กสทช.คลอดเกณฑ์คุมวิทยุชุมชน
กสทช. ออกหลักเกณฑ์จัดระเบียบวิทยุ 7,000 แห่งทั่วประเทศ คาดประกาศในราชกิจจานุเบกษาเดือน ส.ค.
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมกสท.เห็นชอบผ่านร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง เพื่อจัดระเบียบ วิทยุกระจายเสียงของประเทศไทยเข้าเตรียมความพร้อมสู่การออกใบอนุญาต หรือ ไลเซ่นส์ กิจการกระจายเสียง
ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวนำเอากลุ่มวิทยุชุมชนที่ได้รับไลเซ่นส์ทดลองออกอากาศชั่วคราวก่อนหน้านี้รวม 7,000 แห่งเข้าสู่หลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยแบ่งการทดลองการประกอบกิจการออกเป็น 3 ประเภท คือ บริการสาธารณะ บริการชุมชน และ บริการทางธุรกิจ โดยจะนำร่างดังกล่าวเข้าสู่การรับฟังความเห็นสาธารณะ หรือ ประชาพิจารณ์ ในเดือน ก.ค. และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเดือน ส.ค.
สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายได้รับการทดลองจะมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่ต้องมีหลักเกณ์ฑ์เพื่อรองรับการดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนเข้าสู่กระบวนการออกไลเซ่นส์และประมูลไลเซ่นส์สำหรับบริการทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการภายใต้สัมปทานเดิมจำนวน 500 รายไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ดังกล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังกำหนดให้ต้องขออนุญาตนำเข้ากล่องรับสัญญาณ หรือ เซท ท็อป บ๊อกซ์ ซึ่งครอบคลุมเฉพาะผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีเท่านั้นแต่ไม่รวมถึงผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.เป็นต้นไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่จะจำหน่ายเซ็ท ท็อป บอกซ์ ต้องขออนุญาตการนำเข้าจากกสทช. เช่น จีเอ็มเอ็ม แซท ทรู วิชั่นส์ พีเอสไอ ดีทีวี สามารถ คอร์ปอเรชั่น
พ.อ.นที กล่าวว่า บอร์ดยังจะเร่งประกาศรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงาน หรือ โรดแมป ในการประมูลไลเซ่นส์ระบบทีวีดิจิตอล ภาคพื้นดินอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย 4 รูปแบบ คือ ใบอนุญาตผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน ใบอนุญาตผู้ให้บริการโครงข่าย ใบอนุญาตผู้ใช้คลื่นความถี่หรือผู้ให้บริการช่องรายการ และ ใบอนุญาตบริการเสริมบนโครงข่าย โดยใบอนุญาตผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทีวีดิจิตอล อาจมี 1-2 ราย ส่วนผู้ให้บริการโครงข่ายมี 2-3 ราย ส่วนใบอนุญาตผู้ใช้คลื่นความถี่หรือผู้ให้บริการช่องรายการ จะมีจำนวน 40-50 ราย
ทั้งนี้ คาดว่าจะออกใบอนุญาตได้ตั้งแต่ปลายปีนี้ และเริ่มให้บริการได้ในต้นปี 2556 รวมทั้งจะนำคลื่นความถี่ในระบบยูเอชเอฟ ที่มีอยู่มาประมูล โดยไลเซ่นส์ 1 ใบจะใช้คลื่นความถี่กว่า 100 เมกะเฮิร์ตซ และยังต้องมีคลื่นบางส่วนที่สามารถใช้ร่วมกันได้ ซึ่งกสทช.จะต้องพิจารณารายละเอียดในเรื่องนี้ เพราะบางช่องอาจต้องประมูลร่วมกัน รวมถึงการกำหนดด้วยว่าผู้ประกอบการ 1 รายสามารถมีคลื่นความถี่ในครอบครองได้เท่าไร