ลุยพิสูจน์! วัดประสิทธิเวช จ.นครนายก รุก-ไม่รุก แม่น้ำ? ข้อสังเกตในคำบอกเล่า
สำนักข่าวอิศราลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริง ปมวัดประสิทธิเวช จ.นครนายก ถูกร้องสร้าง กุฏิ ศาลา ยื่นในแม่น้ำ คลองสาธารณะ ฟังคำบอกเล่า นายอำเภอ กำนัน ผู้นำท้องที่อ้างอยู่มานานมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จุดอ่อนขาดเอกสารหลักฐานยืนยัน
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ได้รับการร้องเรียนกรณี วัดประสิทธิเวช ต.บางปลากด อ.องครักษ์ จ.นครนายก ได้ ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ กุฏิ ศาลากลางน้ำ รวมถึงสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ล้ำเข้าไปยังคลองลึกและแม่น้ำบางปลากดทั้ง 2 ด้านว่า มีการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ และในส่วนของพื้นที่ที่ดูเหมือนยื่นไปในแม่น้ำและคลองทั้งสองด้นมีการเอกสารสิทธิ์หรือไม่ รวมทั้ง ขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือไม่
ต่อมาวันที่ 17 ก.ค. 2561 เรือโทภัทรชัย ขันธหิรัญ นายอำเภอองครักษ์ นายกวี ยามเย็น กำนันตำบลบางปลากด และผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดนครนายก (เจ้าตัวของสงวนชื่อ) ร่วมกันชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสำนักข่าวอิศรา ณ ที่ว่าการอำเภอองครักษ์ หลังจากนั้น เรือโทภัทรชัย ขันธหิรัญ พาผู้สื่อข่าวเดินทางไปดูข้อเท็จจริงที่วัดประสิทธิเวช ตามข่าวที่เสนอก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ:เปิดที่ว่าการอำเภอฯแจง‘อิศรา’ กุฏิ ศาลาวัดดัง จ.นครนายก เปล่ารุกแม่น้ำ-งัดภาพเก่ายัน)
สำนักข่าวอิศรานำข้อมูลรายละเอียดจากการลงพื้นที่มารายงานให้สาธารณะทราบดังนี้
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปถึงที่ว่าการอำเภอองครักษ์เวลาประมาณ 13.30 น. ได้พบกับนายอำเภอองครักษ์ วและพาผู้สื่อข่าวไปพบกำนันตำบลบางปลากดและผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครนายกเพื่อร่วมชี้แจงข้อกล่าวหาว่าวัดรุกล้ำคลองและแม่น้ำสาธารณะ โดยทางนายอำเภอได้ให้ผู้สื่อข่าวดูหลักฐานยืนยันการสอบปากคำชาวบ้านสูงอายุซึ่งอาศัยอยู่บริเวณรอบวัดประมาณ 10 คน ซึ่งทุกคนต่างให้การตรงกันว่าต่างเห็นกุฏิริมน้ำของวัดซึ่งเป็นประเด็นร้องเรียนมาตั้งแต่ตอนที่ตนยังเป็นเด็ก ไม่ได้เพิ่งมีการสร้างรุกล้ำตามที่ถูกร้องเรียนแต่อย่างใด ซึ่งกำนันตำบลบางปลากดซึ่งเป็นคนในท้องที่ต่างยืนยันเช่นเดียวกัน และทางผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครนายกได้ยกข้อกฏหมายของกรมที่ดินขึ้นมาชี้แจงซึ่งระบุว่าวัดที่ปลูกสร้างและได้รับที่ดินก่อนประมวลกฏหมายที่ดิน พ.ศ. 2495 ประกาศใช้ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องขอสิทธิ์ที่ดินต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีก รวมถึงได้ยกคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับหนึ่งซึ่งระบุว่าถึงแม้วัดจะไม่มีเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดินก็สามารถใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในการอ้างสิทธิ์ครอบครองที่ดินได้
ต่อมานายอำเภอองครักษ์ กำนันตำบลบางปลากด และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครนายกได้พาผู้สื่อข่าวไปยังวัดประสิทธิเวชเพื่อตรวจสอบสถานที่จริงว่ามีการรุกล้ำหรือไม่ เมื่อไปถึงวัดทั้ง 3 คน ได้พาผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบยังบริเวณกุฏิริมน้ำที่เป็นประเด็นร้องเรียน และพาผู้สื่อข่าวไปสำรวจยังบริเวณกุฏิริมน้ำที่ถูกร้องเรียนพร้อมทั้งชี้แจงว่ากุฏิดังกล่าวเป็นกุฏิเก่าซึ่งถูกบูรณะจนดูใหม่ โดยดูจากภายในกุฏิซึ่งยังมีบางส่วนเป็นไม้เก่า ๆ รวมถึงเสาค้ำบางเสาเช่นกัน ซึ่งจากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวยังพบว่ามีบริเวณที่ถูกสร้างด้วยไม้เก่า ๆ ตามที่คณะของนายอำเภอฯได้ชี้แจง
หลังจากนั้นคณะของนายอำเภอฯได้พาผู้สื่อข่าวไปพบเจ้าอาวาสเพื่อสอบถามข้อมูลและได้นำภาพเก่าแก่ของทางวัดเพื่อยืนยันว่าวัดอยู่ที่บริเวณนี้มาเป็นเวลานานแล้วรวมถึงกุฏิริมน้ำซึ่งถูกร้องเรียนก็ถูกสร้างมายาวนานแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางวัดยืนยันว่าสิ่งก่อสร้างดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดซึ่งก่อสร้างมานานแล้ว แต่สิ่งอาจเป็นจุดอ่อนไหวก็คือ บุคคลภายนอกยังไม่มีใครทราบอย่างแท้จริงว่า วัดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินของวัด อาทิ น.ส.3 ก. หรือโฉนด กี่แปลงกี่ไร่ ครอบคลุมบริเวณใดบ้างและพื้นที่ที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์มีหรือไม่กี่ไร่ เพราะการใช้หลักฐานซึ่งไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ อาทิ จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ภาพถ่ายเก่า มีความเที่ยงตรงและแม่นยำมากน้อยเพียงใด เนื่องจากความทรงจำของผู้บอกเล่าเมื่อผ่านเวลานานอาจจะไม่สมบูรณ์เที่ยงตรงทั้งหมด รวมถึงการใช้หลักฐานจากภาพถ่ายเก่าอาจจะมีคำถามว่าถ่ายไว้เมื่อไหร่ อาจจะไม่สามารถใช้อ้างอิงถึงสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ภายในภาพได้ ขณะเดียวกันคำบอกเล่า ทางประวัติศาสตร์ ก็อาจไม่สามารถบ่งชี้ หลักเขตที่ดินได้อย่างชัดเจน เท่าเอกสารหลักฐานในเอกสารสิทธิ์ ดังนั้นการรังวัดที่ดินเพื่อขอเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินจึงน่าจะเป็นวิธีที่เที่ยงตรงและแม่นยำในการใช้อ้างอิง เป็นหลักฐานถึงกรรมสิทธิ์มากกว่าหรือไม่?
ทั้งหมด เป็นข้อมูล และ ข้อสังเกตจากที่ได้ร่วมเดินทางลงพื้นที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงตามการร้องเรียนมายังสำนักข่าวอิศรา เป็นการทำหน้าที่โดยปกติของสื่อมวลชน
ในส่วนของวัด ด้านหนึ่งเป็นศาสนสถานประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของผู้เลื่อมใสศรัทธา แต่หากมีข้อสงสัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ ย่อมถูกตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ภายใต้หลักธรรมาภิบาล
ดังนั้นน่าจะมีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบให้สิ้นกระแสความหรือไม่?
อ่านประกอบ:
เปิดที่ว่าการอำเภอฯแจง‘อิศรา’ กุฏิ ศาลาวัดดัง จ.นครนายก เปล่ารุกแม่น้ำ-งัดภาพเก่ายัน