เจาะคดีดังสหรัฐ อดีตผอ.รร.เท็กซัส อาจติดคุกฟรี30ปี เหตุผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานขาดความรู้?
"...คณะกรรมการพิสูจน์หลักฐานแห่งรัฐเท็กซัส วิเคราะห์หลักฐานร่องรอยการกระเด็นของเลือด ซึ่งใช้กล่าวหาอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมปลายในเท็กซัสรายนี้ ในข้อหาฆาตกรรมภรรยาตัวเองเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2528 ว่า เป็นผลวิเคราะห์ที่ “ไม่ตรงกับความเป็นจริงและไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ” ขณะที่ผู้เชียวชาญซึ่งทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐานก็กระทำผิดพลาดทั้งหมด ซึ่งการค้นพบดังกล่าวส่งผลให้เกิดการตั้งข้อสงสัยในการตัดสินลงโทษคดีนายโจ ไบรอัน ที่ถูกคุมขังในเรือนจำมากว่า 30 ปีแล้ว และการค้นพบครั้งนี้ ก็นำไปสู่การร่างคำร้องให้มีการพิจารณาคดีของนาย โจ ไบรอันใหม่ เนื่องจากปัจจุบันอายุ 77 ปี และมีสุขภาพย่ำแย่..."
กรณี นายริชาร์ด เบอราเน็ก (Richard Beranek) ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยกรณีแม่ลูกสองวัย 28 ปี ถูกชายนิรนามข่มขืนในที่พักอาศัย เขตชนบทเมืองสเตาจ์ทัน (Stoughton city) เทศมณฑลเดน ก่อนจะถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 243 ปี ในช่วงปี 1990 (2533) ซึ่งปัจจุบันถูกปล่อยตัวให้เป็นอิสระแล้ว จากการถูกคุมขังมาแล้ว 27 ปี เนื่องจากมีการฟื้นคดีพิสูจน์หลักฐานทาง “เส้นผม” และอสุจิจากคดีข่มขืน ยืนยันชัดเจนว่าวัตถุพยานเหล่านี้ ไม่ใช่ของนายริชาร์ด แต่เป็นความผิดพลาดในการสอบสวนของ เอฟบีไอ(FBI) ทำให้ได้รับอิสรภาพคืนกลับมา (อ่านประกอบ : วันแห่งอิสรภาพ! เมื่อชายวิสคอนซิน พ้นข้อกล่าวหา FBI พิสูจน์คดีเส้นผมผิดพลาด ติดคุกฟรี 27 ปี) ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่บ่งชี้ให้เห็นจุดอ่อนและช่องโหว่ ในการใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อตรวจพิสูจน์หลักฐานในคดีต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา บางส่วนเท่านั้น
เมื่อล่าสุด ปรากฎข่าวใหม่ว่า คณะกรรมการตรวจพิสูจน์หลักฐานแห่งรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ได้ยื่นคำร้องให้รื้อคดีผู้ต้องหารายใหม่ คือ นายโจ ไบรอัน (Joe Bryan) ขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง หลังตรวจพบข้อมูลว่า ผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานขาดความรู้ความสามารถที่เหมาะสมรวมถึงข้อพิสูจน์หลักฐานหลายอย่างเกินขอบเขตความเป็นไปได้ในการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ส่งผลทำให้ชายคนนี้ ต้องถูกตัดสินลงโทษจำคุกมาแล้วเป็นเวลานานกว่า 30 ปี
สำนักข่าว propublica (www.propublica.org) รายงานข่าวว่า คณะกรรมการพิสูจน์หลักฐานแห่งรัฐเท็กซัส วิเคราะห์หลักฐานร่องรอยการกระเด็นของเลือดซึ่งใช้กล่าวหานาย โจ ไบรอัน อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมปลายในเท็กซัส ในข้อหาฆาตกรรมภรรยาตัวเองเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2528 ว่า เป็นผลวิเคราะห์ที่ “ไม่ตรงกับความเป็นจริงและไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ” ขณะที่ผู้เชียวชาญซึ่งทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐานก็กระทำผิดพลาดทั้งหมด ซึ่งการค้นพบดังกล่าวส่งผลให้เกิดการตั้งข้อสงสัยในการตัดสินลงโทษคดีนาย โจ ไบรอัน ที่ถูกคุมขังในเรือนจำมากว่า 30 ปีแล้ว และการค้นพบครั้งนี้ ก็นำไปสู่การร่างคำร้องให้มีการพิจารณาคดีของนายไบรอันใหม่ เนื่องจากปัจจุบันอายุ 77 ปี และมีสุขภาพย่ำแย่
สำหรับข้อมูลคดีของนายไบรอัน ระบุว่า ในวันเกิดเหตุ ไบรอันไปเข้าร่วมงานประชุมผู้อำนวยการโรงเรียนที่เมืองออสติน (Austin) ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุไปกว่า 190 กม. ซึ่งเขายืนยันอยู่ตลอดว่าเขากำลังนอนหลับอยู่ในโรงแรมที่ออสตินในเวลาที่เกิดเหตุ
ทั้งนี้ คณะกรรมการพิสูจน์หลักฐานถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2548 ด้วยคำสั่งของสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเท็กซัส ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ 7 คนและพนักงานอัยการ 1 คน โดยคณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีหน้าที่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของการใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อตรวจพิสูจน์หลักฐานในคดีต่าง ๆ ซึ่งในปีนี้ทางคณะกรรมการฯ ได้เลือกตรวจสอบการวิเคราะห์คราบเลือดในคดีของไบรอัน ซึ่งเป็นการตรวจสอบหยดเลือด การกระเด็น และรอยทางของเลือดในที่เกิดเหตุ
ทางคณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบพบว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมการพิสูจน์หลักฐานจากคราบเลือดบางคนซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญตามศาลต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาได้รับการฝึกอบรมเพียงประมาณอาทิตย์เดียวเท่านั้น
โรเบิร์ต ธอร์แมน (Robert Thorman) เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนจากเมืองฮาร์เคอร์ ไฮต์ (Harker Heights) ซึ่งเข้ารับการฝึกอบรมการตรวจพิสูจน์คราบเลือดเป็นเวลา 40 ชม. เป็นพยานหลักของอัยการโจทก์ในการยื่นฟ้องไบรอัน โดยคำให้การของเขาเกี่ยวกับรอยหยดเลือดซึ่งติดอยู่บนไฟฉายที่ถูกพบโดยพี่ชายของเหยื่อในกระโปรงท้ายรถของไบรอันหลังเกิดการฆาตกรรม 4 วันเป็นหลักฐานสำคัญในการฟ้องร้อง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เชื่อมโยงไฟฉายกับการก่ออาชญากรรมกลับไม่ชัดเจน ในปี 2528 การตรวจหาดีเอ็นเอ (DNA) ยังไม่สามารถทำได้ นักวิจัยจากห้องทดลองตรวจพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรมจึงตรวจสอบได้เพียงผลเลือดซึ่งผลตรวจหยดเลือดซึ่งติดบนไฟฉายระบุว่าเป็นกรุ๊ปโอ ซึ่งไม่ได้ตรงกับ มิคกี้ ไบรอัน (Mickey Bryan) ภรรยาของไบรอันแค่คนเดียว แต่ยังตรงกับประชากรสหรัฐฯ อีกว่าครึ่งประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้ผลตัดสินออกมาว่าไบรอันเป็นผู้กระทำผิด พนักงานอัยการต้องหาทางผูกโยงเข้ากับที่เกิดเหตุ ซึ่งธอร์แมนให้การโดยอ้างอิงจากการพิจารณาภาพถ่ายไฟฉายดังกล่าวว่า รอยหยดเลือดซึ่งติดอยู่บนเลนส์ของไฟฉายเกิดจากการ “กระเด็นย้อนกลับใส่ตัวผู้ยิง” ซึ่งแสดงถึงการยิงแบบจ่อยิงระยะประชิด ด้วยความช่วยจากพนักงานอัยการ เขาได้สร้างข้อกล่าวอ้างว่าไฟฉายดังกล่าวอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย และผู้ก่อเหตุถือมันไว้ในมือข้างหนึ่งในตอนที่เขายิงมิคกี้ ไบรอัน
ขณะที่ เซเลสทินา รอสซี (Celestina Rossi) นักวิเคราะห์คราบเลือดมีความเห็นโต้แย้งกับธอร์แมนทั้งเรื่องที่เกิดเหตุและเรื่องไฟฉาย รอสซีกล่าวว่า “คำให้การของธอร์แมนผิดอย่างร้ายแรง”
“ถ้ามีผู้พิพากษาคดีของไบรอันคนใดเชื่อคำให้การของเขา คดีของไบรอันก็ควรถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่”
และจากการตรวจสอบวิจัยหลักฐานกว่า 60 ชม. รอสซีพบว่า ธอร์แมนเข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ผิดไป ใช้วิธีการตรวจสอบที่มีช่องโหว่และตีความหลักฐานผิดพลาด ทั้งการวิเคราะห์และคำให้การของเขาไม่ตรงตามหลักวิทยาศาสตร์และไม่สามารถใช้งานวิจัยซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้วมาสนับสนุนหลักฐานได้
รอสซีพบว่า หนึ่งในบรรดาคำให้การที่ผิดพลาดของธอร์แมน คือ การให้การว่าเลือดจะระเหยเมื่อกระเด็นไปประมาณ 46 นิ้วผ่านอากาศ นอกจากนี้เขายังให้การแบบผิด ๆ ว่า “เลือดของมนุษย์มีลักษณะการเรียงตัวเฉพาะตัวซึ่งแตกต่างจากเลือดชนิดอื่น”
รอสซีกล่าวว่า คำให้การทั้ง 2 เรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีของไบรอัน แต่มันแสดงให้เห็นถึงความขาดความเข้าใจพื้นฐานในหลักการทางวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้รอสซียังยกข้อโต้เถียงต่อโจทก์ว่า ไฟฉายเปรอะเลือดที่ถูกกล่าวอ้างอาจจะไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและอาจจะไม่ได้ถูกถือโดยฆาตกร รอสซีกล่าวว่า รอยหยอดเลือดบนไฟฉายไม่ได้กระเด็นไปด้านหลังตามหลักการกระเด็นย้อนกลับ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ รอยเลือดบนไฟฉายไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการจ่อยิงระยะประชิด
อย่างไรก็ดี ธอร์แมน ซึ่งในขณะนี้อยู่ในวัยเกษียณ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อความเห็นของรอสซี โดยกล่าวว่าเขาจะแสดงความเห็นเมื่อทางคณะกรรมการปล่อยรายงานชิ้นสุดท้ายออกมาในเดือนตุลาคม 2561 แต่เขากล่าวว่า “ผมทำตามที่ถูกฝึกมา”
ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบของรอสซีไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่คัดง้างผลการตัดสินเดิม ลิน การ์เซีย (Lyn Garcia) ที่ปรึกษาหลักแห่งคณะกรรมการพิสูจน์หลักฐานกล่าวว่า แพทริเซีย แอลมันซา (Patricia Almanza) นักวิจัยประจำห้องวิจัยอาชญากรรมแห่งรัฐผู้ซึ่งให้การเกินจริงในเรื่องหลักฐานคราบเลือด ได้ให้การเกินกว่าขอบเขตความเชี่ยวชาญของตนเองหลายครั้ง แอลมันซามักจะให้การต่ออัยการโจทก์เกี่ยวกับลักษณะการกระเด็นของเลือด ถึงแม้เธอจะไม่ได้รับการรับรองความรู้ความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์รอยเลือด นอกจากนี้เธอยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานเส้นใยซึ่งเธอไม่ได้ทำการตรวจพิสูจน์อีกด้วย
ปัจจุบัน แอลมันซาได้เปลี่ยนชื่อเป็น เร็ตซ์แลฟฟ์ (Retzlaff) และทางคณะกรรมการยังไม่สามารถติดต่อได้
แต่คนที่เป็นตัวตั้งต้นเกี่ยวกับการสืบคดีที่มีจุดน่าสังเกตมากมายครั้งนี้ก็คือ อดัม ซิบลี (Adam Sibley) พนักงานอัยการประจำเทศบาลบอสก์ (Bosque) แต่ซิบลียังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีของไบรอัน โดยอ้างว่าคดีกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวน แต่การเผยแพร่ข้อมูลข้อสังเกตต่อคดีของทางคณะกรรมการฯ ต่อสาธารณะน่าจะช่วยให้ซิบลียับยั้งการตรวจสอบดีเอ็นเอได้ยากขึ้น
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า การพิจารณาคดีครั้งต่อไปของไบรอันจะมีขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม ซึ่งจะมีการไต่สวนมูลฟ้องเป็นเวลา 3 วันที่ศาลในเมืองโคมันช์ (Comanche) รัฐเท็กซัส ทนายของไบรอัน วอลเตอร์ รีฟ (Walter Reaves) และเจสซิกา ฟรอยด์ (Jessica Freund) จากเมืองวาโค (Waco) จะเป็นพยานและแสดงหลักฐานแก้ต่างให้แก่ไบรอันว่าเขาควรได้รับการพิจารณาคดีใหม่ โดยประธานศาลอาญาจะเป็นผู้ส่งคำตัดสินไปยังศาลอาญาอุทธรณ์แห่งรัฐเท็กซัสซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดต่อไป
กรณีของ โจ ไบรอัน จึงนับเป็นคดีสำคัญอีกคดีหนึ่งที่กำลังถูกจับตามองว่า ในท้ายที่สุดแล้วผลการตัดสินของศาลจะออกมาเป็นอย่างไร การใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อตรวจพิสูจน์หลักฐานในคดีนี้ จะมีปัญหาซ้ำรอยเหมือน คดี ริชาร์ด เบอราเน็ก หรือไม่?
แปล/เรียบเรียงเรื่อง จาก https://www.propublica.org/article/texas-forensic-science-commission-blood-spatter-evidence-testimony-murder-case-joe-bryan