เอี่ยวทุจริตสร้างพนังป้องกันตลิ่ง อิทธิพลฝังรากลึก
ชงบอร์ดป.ป.ท.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนทุจริต 2 โครงการป้องกันตลิ่งจ.ยะลา "เลขาป.ป.ท." เผยหลังบอร์ดมีมติจะส่งหนังสือถึงก.เกษตร ต้นสังกัดให้ย้ายผู้เกี่ยวข้องออกนอกพื้นที่ตามมติครม. 27 มี.ค.
เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2561 พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตในโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่ง จำนวน 2 โครงการ คือโครงการป้องกันตลิ่งโรงเรียนบ้านปาแตรายอ ต.เกะรอ อ.รามัน จ.ยะลา วงเงินงบประมาณ 21 ล้านบาทเศษ และโครงการป้องกันตลิ่งบ้าน กม.26 ใน หมู่ที่ 2 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา วงเงินงบประมาณ 24 ล้านบาทเศษ ว่า ขณะนี้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นของป.ป.ท.เขตพื้นที่ 9 ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยในวันที่ 2 ส.ค.นี้ จะเสนอสำนวนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการป.ป.ท.เพื่อพิจารณาลงมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนความผิด เนื่องจากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าโครงการดังกล่าวได้มีการตรวจรับและเบิกจ่ายงบประมาณทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ทั้งที่การก่อสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา ทั้งในด้านความยาวของผนังป้องกันตลิ่ง ความสูง ไปจนถึงฐานล่าง ชี้ถึงพิรุธในการควบคุมและตรวจรับงานที่มีความบกพร่องอย่างชัดเจน แม้โครงการจะยังอยู่ในอายุรับประกันตามสัญญาแต่ความบกพร่องที่ตรวจสอบพบนั้นต้องแก้ไจด้วยการรื้อทิ้งแล้วก่อสร้างใหม่ อย่างไรก็ตาม ป.ป.ท.จะขยายผลตรวจสอบโครงการก่อสร้างลักษณะดังกล่าวในพื้นที่อื่นๆต่อไปด้วย
พ.ท.กรทิพย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการดำเนินการทางวินัยทราบว่า กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีคำสั่งย้ายนายช่างชลประทานออกนอกพื้นที่แล้ว 2 ราย ส่วนอีก 1 ราย ได้รับทราบข้อมูลว่าก่อนหน้านี้ได้ถูกย้ายจากจ.ยะลาไปจ.ปัตตานี ต้นสังกัดจึงไม่ได้มีคำสั่งย้ายอีกครั้งเพราะถือว่าได้ออกนอกพื้นที่ไปแล้ว ดังนั้นหากคณะกรรมการป.ป.ท.มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนความผิด สำนักงานป.ป.ท.จะมีหนังสือไปยังกระทรวงเกษตรและกรมชลประทานให้ปฏิบัติตาม มติคณะรัฐมนตรี 27 มี.ค.2561 เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ ซึ่งกรณีส่อทุจริตโครงการชลประทานในจ.ยะลานั้น มีข้อมูลเบาะแสว่าผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการก่อสร้างที่ฝังรากลึกมานาน อาศัยสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่กระทำทุจริต โดยเชื่อว่าเป็นโครงการก่อสร้างในพื้นที่สีแดงยากต่อการลงพื้นที่ของหน่วยตรวจสอบ ดังนั้นจึงควรที่จะย้ายผู้เกี่ยวข้องพ้นออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะเป็นการย้ายข้ามภาคหรือย้ายเข้ามาประจำกรม เพื่อตั้งกรรมการสอบสวนความผิดให้ชัดเจน
สำหรับผลการตรวจสอบของป.ป.ท.พบว่า ทั้ง 2 โครงการได้มีการตรวจรับงานและเบิกจ่ายงบประมาณทั้งหมดแล้ว แต่มีการก่อสร้างไม่เป็นไปตามสัญญาและรูปแบบ หลายรายการ ดังนี้ 1 ความยาวโครงการตลอดเส้น 500 เมตร วัดได้ 470.6 เมตร ขาดไป 29.4 เมตร (ช่วง กม.+277 ฐานล่าง mattress หุ้ม pvc ขาดระยะไป 22.5 เมตร) ,2 ฐานล่าง mattress กว้าง 5 เมตร วัดได้ 4 เมตร ขาดไป 1 เมตร, 3 ก่อสร้างผิดแบบ ใช้ mattress แทน gabions ระยะยาว 2 เมตร วัดได้ 0.68 เมตร ขาดไป 1.32 เมตร ,4 ชั้น 1 ความสูง 1 เมตร วัดได้ 0.60 เมตร ขาดไป 0.40 เมตร, 5 ชั้น 2 สูง 1 เมตร วัดได้ 0.95 เมตร ขาดไป 0.05 เมตร ,6 ไม่มี mattress หุ้ม pvc บนไหล่คันดิน ตลอด 500 เมตร,7 ไม่มีงานเหล็ก dowel bar ทั้งหมด 4,200 จุด ,และ 8 ไม่พบเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก 126 ต้น
สำหรับรายละเอียดใน มติครม. วันที่ 27 มี.ค.61 ระบุว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีนโยบายสำคัญและเร่งด่วนในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นที่เชื่อมั่นและไว้วางใจของประชาชน ซึ่งแม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะได้กำหนดมาตรการในการขับเคลื่อนการดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้เกิดผลมาอย่างต่อเนื่อง แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งจากข้อร้องเรียนและผลการตรวจสอบการทุจริตในระบบราชการ แสดงให้เห็นว่ายังคงมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระบบราชการอย่างจริงจังและเข้มงวด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กระบวนการยุติธรรม และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจแก่ประชาชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 42 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระบบราชการดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกรณีที่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ส่วนราชการต้นสังกัดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน แล้วรายงานผลการพิจารณาต่อหัวหน้าส่วนราชการและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อรับทราบทันที และให้พิจารณาดำเนินการทางวินัยหรือทางอาญาโดยเร็วซึ่งจะต้องให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ในระหว่างนี้ให้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการต่อหัวหน้าส่วนราชการหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อทราบเป็นระยะตามความเหมาะสม กรณีที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีเหตุน่าเชื่อถือ และเป็นกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการหรือทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน แม้ผลการตรวจสอบยังไม่อาจสรุปความผิดได้ชัดเจนถึงขั้นชี้มูลความผิด ให้พิจารณาปรับย้ายข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไปดำรงตำแหน่งอื่นเป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและป้องกันการกระทำที่อาจมีผลต่อการตรวจสอบโดยเร็ว และในกรณีที่เป็นเรื่องร้ายแรงหรือมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและไว้วางใจของประชาชน ให้เสนอให้มีการย้ายหรือโอนไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรี และดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดขึ้นตามคำสั่งหัวหน้าคสช.แล้วแต่กรณี
ข้อ 2 ในกรณีที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีหลักฐานควรเชื่อได้ว่าสามารถสรุปความผิดได้ชัดเจนถึงขั้นชี้มูลความผิด ให้ส่วนราชการต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยต่อข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาดโดยเร็ว และให้รายงานหัวหน้าส่วนราชการและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อทราบความคืบหน้าและเร่งรัดการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ อาจพิจารณาให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนหรือออกจากตำแหน่งก็ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม และในกรณีที่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ให้ส่งเรื่องให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อพิจารณาดำเนินคดีโดยทันที กระบวนการพิจารณาดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องตามปกติ แต่ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วโดยพิจารณาจัดลำดับตามความสำคัญ ความสนใจของประชาชน และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นให้ปลดออกจากราชการหรือไล่ออกจากราชการ ให้ส่วนราชการต้นสังกัดดำเนินการปรับย้ายจากตำแหน่งเดิม และห้ามปรับย้ายกลับไปดำรงตำแหน่งหน้าที่ในลักษณะเดิม หรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นภายในเวลา 3 ปี นับแต่วันที่มีการลงโทษทางวินัย
ข้อ 3 การปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล หรือคสช. ที่ทำให้การปฏิบัติราชการเกิดความล่าช้าหรือไม่มีประสิทธิภาพซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ หรือทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ให้ถือเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาให้มีการย้ายหรือโอนไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นตามข้อ 1 วรรคสองด้วย ข้อ 4 ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดให้มีมาตรการคุ้มครองพยาน หรือผู้ให้ข้อมูลหรือเบาะแสในการตรวจสอบอย่างเหมาะสม เพื่อให้การได้รับข้อมูลและหลักฐานในการดำเนินการต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่ามีการจงใจให้ข้อมูลเพื่อใส่ร้ายหรือบิดเบือนข้อมูลเพื่อให้มีการดำเนินการ ที่เป็นผลร้ายต่อบุคคลอื่น ให้พิจารณาดำเนินการลงโทษบุคคลดังกล่าวอย่างเด็ดขาดด้วย และ ข้อ 5 ให้ครม.พิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ยึดถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้โดยเคร่งครัดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ที่มาข่าว: http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/808874