เดดไลน์ 3 เดือนสาง ขยะพิษครบวงจร
ครม.ขีดเส้น 3 เดือน“บิ๊กเต่า”แก้ปัญหาขยะพิษครบวงจร ก่อนส่งการบ้านรายงาน“บิ๊กป้อม” ดันออกประกาศกรมโรงงานฯ-ก.พาณิชย์บังคับใช้ถาวรต่อไป
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2561 จากกรณีที่พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรฯ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ จะเรียกประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในวันที่ 1 ส.ค. นี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะมีการพิจารณาการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกประเภทต่างๆเพิ่มเติม เพื่อเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ นำไปออกเป็นประกาศหรือกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อไปนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอมาตรการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกนำเข้าจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ฯ รวมทั้งข้อกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้ถูกต้องเหมาะสม โดยไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่ดำเนินกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ให้คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ฯ เร่งรัดการพิจารณากำหนดแนวทางการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ทั้งที่นำเข้าและที่มีอยู่ในประเทศอย่างเป็นระบบและครบวงจรให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 และคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำกับดูแลโดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเรื่องที่เป็นวาระเร่งด่วนและการแก้ไขปัญหาการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้โดยให้คำนึงถึงความจำเป็นเหมาะสม และคุ้มค่าในการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกจากต่างประเทศ รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอมาตรการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ฯ เพื่อให้คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ฯ ที่มีพล.อ.สุรศักดิ์ เป็นประธานพิจารณา ดังนี้ 1.ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (E-Weste) กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นควรให้นำมาตรา 32 (2) พ.ร.บ.โรงงาน 2535 มาออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดแหล่งกำเนิดของวัตถุดิบที่จะนำมาใช้หรือผลิตในโรงงาน พ.ศ….. เพื่อห้ามโรงงานใช้วัตถุดิบที่เป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมาใช้หรือผลิตในโรงงาน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการรีไซเคิลชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและเศษอิเล็กทรอนิกส์จากแหล่งชุมชน 2.เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว หรืออุปกรณ์/เครื่องใช้ไฟฟ้าใช้แล้วมือสอง ยังคงอนุญาตต่อไป 3.เศษพลาสติกที่ใช้แล้วอนุญาตเฉพาะพลาสติกที่สะอาดและห้ามล้าง โดยจำกัดปริมาณการนำเข้าเท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่ออุตสาหกรรมการรีไซเคิลพลาสติกที่ใช้แล้ว และจะลดและยกเลิกการนำเข้า โดยจำกัดปริมาณให้ลดลงตามลำดับในระยะเวลา 2 ปี และกระทรวงอุตสาหกรรม จะร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นหน่วยงานหลักส่งเสริมการรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้วจากแหล่งชุมชน
ขณะที่สินค้าอื่นที่ไม่ใช้แล้ว คือ 1.เศษโลหะ ที่มีวัสดุอื่นหรือวัตถุอันตรายปะปนเกินเกณฑ์ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมแจ้งต่อกรมศุลกากร ตามหนังสือลงวันที่ 24 ก.ย.2558 กระทรวงอุตสาหกรรมจะให้ความร่วมมือกับกรมศุลกากรตรวบสอบสินค้าให้เป็นไปตามเกณฑ์ 2.แบตเตอรี่ใช้แล้ว ซึ่งมีการห้ามนำเข้าแบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติวันที่ 15 ธ.ค.2536 เห็นควรให้ดำเนินการตามมติเดิม 3.อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้แล้วที่จะนำมาถอดแยกเพื่อนำโลหะกลับมาใช้ เช่น มอเตอร์ มิเตอร์ หม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เห็นควรห้ามนำเข้า โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ประกาศห้ามตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า 2552 ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมจะได้ประกาศห้ามใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานภายในประเทศ ตามมาตรา 32 (2) พ.ร.บ.โรงงานอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังระบุถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่าหากมีการห้ามนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ โรงงานที่นำเข้าที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศประมาณปีละ 4-5 หมื่นตัน จะต้องเลิกประกอบกิจการ เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ โดยชิ้นส่วนอุปกรณ์ฯ ที่เกิดจากโรงงานภายในประเทศมีเพียง 7,500 ตัน หากใช้วัตถุดิบภายในประเทศต้องจัดหาจากแหล่งชุมชน ที่ผู้ดำเนินการคัดแยกขยะชุมชนส่วนนี้ยังไม่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายและวิชาการ เช่น กรณีอ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ และมีแนวโน้มขยายเป็นวงกว้างสู่พื้นที่อื่นด้วย อย่างไรก็ตามการห้ามนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ฯ จะเป็นการส่งเสริมการเรียกคืนซากชิ้นส่วนอุปกรณ์ฯภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อหน่วยงานราชการว่าสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาดทันท่วงที เป็นต้น.