถึงที่มาและหลักการว่า โรงพยาบาลมีเป้าหมายพัฒนาแบบมีส่วนร่วมจาก 3 ส่วนหลัก ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ชุมชนองค์กร หรือสถานประกอบการเอกชน, สถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลน้ำพอง โดยคัดเลือกนักเรียนในพื้นที่เข้าศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ ยึดหลัก “โปร่งใส มีส่วนร่วม เลือกเด็กดี เรียนได้ มากกว่าเด็กเก่งเรียนดี”
“พยาบาลของเราส่งเรียนเอง การคัดเลือกผู้ที่รับทุนนั้น เราเลือกเขาด้วยใจ เลือกจากคนในพื้นที่ที่มีจิตอาสาอยากทำงานในบ้านตัวเอง สมัยก่อนการรับพยาบาลที่ไม่ใช่คนพื้นที่ ส่วนใหญ่จะลาออกอยู่ไม่นาน”
การพัฒนากำลังคนด้านการพยาบาล แบบฉบับโรงพยาบาลน้ำพอง จะแบ่งเป็น 3 ระยะได้แก่
ระยะที่ 1 การคัดเลือก มีหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณลักษณะ ทั้งภูมิลำเนา จิตอาสา ผลการเรียน และการยอมรับระดับชุมชน
ระยะที่ 2 ขณะศึกษาในสถาบันการศึกษา มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้จัดการเรียนการสอน (คณาจารย์ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา) แหล่งทุน (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพยาบาลพี่เลี้ยง) และนักศึกษาพยาบาลทุกชั้นปี ทุกสถาบันการศึกษาอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
และระยะที่ 3 รับเข้าปฏิบัติงานในหน่วยบริการ เมื่อจบการศึกษาโรงพยาบาลที่เป็นแหล่งทุนจะรับผิดชอบในการจ้างงาน และสนับสนุนให้พยาบาลสามารถปฏิบัติงานตอบสนองความต้องการได้ เช่น ให้การบริบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาล 3 วันทำการ การบริการสุขภาพในชุมชนร่วมกับหน่วยบริการปฐมภูมิ 2 วัน มีพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นไปตามภูมิลำเนาของพยาบาล โดยรับผิดชอบคนละ 1-2 หมู่บ้าน
และจากการดำเนินงานโครงการพัฒนากำลังคนด้านพยาบาล ปัจจุบันโรงพยาบาลน้ำพองสามารถส่งบุคลากรร่วมปฏิบัติงานปฐมภูมิที่เป็นนักเรียนทุนจำนวน 32 คน และเป็นเจ้าหน้าที่เดิมของโรงพยาบาล 30 คน รวมทั้งสิ้น 62 คน ออกดูแลเป็นพยาบาลชุมชนประจำหมู่บ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หมอครอบครัวประจำหมู่บ้าน
การดูแลระยะยาว (Long Term Care) สำหรับผู้สูงอายุ ที่โรงพยาบาลน้ำพอง จึงถือได้ว่า เป็นต้นแบบการเรียนรู้ให้อีกหลายๆ แห่งเดินตาม โดยเฉพาะกำลังสำคัญ "พยาบาล" ซึ่งมีใจรักบริการลงไปปฏิบัติงาน ทำงานใกล้ชิดชุมชนดุจญาติมิตร
Day care เทศบาลตำบลสะอาด