ภาคประชาสังคม 25 องค์กร ยันไม่เอาการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน +6 ค้านเข้า CPTPP
ภาคประชาสังคม 25 องค์กร ยันไม่เอาการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน +6 และค้านการเข้า CPTPP ชี้กระทบสังคมรุนแรง เอื้อประโยชน์ระยะสั้นให้นายทุน หนุนแก้รัฐธรรมนูญให้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคม 25 องค์กรประชุมร่วมกันเพื่อศึกษาเนื้อหาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หรือ ASEAN+6 และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) พร้อมแถลงจุดยืนของภาคประชาสังคมต่อเรื่องดังกล่าว ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางอมรรัตน์ ทองพัฒน์ ตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) อ่านแถลงการณ์จำนวน 6 ข้อว่า
1.ภาคประชาสังคมขอให้ยุติการเจรจา RCEP และความพยายามในการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เพราะเนื้อหาส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนและสังคม อีกทั้งกระบวนการเจรจายังเป็นไปอย่างปิดลับและกีดกันการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพียงเพื่อประโยชน์การค้าระยะสั้นๆ ของกลุ่มทุนบางกลุ่ม
2.ความตกลงการค้าเสรีใดๆ ที่จะเกิดขึ้นต้องอยู่ภายใต้เนื้อหาความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาในองค์การการค้าโลกเท่านั้น โดยจะต้องไม่รับเนื้อหาใดๆ ที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ หรือที่เรียกว่า TRIPs+ ทั้งในเนื้อหาที่เกี่ยวกับยาที่จะกระทบกับระบบหลักประกันสุขภาพ พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ที่จะกระทบกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเกษตรกร ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ที่จะกระทบการเข้าถึงความรู้ในอินเทอร์เน็ต สิทธิพลเมือง และสิทธิส่วนบุคคล
3.กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ในบทที่ว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนนั้นจะต้องไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องในมาตรการที่เกี่ยวกับมาตรการทางด้านสาธารณสุข มาตรการควบคุมยาสูบและแอลกอฮอล์ สิ่งแวดล้อม การเข้าถึงความรู้ และความมั่นคงทางสังคม เพื่อให้รัฐยังสามารถทำหน้าที่กำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมได้
4.ความตกลงการค้าเสรีใดๆ ต้องไม่มีเนื้อหาที่จะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และยังคงบทบาทของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการจัดบริการเพื่อประโยชน์สาธารณะ
5.ความตกลงการค้าเสรีใดๆ ต้องไม่ขัดกับหลักการปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง สิทธิสตรี สิทธิเด็ก เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิทธิชุมชน รวมทั้งกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีอยู่ รวมทั้งเป็นไปตามคำมั่นที่ให้ไว้ต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
6.‘รัฐบาลรัฐประหาร’ ไม่มีหน้าที่และไม่มีความชอบธรรมที่จะไปทำความตกลงการค้าเสรี อันมีผลผูกพันชั่วลูกหลาน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่เป็นประชาธิปไตยต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐสภา อย่างแท้จริง ซึ่งต้องระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก่อนที่จะไปเริ่มเจรจาความตกลงระหว่างประเทศใดๆ
ทั้งนี้ ตัวแทนภาคประชาสังคมไทยจะไปอ่านแถลงการณ์นี้ในการประชุมร่วมนักเจรจา 16 ชาติ RCEP กับภาคประชาสังคมที่จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม นี้ เวลา 14.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ ระหว่างการเจรจาที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
สำหรับเครือข่ายภาคประชาสังคม 25 องค์กร ประกอบด้วยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายแรงงานนอกระบบ, เครือข่ายผู้หญิงไม่เอา RCEP, ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ, กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch), สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้, โครงการส่งเสริมสิทธิชุมชนในที่ดินและทรัพยากร
เครือข่ายจับตาโลกร้อน (CLIMATE WATCH THAILAND), เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิสุขภาพไทย, สมัชชาคนจน, สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, People Go Network, กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)