โพล94.90%ชี้ ผู้หญิงสามารถเป็นนักการเมืองระดับประเทศได้ มีความรู้-เป็นผู้นำ
โพล94.90%ชี้ ผู้หญิงสามารถเป็นนักการเมืองระดับประเทศได้ มีความรู้-เป็นผู้นำ พร้อมระบุผู้หญิงยุคไทยแลนด์ 4.0 ต้องทำงานได้ทั้งงานในบ้านและนอกบ้านได้
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม พม. POLL กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-12 ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง “หญิงไทยยุคใหม่ สไตล์ 4.0”
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อความจำเป็นที่ผู้หญิงต้องมีคู่ครอง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.38 ระบุว่า จำเป็นต้องมีคู่ครอง แต่ร้อยละ 35.62 ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง เพราะว่า สภาพสังคมเอื้อให้ผู้หญิงสามารถประกอบอาชีพดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ซึ่งในปัจจุบันผู้หญิงสามารถอยู่คนเดียวเป็นโสด โดยไม่จำเป็นต้องมีคู่ อีกทั้งผู้หญิงสามารถทำอะไรได้เองโดยที่ไม่ต้องพึ่งผู้ชาย และยังต้องการความเป็นอิสระในการตัดสินใจในการใช้ชีวิตที่ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคล ผู้หญิงมีสิทธิและทางเลือกที่เท่าเทียมกับผู้ชาย ในบางความคิดเห็น คู่ครองอาจไม่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระ เมื่อเกิดปัญหาทุกอย่างจะตกอยู่กับฝ่ายผู้หญิง และผู้ชายที่มีความประพฤติดีหายาก ส่วนมากเจ้าชู้ไม่ซื่อสัตย์ ขาดความรับผิดชอบและชอบใช้ความรุนแรง
เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อความจำเป็นที่ต้องจดทะเบียนสมรสเมื่อแต่งงานแล้ว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.52 ระบุว่า จำเป็น เพราะว่า เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตครอบครัวที่ได้เป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายจะได้มีสิทธิในทรัพย์สินหรือมรดกอันพึงได้ของคู่สมรสเพื่อให้มีผลคุ้มครองสิทธิทางด้านกฎหมาย และสามารถทำนิติกรรมธุรกรรมร่วมกันในด้านการเงิน อีกทั้งเป็นสิทธิประโยชน์ของบุตรในเรื่อง การศึกษา สวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงการใช้สิทธิ
การรักษาพยาบาลหรือการเบิกจ่าย ในกรณีที่คู่สมรสเป็นข้าราชการ และต้องการใช้นามสกุลเดียวกัน เพื่อสืบทอดสกุลฝ่ายชายตามธรรมเนียม แต่ร้อยละ 39.48 ระบุว่า ไม่จำเป็น เพราะว่า ไม่มีกฎหมายบังคับ ไม่อยากมีข้อผูกมัดทางกฎหมาย ขึ้นอยู่กับการตกลงทั้งสองฝ่าย เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล คิดว่าทะเบียนสมรสไม่ได้เป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตครอบครัว ในบางส่วนต้องการความเป็นอิสระ ไม่อยากมีภาระ ไม่สะดวกที่จะจดทะเบียน กลัวมีปัญหาเรื่องสินสมรส หนี้สิน ธุรกรรมต่าง ๆ และยังอยากใช้นามสกุลของตนเองเหมือนเดิม
สำหรับความคิดเห็นต่อความจำเป็นที่ต้องมีบุตรเมื่อแต่งงานแล้ว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.83 ระบุว่า มีความจำเป็นที่ต้องมีบุตร โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่ามีความจำเป็นต้องมีบุตรส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.50 ระบุว่าจำนวนบุตร 2 คน เพราะว่า จะได้มีคนดูแลเวลาเจ็บป่วย ยามแก่เฒ่า ไว้ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงสืบทอดวงศ์ตระกูล เพิ่มจำนวนประชากร อีกทั้งเพื่อให้สถานะทางครอบครัวครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่เกินความสามารถในการดูแลของบิดามารดา และจะได้มีพี่น้องไว้ดูแลซึ่งกันและกัน รองลงมา ร้อยละ 14.37 ระบุจำนวนบุตร 1 คน เพราะว่า จะได้มีคนดูแลเวลาเจ็บป่วย ยามแก่เฒ่า ไว้ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงสืบทอดวงศ์ตระกูล เพิ่มจำนวนประชากร ไม่เกินความสามารถในการดูแลของบิดามารดา อีกทั้งเพื่อให้สถานะทางครอบครัวครบถ้วนสมบูรณ์ ร้อยละ 12.77 ระบุจำนวนบุตร 3 คน เพราะว่า จะได้มีคนดูแลเวลาเจ็บป่วย ยามแก่เฒ่า ไว้ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงสืบทอดวงศ์ตระกูล เพิ่มจำนวนประชากร อีกทั้งเพื่อให้สถานะทางครอบครัวครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่เกินความสามารถในการดูแลของบิดามารดา และจะได้มีพี่น้องไว้ดูแลซึ่งกันและกัน ร้อยละ 7.02 ไม่ระบุจำนวนบุตร ร้อยละ 3.34 ระบุจำนวนบุตร 4 คนขึ้นไป เพราะว่า จะได้มีคนดูแลเวลาเจ็บป่วย ยามแก่เฒ่า ไว้ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงสืบทอดวงศ์ตระกูล เพิ่มจำนวนประชากร อีกทั้งเพื่อให้สถานะทางครอบครัวครบถ้วนสมบูรณ์ จะได้มีพี่น้องไว้ดูแลซึ่งกันและกัน และไม่เกินความสามารถในการดูแลของบิดามารดา แต่ร้อยละ 23.17 ระบุว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีบุตร เพราะว่า อยู่ที่สถานะความพร้อมของครอบครัว การตัดสินใจของทั้งสองคน ที่ยังต้องการความมีอิสระยังไม่อยากมีภาระ ประกอบกับปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ดี ค่าใช้จ่ายในการครองชีพสูง กลัวไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดู ในบางส่วนเห็นว่าจะมีหรือไม่มีก็ได้และบางคนมีปัญหาทางด้านสุขภาพที่ส่งผลต่อการมีบุตร อีกทั้งมีหลานให้เลี้ยงแล้ว
ในส่วนของวิธีการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวหลังจากแต่งงานแล้ว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่
ร้อยละ 69.90 ระบุว่า ปรับความเข้าใจกันก่อน ร้อยละ 17.02 ระบุว่า อดทนเพื่อคงความเป็นครอบครัว ร้อยละ 5.35 ระบุว่า เลิกรา/หย่าร้าง ร้อยละ 4.10 ระบุว่า แยกกันอยู่ ร้อยละ 2.31 ระบุว่า หาคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ย ร้อยละ 1.17 ระบุว่า ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร้อยละ 0.15 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ แล้วแต่ปัญหาความรุนแรงของแต่ละครอบครัว
เมื่อกล่าวถึงความคิดเห็นในเรื่องหน้าที่การทำงานบ้านเป็นของผู้หญิงเท่านั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.31 ระบุว่าไม่เห็นด้วย เพราะว่า ทุกคนสามารถช่วยกันทำงานบ้านได้เท่าๆ กัน ซึ่งผู้ชายสามารถทำได้ เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้หญิง และผู้หญิงทำงานนอกบ้านเหมือนผู้ชายเช่นเดียวกัน แต่ร้อยละ 22.69 ระบุว่าเห็นด้วย
ในส่วนประเด็นความคิดเห็นต่อการเป็นนักการเมืองของผู้หญิงในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 94.90 ระบุว่า ผู้หญิงเป็นนักการเมืองได้ เพราะว่า ปัจจุบันผู้หญิงมีความรู้ความสามารถ มีความเป็นผู้นำ มีสิทธิที่จะเป็นนักการเมืองเท่าเทียมกับผู้ชาย มีความละเอียดอ่อน รอบคอบ อีกทั้งมีการศึกษาสูงกว่าในสมัยก่อน และผู้หญิงอาจจะมีความคิดที่แตกต่างจากผู้ชาย ในขณะที่ร้อยละ 5.10 ระบุว่า เป็นนักการเมืองไม่ได้ เพราะว่า ผู้ชายมีความเป็นผู้นำมากกว่า ผู้หญิงไม่รู้เรื่องกฎหมายการเมือง และไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ยังมีการตัดสินใจที่ไม่เด็ดขาดในบางเรื่อง และยังมีความอ่อนแอ ขาดความกล้า
ส่วนความคิดเห็นต่อการเป็นผู้บริหารระดับสูงของผู้หญิงในองค์กรหรือหน่วยงาน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 94.46 ระบุว่า ผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูงได้ เพราะว่า ปัจจุบันผู้หญิงมีความรู้ความสามารถ มีความเป็นผู้นำ มีสิทธิที่จะเป็นได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ที่อาจจะมีความคิดที่แตกต่าง มีความละเอียดอ่อน รอบคอบมากกว่า และอีกทั้งผู้หญิงมีการศึกษาสูงกว่าในสมัยก่อน แต่ร้อยละ 5.54 ระบุว่า ผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูงไม่ได้ เพราะว่า ผู้ชายมีความเป็นผู้นำมากกว่า การตัดสินใจที่เด็ดขาดในบางเรื่องน้อยกว่าผู้ชาย ไม่เหมาะสมกับผู้หญิง มีความอ่อนแอมากกว่าผู้ชาย
เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อกรณีเมื่อผู้หญิงทุ่มเท หรือให้เวลากับการทำงานนอกบ้านมากกว่าในบ้านจะทำให้เกิดปัญหาครอบครัว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.27 ระบุว่า เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว แต่ร้อยละ 48.73 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะว่า อยู่ที่ความเข้าใจกันในครอบครัว โดยผู้ชายก็สามารถทำงานบ้านแทนผู้หญิงได้ ซึ่งงานบ้านเป็นหน้าที่ของทุกคนในครอบครัวที่ต้องช่วยกันทำ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการแบ่งเวลาของแต่ละครอบครัว ไม่จำเป็นต้องเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัว และผู้หญิงสามารถทำได้ดีทั้งงานในบ้านและนอกบ้าน
สำหรับความคิดเห็นต่อความสำเร็จในชีวิตของผู้หญิงในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.71 ระบุว่า มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ร้อยละ 24.65 ระบุว่า มีความมั่นคงทางด้านการเงิน ร้อยละ 15.27 ระบุว่า แต่งงานและมีลูก ร้อยละ 11.96 ระบุว่า เป็นเจ้าของธุรกิจหรือมีกิจการส่วนตัว ร้อยละ 8.40 ระบุว่า มีความอิสระ คล่องตัวไม่มีภาระ ร้อยละ 2.46 ระบุว่า มีโอกาสท่องเที่ยว เปิดโลกทัศน์ และร้อยละ 3.55 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ครอบครัวที่อบอุ่นมั่นคง ต้องมีองค์ประกอบหลาย ๆ ด้าน ที่ทำให้มีความสุขในการใช้ชีวิต
เมื่อถามถึงสิ่งที่ผู้หญิงในยุคไทยแลนด์ 4.0 ควรเป็นมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.08 ระบุว่า ทำงานได้ทั้งงานในบ้านและนอกบ้าน ร้อยละ 22.29 ระบุว่า มีอิสระในการตัดสินใจและพึ่งพาตนเองได้ ร้อยละ 16.81 ระบุว่า ทำงานเก่ง มีความเป็นผู้นำ (ผู้นำชุมชน, องค์กร หรือหน่วยงาน) ร้อยละ 11.88 ระบุว่า เป็นแม่บ้านแม่เรือนดูแลครอบครัวได้ ร้อยละ 5.94 ระบุว่า มีความรู้และทักษะด้านภาษาต่างประเทศและด้านเทคโนโลยี และร้อยละ 1.00 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ต้องมีหลาย ๆ แบบ อยู่ด้วยกัน
เมื่อถามถึงอาชีพของผู้หญิงในยุคไทยแลนด์ 4.0 ควรเป็นมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 23.95 ระบุว่า อาชีพด้านการรักษาสุขภาพ ร้อยละ 15.42 ระบุว่า อาชีพด้านการใช้ภาษาต่างประเทศ ร้อยละ 12.81 ระบุว่า อาชีพด้านความงาม ร้อยละ 9.33 ระบุว่า อาชีพนักกฎหมายธุรกิจ ร้อยละ 6.23 ระบุว่า อาชีพนักเขียนโปรแกรมเมอร์ ร้อยละ 3.35 ระบุว่า อาชีพนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ร้อยละ 2.96 ระบุว่า อาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเคมี ร้อยละ 1.60 ระบุว่า อาชีพเกี่ยวกับพลังงาน ร้อยละ 1.25 ระบุว่า อาชีพด้านเครื่องกลขั้นสูง ร้อยละ 1.08 ระบุว่า อาชีพที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และร้อยละ 22.02 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ทุกอาชีพที่สุจริต ตามความสามารถและความถนัด เช่น รับราชการ อาชีพอิสระ หรือธุรกิจส่วนตัว และค้าขายออนไลน์
สำหรับความคิดเห็นต่อความเท่าเทียมกันของสถานภาพทางสังคมระหว่างหญิงและชายในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.21 ระบุว่า เท่าเทียมกัน ในเรื่อง การได้รับโอกาสทางการศึกษา การใช้ชีวิตและอิสระในการตัดสินใจ สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เสรีภาพในแสดงความคิดเห็น และการทำงานประกอบอาชีพต่าง ๆ แต่ร้อยละ 19.79 ระบุว่า ไม่เท่าเทียมกัน เพราะว่า ความคิดความเชื่อค่านิยมที่ปลูกฝังมานานในเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่ และสังคมยังไม่ยอมรับความสามารถของผู้หญิง ที่ไม่สามารถทำงานหนัก อาชีพบางอย่างผู้หญิงไม่สามารถทำได้ อย่างการทำงานที่ต้องใช้กำลัง บางส่วนให้ความคิดเห็นว่า ผู้ชายยังมีสิทธิต่าง ๆ มากกว่าผู้หญิงในบางเรื่อง ยังมีการทำร้ายร่างกายผู้หญิง การปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่จะมองว่าผู้หญิงต้องทำงานบ้านและเลี้ยงลูก และผู้หญิงยังต้องทำงานมากกว่าผู้ชาย
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อโอกาสที่สังคมมีให้กับผู้หญิงเมื่อเทียบกับผู้ชาย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.52 ระบุว่า สังคมให้โอกาสเท่าเทียมกัน แต่ร้อยละ 20.48 ระบุว่า สังคมให้โอกาสผู้หญิงน้อยกว่า ในเรื่อง การทำงาน ประกอบอาชีพ การเป็นผู้นำ การมีสิทธิ เสรีภาพ การดำรงชีวิต หน้าที่ต่าง ๆ และการแสดงความสามารถ