"บิ๊กต้อง" แจ้งทหารหากมีทุกข์ให้ร้องผู้บังคับบัญชา หลังแห่โพสต์ลงโซเชียล
กลาโหม แจ้งหากทหารมีปัญหาร้องทุกข์ได้ที่ผู้บังคับบัญชา ชี้หากนายเพิกเฉยและร้องทุกข์เท็จมีโทษทางวินัยทหาร-หลังพลทหารแห่ร้องทุกข์ผ่านโซเชียล
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุว่า จากกรณีมีการนำเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ของทหาร ผ่านโซเชียลเดียมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นวิวัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารที่สังคมสามารถรับรู้ความจริงได้เร็วขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กองทัพ ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เป็นหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงในการสอบสวน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยไม่ได้เพิกเฉย
สำหรับการร้องทุกข์ของทหารทุกระดับนั้น ในหลักการได้เปิดช่องให้สามารถกระทำได้ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 ซึ่งการปกครองบังคับบัญชาทหารและการดำรงรักษาวินัย ผู้บังคับบัญชาบางคน อาจใช้อำนาจในทางที่ผิดยุติธรรม ผิดกฎหมาย หรือผิดแบบธรรมเนียมทหาร มีผลให้ผู้ร้องทุกข์ไม่ได้รับประโยชน์หรือสิทธิที่ควรจะได้รับ
โดยหากไม่ทราบว่า ตนได้รับความเดือดร้อนจากผู้ใด ให้ร้องทุกข์กับผู้บังคับบัญชาโดยตรง หรือหากได้รับความเดือดร้อนจากผู้บังคับบัญชาตนเอง ให้ร้องทุกข์กับผู้บังคับบัญชาสูงถัดขึ้นไป
ทั้งนี้ภายใน 15 วัน หากยังไม่ได้รับการชี้แจง ให้สามารถร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาสูงถัดไปเป็นลำดับอีก เพื่อการสั่งการไต่สวนและแก้ความเดือดร้อน
ทั้งนี้ ได้กำหนดไว้ชัดเจนให้ผู้บังคับบัญชาที่ได้รับเรื่องร้องทุกข์ จะเพิกเฉยไม่ได้เด็ดขาด ต้องรีบไต่สวนแก้ไขความเดือดร้อนและชี้แจงโดยเร็ว หากเพิกเฉย นับว่ากระทำผิดต่อวินัยทหาร หรือหากการร้องทุกข์อันเป็นเท็จ ผู้ร้องทุกข์ ต้องมีความผิดต่อวินัยทหารเช่นกัน
นอกจากนั้น กระทรวงกลาโหมและทุกเหล่าทัพ ได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียนร้องทุกข์ สำหรับประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยสามารถทำการร้องทุกข์ได้ตลอดในเวลาราชการ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะดำเนินการต่อเนื่องทันที และจะดำรงการติดต่อและแจ้งผลการไต่สวน เมื่อได้ข้อยุติ
ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมไม่มีนโยบายปกป้องกำลังพลที่กระทำผิดในทุกกรณี โดยจะดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญา หากเกี่ยวข้อง
“ขอยืนยันว่า กระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ที่ได้รับ จนได้ข้อยุติในทุกเรื่อง และขอให้เชื่อมั่นในสถาบันกองทัพ ด้วยการนำข้อมูลที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกิจการทหาร ส่งตรงถึงแต่ละเหล่าทัพ ตามช่องทางที่กำหนด เพื่อให้ได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องจากกองทัพ และส่วนราชการของกระทรวงกลาโหมโดยตรง โดยไม่เกิดช่องว่างให้มีกลุ่มบุคคลตัวกลาง นำไปสร้างภาพแอบแฝง และแสวงประโยชน์ บิดเบือน เชื่อมโยงข้อมูลอันเป็นเท็จ สร้างความสับสนให้กับสังคมต่อภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของกองทัพ”