ตามไปดูขั้นตอนกำจัดขยะติดเชื้อ รพ.วชิระ จ้าง บ.ขนส่ง การันตีไม่มีหลุดรอด
กรณีศึกษา! ตามไปดูขั้นตอนกำจัดขยะติดเชื้อ รพ.วิชระ สังกัดกรุงเทพมหานคร เผยจ้าง บ.กรุงเทพธนาคมขนส่ง รพ.ชั่งน้ำหนักก่อนส่ง ตรวจสอบทุกขั้นตอน การันตีไม่มีหลุดรอดสูญหายระหว่างทาง ไม่สะดวกเปิดข้อมูลตัวเลขแต่ละวัน
สืบเนื่องจากกรณีที่มีข้อสงสัยว่ามูลฝอยติดเชื้อซึ่งถูกจัดเก็บจากโรงพยาบาลอาจถูกลักลอบทิ้งและไม่ถูกนำไปกำจัดยังโรงเผาขยะอย่างถูกต้อง เนื่องจากมีการเปิดเผยของกรมอนามัยว่ามูลฝอยติดเชื้อของโรงพยาบาลหายจากระบบกว่า 28% ต่อปี
ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างไร? และกระบวนการกำจัดขยะของโรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งอย่าง รพ.วชิระ สังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นอย่างไร?
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สัมภาษณ์ พยาบาลวิชาชีพ(พว.)ดุษฎี ดวงมณี พยาบาลควบคุมโรคติดเชื้อ และ น.ส.ศิลัมพา สุบุญสันธิ์ วิศวกรปฏิบัติการดูแลเรื่องงานสุขาภิบาล ณ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เกี่ยวกับขั้นตอนการกำจัดขยะและของเสียติดเชื้อของโรงพยาบาลวชิระ
พว.ดุษฎี ดวงมณี ให้ข้อมูลว่า หน่วยงานหลักในการบริหารจัดการการกำจัดขยะและของเสียของโรงพยาบาลคือรองคณบดีฝ่ายบริหาร โดยมีคณะกรรมการควบคุมโรคติดเชื้อและคณะกรรมการอาชีวะอนามัยเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินการ นอกจากนี้คณะกรรมการควบคุมโรคติดเชื้อยังเป็นผู้ดูแลและจัดการมูลฝอยติดเชื้อโดยตรง
ขั้นตอนการกำจัดขยะของโรงพยาบาล ขั้นตอนแรกโรงพยาบาลจะคัดแยกขยะเป็น 5 ประเภท โดยแยกตามวิธีการทำลาย คือ ขยะรีไซเคิล ซึ่งโรงพยาบาลจะรวบรวมและดำเนินการขายออก ขยะทั่วไป ซึ่งโรงพยาบาลจะเก็บรวบรวมไว้ในที่แห้งเพื่อจัดส่งให้บริษัทรับจ้างขนขยะ ขยะอันตราย ขยะเคมีบำบัด และขยะติดเชื้อ
ขั้นตอนการกำจัดขยะติดเชื้อ ขั้นตอนแรกแต่ละหน่วยงานจะต้องแยกขยะติดเชื้อออกเป็น 3 ประเภท คือ ขยะติดเชื้อมีคม ซึ่งส่วนมากเป็นภาชนะทิ่มทะลุ เช่น เข็มฉีดยา ตำนำให้น้ำเหลือ และใบมีด ซึ่งจะถูกจัดเก็บใส่ภาชนะแบบเหนียวป้องกันการทิ่มทะลุ ขยะติดเชื้อไม่มีคม เช่น ชิ้นส่วนร่างกาย และขยะติดเชื้อประเภทของเหลว ซึ่งทุกหน่วยงานจะส่งไปยังห้องนิรมัยเพื่อจัดเก็บใส่กล่องปิดทึบให้เรียบร้อยและห้ามให้เห็นว่าข้างในมีอะไร และประเภทสุดท้ายคือขยะติดเชื้อแบบเหลว ซึ่งจะถูกปล่อยลงบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาล ซึ่งมีการควบคุมปริมาณคลอรีนตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไม่ให้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ขยะติดเชื้อทุกประเภทจะถูกจัดเก็บใส่ภาชนะเฉพาะ ซึ่งโดยมากจะมีสีแดงและบางแห่งอาจจะมีรูปกะโหลกไขว้ด้วย ถ้าเป็นถุงจะต้องเหนียว ฉีกขาดยาก
หลังจากแต่ละหน่วยงานแบ่งประเภทขยะติดเชื้อของหน่วยงานตนเองเรียบร้อยแล้วจะดำเนินการขนย้ายไปยังจุดพักขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลเพื่อรอการนำส่งไปยังเตาเผาขยะ โดยบางตึกที่เป็นตึกใหม่จะมีลิฟต์สำหรับขนขยะโดยเฉพาะ ในขณะที่บางตึกไม่มีเนื่องจากเป็นตึกเก่าซึ่งถูกสร้างตั้งแต่ก่อตั้งโรงพยาบาล
พว.ดุษฎี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จุดพักขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลตรงตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งระบุว่าไม่จำเป็นต้องมีห้องเย็นสำหรับจัดเก็บขยะหากดำเนินการขนถ่ายขยะติดเชื้อไปยังโรงเผาขยะทุกวัน โดยผู้ที่รับหน้าที่ขนถ่ายขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลจากจุดพักไปยังเตาเผาและเป็นผู้ดำเนินการเผาทำลายคือบริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นบริษัทที่ กทม. ก่อตั้งขึ้น ส่วนสาเหตุที่เลือกใช้บริษัทกรุงเทพธนาคมเนื่องจากค่าจ้างขนถ่ายและกำจัดถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ในขณะที่โรงพยาบาลอื่นในกรุงเทพฯ ก็สามารถเลือกจ้างบริษัทอื่นตามที่ตนเองต้องการได้ แต่ส่วนมากก็มักจะเลือกใช้บริการจากกรุงเทพธนาคมด้วยเหตุผลเรื่องราคา
น.ส.ศิลัมพา สุบุญสันธิ์ วิศวกรปฏิบัติการดูแลเรื่องงานสุขาภิบาล ให้ข้อมูลว่า ทางโรงพยาบาลมีขั้นตอนการตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีการลักลอบทิ้งขยะด้วยการชั่งน้ำหนักขยะติดเชื้อทั้งหมดก่อนให้บริษัทกรุงเทพธนาคมขนถ่ายไป ซึ่งบริษัทกรุงเทพธนาคมจะต้องนำขยะที่ตนเองรับขนถ่ายไปชั่งน้ำหนักก่อนเผากำจัดอีกครั้งเพื่อส่งข้อมูลปริมาณน้ำหนักขยะมาเก็บค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะจากโรงพยาบาล ด้วยวิธีการนี้ทางโรงพยาบาลจะสามารถตรวจสอบได้ว่าปริมาณน้ำหนักซึ่งทางกรุงเทพธนาคมส่งมาตรงกับปริมาณที่ทางโรงพยาบาลชั่งวัดได้หรือไม่
พว.ดุษฎีกล่าวเสริมว่าทางโรงพยาบาลมีการประชุมร่วมกับบริษัทกรุงเทพธนาคมและ กทม. ปีละหนึ่งครั้งเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการขนถ่ายและกำจัดขยะเช่นกัน
กรณีที่ทางกรมอนามัยระบุว่าได้มีการจัดเก็บข้อมูลสถิติปริมาณมูลฝอยติดเชื้อของแต่ละโรงพยาบาล ทาง พว. ดุษฎีกล่าวว่า ทางโรงพยาบาลไม่ได้มีการส่งข้อมูลให้แก่กรมอนามัยเนื่องจากทางโรงพยาบาลไม่ได้ขึ้นกับกรมอนามัย แต่ขึ้นอยู่กับเขตการบริหารจัดการของ กทม. ซึ่งตัวเลขปริมาณขยะทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้จากทางบริษัทกรุงเทพธนาคมและ กทม.
พว.ดุษฎีได้ทิ้งท้ายไว้ว่าการควบคุมปริมาณขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลน่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากเนื่องจากในแต่ละช่วงเวลามีปริมาณผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแตกต่างกัน ซึ่งถ้าช่วงเวลาใดมีผู้ป่วยมากจะส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นสูง อย่างไรก็ดีสิ่งที่ควรกระทำคือการประเมินปริมาณขยะติดเชื้อต่อผู้ป่วย 1 คนและควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
ทั้งนี้ทาง รพ.ไม่สะดวกในการเปิดเผยปริมาณของขยะติดเชื้อในแต่ละวันหรือรอบสัปดาห์และงบประมาณในการบริหารงานจัดการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ล่าสุด 9 มี.ค.2561 บริษัทกรุงเทพธนาคม เป็นคู่สัญญาจ้างเก็บขนและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อให้แก่สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระหว่าง 9 มี.ค.2561-8 มี.ค.2564 เป็นเงิน 540.9 ล้านบาท แต่ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าสัญญาดังกล่าวรวมการขนส่งขยะติดเชื้อของ รพ.วชิระด้วยหรือไม่?