สสส.จับมือ ทต.เกาะสีชัง รณรงค์ 'สร้างภูมิ คุ้มนิเวศ' รับมือโลกร้อน
สสส. ร่วมกับ ทต.เกาะสีชัง ขับเคลื่อนรณรงค์ “สร้างภูมิ คุ้มนิเวศ” รับมือโลกร้อน ส่งขยะกลับบ้าน ชี้อนุรักษ์ ฟื้นฟู ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยสนับสนุนระบบสุขภาพ สร้างวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หวัง “สีชังโมเดล” ต้นแบบขยายผลจัดการขยะในพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2561 ที่เทศบาลตำบลเกาะสีชัง อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก3) ร่วมกับเทศบาลตำบลเกาะสีชัง ขับเคลื่อนรณรงค์ “สร้างภูมิ คุ้มนิเวศ” (Eco Cobuild) ปฏิบัติการชุมชนภิวัฒน์รับมือภาวะโลกร้อน : ส่งขยะกลับบ้าน โดยมีนายอำเภอเกาะสีชัง ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวเปิดงานกิจกรรมรณรงค์ ร่วมด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมกิจกรรมรณรงค์ประมาณ 600 คน
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบนิเวศชุมชนจากฐานคิด “ต้องอนุรักษ์และฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า ให้เป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อดิน น้ำ ป่า สมบูรณ์จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างระบบอาหารปลอดภัย และช่วยป้องกันการเกิดภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการบริหารจัดการขยะชุมชนให้เหมาะสมจะนำไปสู่การสร้างทางเลือกพลังงานหมุนเวียน และจะเป็นการป้องกันความเสื่อมโทรมและเสียหายให้แก่ระบบนิเวศชุมชน เป็นการปรับตัว (Adaptation) และการบรรเทา(Mitigation) ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ภาวะโลกร้อน) โดยชุมชนท้องถิ่น สำหรับกิจกรรม “สร้างภูมิ คุ้มนิเวศ” ปฏิบัติการชุมชนภิวัฒน์รับมือภาวะโลกร้อน ประกอบด้วย กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการรักษาสภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่า การจัดการขยะชุมชน พลังงานหมุนเวียน อาหารปลอดภัย และภัยพิบัติ เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก ความร่วมมือ การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนระบบสุขภาพ และสร้างวิถีการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Friendly) ของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สสส. กล่าวว่า การจัดการขยะของเทศบาลตำบลเกาะสีชังถือเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการขับเคลื่อนดำเนินการอย่างแท้จริง ดังความที่สอดคล้องกับ “ปฏิญญาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ประจำปี 2561” ประการที่หนึ่ง “ร่วมกันทบทวนปฏิบัติการตนเองและสร้างรูปธรรมตามศาสตร์ของพระราชา” ว่าด้วย การปฏิรูประบบปฏิบัติการเพื่อการปกปักรักษาและการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศชุมชน ประการที่สอง “สานและเสริมพลังกับหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมาย” และประการที่สาม “ผลักดันให้ข้อเสนอและชุดความรู้จากการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยชุมชนท้องถิ่น”
นายสมพร กล่าวต่อว่า มนุษย์ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่ สิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนสุขภาพ (Supportive Environments for Health) ที่เกิดจากความร่วมมือกันในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับโลก ดังเช่นความร่วมมือหรือปฏิบัติการการบริหารจัดการระบบนิเวศชุมชนของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เป็นผลให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการขับเคลื่อนรณรงค์ วิเคราะห์ทุนทางสังคมด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการวางแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนรณรงค์ พัฒนาต้นแบบการจัดการขยะ และขยายผลการจัดการขยะในพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกของการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ภาวะโลกร้อน) โดยชุมชนท้องถิ่น โดยมุ่งหวังว่า ทั้ง 3 กิจกรรมปฏิบัติการขับเคลื่อนรณรงค์สร้างภูมิ คุ้มนิเวศจะเป็นส่วนหนึ่งของการจุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังจากทุกภาคส่วนภายในชุมชนท้องถิ่นให้ร่วมกันขับเคลื่อนเสริมสร้างขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะในพื้นที่ทะเลอันดามัน แม่น้ำ ลำธาร คลอง และพื้นที่อื่น ๆ ภายในชุมชนท้องถิ่นต่อไป
ด้านนายดำรงค์ เภตรา นายกเทศมนตรีตำบลเกาะสีชัง กล่าวว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยของเทศบาลตำบลเกาะสีชัง มาจาก 3 ส่วน คือ 1 ขยะมูลฝอยบนบก 2 ขยะมูลฝอยทะเลในเขตเทศบาลตำบลเกาะสีชัง 3 ขยะมูลฝอยในทะเลที่อยู่นอกเขตเทศบาลเกาะสีชัง รวมมีปริมาณขยะที่ต้องบริหารจัดการประมาณ 20 ตันต่อวัน หรือ 600 ตันต่อเดือน จากการดำเนินการที่ผ่านมา เทศบาลเกาะสีชังสามารถที่จะพัฒนารูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยได้เป็นระบบมากขึ้น มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนเกาะสีชัง ซึ่งชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะสีชัง จิตอาสาอำเภอเกาะสีชัง สภาเด็กเทศบาลตำบลเกาะสีชัง กลุ่มเยาวชนโรงเรียนเกาะสีชัง อสม.อำเภอเกาะสีชัง เป็นต้น โดยทุกภาคส่วนเป็นกลไกสำคัญของการมีส่วนร่วมของการจัดการขยะ
สำหรับการขับเคลื่อนรณรงค์ “สร้างภูมิ คุ้มนิเวศ” (Eco Cobuild) ปฏิบัติการชุมชนภิวัฒน์รับมือภาวะโลกร้อน : ส่งขยะกลับบ้าน ที่เป็นความร่วมมือกับทางสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นับได้ว่าเป็นกลไกการขับเคลื่อนในการปกป้องระบบนิเวศชุมชนโดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนาโดยได้มีการวางแผนกิจกรรมรณรงค์ไว้ 3 กิจกรรมประกอบด้วย 1) การเก็บขยะพื้นที่ชายฝั่ง โดยผู้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ บริเวณพื้นที่ชายหาดถ้ำพัง 2)การจับขยะพื้นที่ทะเล โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้าน และภูมิปัญญาความเข้าใจเรื่องทิศทางลมบริเวณชายฝั่งของชาวประมงพื้นบ้าน,ชมรมเรือเล็กดำเนินการลาก ล้อม จับขยะบนผิวน้ำบริเวณเกาะสีชัง และ 3) การส่งขยะกลับขยะบ้าน โดยผู้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ ร่วมกันลำเลียงขยะไปยังศูนย์กำจัดขยะเทศบาลตำบลเกาะสีชัง เพื่อคัดแยกและกำจัดให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล