เปิดสถิติคนไทยตายจากเชื้อดื้อยา หลังพบยาปฏิชีวนะตกค้างใน ‘อก-ตับไก่’ กว่า 40%
กรมปศุสัตว์ยันรัฐเฝ้าระวังยาปฏิชีวนะในสัตว์เข้มงวดทั้งวงจร ขอปชช.ไม่ตื่นตระหนก หลัง มพบ.พบสารตกค้างในอกไก่-ตับไก่สด เผยร่วมกับ สธ. ขับเคลื่อนเเผนปฏิบัติการจัดการดื้อยาต้านจุลชีพ ปี 60-64 หวังป้องกันในอุตฯ ปศุสัตว์
เล่นเอาผู้บริโภคหลายคนแอบหวั่น ๆ กรณีนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) สุ่มตรวจพบการตกค้างของสารปฏิชีวนะในเนื้ออกไก่และตับไก่สด จำนวน 26 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 41.93 จากทั้งหมด 62 ตัวอย่าง ซึ่งยาปฏิชีวนะในสัตว์จะส่งผลกระทบต่อร่างกายทำให้เกิดอาการดื้อยา แพ้ยา และอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ พร้อมกันนี้ยังมีเรียกร้องไปยังกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องบังคับใช้แผนปฏิบัติการในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม (อ่านประกอบ:ฉลาดซื้อ พบเนื้อไก่-ตับไก่สด กว่าร้อยละ 40 มียาปฏิชีวนะตกค้าง)
เวลาต่อมา กรมปศุสัตว์ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า มีการเฝ้าระวังยาปฏิชีวนะและสารตกค้างอย่างเข้มงวดทั้งวงจร จึงขอให้ผู้บริโภคไม่ตื่นตระหนกกับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ แต่เพื่อความมั่นใจได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง และแนะนำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการ “การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ.2560-2564” เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและกำกับดูแลการใช้ยาปฎิชีวนะอย่างเหมาะสมในภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์แล้ว
สำหรับแผนปฏิบัติการฯ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในส่วนการป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกํากับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง จัดอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 4 จากทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์
โดยภายในปี 2564 จะต้องบรรลุวัตถุประสงค์ ต้องมีอัตราการป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 การใช้ยาต้านจุลชีพสําหรับมนุษย์และสัตว์ลดลงร้อยละ 20 และ 30 ตามลําดับ ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยา และตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และประเทศไทยต้องมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล
ทั้งนี้ ข้อมูลสถานการณ์ยังระบุว่า ทั่วโลกมีการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 คน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา คาดว่าใน พ.ศ. 2593 (หรือ 34 ปีข้างหน้า) การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน โดยประเทศในทวีปเอเชียจะมีคนเสียชีวิตมากที่สุด คือ 4.7 ล้านคน คิดเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึงประมาณ 3.5 พันล้านล้านบาท (100 trillion USD)
ขณะที่สําหรับประเทศไทย การศึกษาเบื้องต้น พบว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณปีละ 88,000 ราย โดยเสียชีวิตประมาณปีละ 38,000 ราย คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท
“ปัญหาการดื้อยาของไทยที่สําคัญ คือ การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียแกรมลบในโรงพยาบาล เช่น Acinetobacter spp. และ Pseudomonas spp. ซึ่งเป็นสาเหตุสําคัญของการเสียชีวิตจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่เป็นปัญหาในชุมชน เช่น Escherichia coli (E. coli), Klebsiella spp. และ Neisseria gonorrhoeae (N. gonorrhoeae) และเชื้อแบคทีเรียที่เป็นปัญหาในการเลี้ยงสัตว์และในอาหาร คือ E. coli, Campylobacter spp. และ Salmonella spp. เชื้อแบคทีเรียดื้อยาทําให้ทางเลือกในการรักษามีจํากัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่ม carbapenem และ colistin ซึ่งเป็นยาด่านสุดท้ายในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา”
โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดและแพร่กระจายเชื้อดื้อยา ที่ผ่านมาพบการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาในภาคการเกษตร ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีรายงานการพบเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่ดื้อต่อยา colistin ด้วยกลไกการดื้อยาแบบใหม่ที่สามารถส่งต่อยีนดื้อยาข้ามสายพันธุ์ได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น (Plasmid-Mediated Colistin Resistance: MCR-1) ในฟาร์มปศุสัตว์ของประเทศจีน ต่อมา ธันวาคม 2558 มีรายงานว่าพบเชื้อแบคทีเรียที่มียีนดื้อยา MCR-1 ในคนและเนื้อสัตว์ในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันพบเชื้อ แบคทีเรียที่มียีนดื้อยา MRC-1 ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย
การตรวจพบการตกค้างของสารปฏิชีวนะในเนื้ออกไก่และตับไก่สดในหนนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่กรมปศุสัตว์จะนิ่งนอนใจได้ เพราะเกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้บริโภค หวังว่า จะมีการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ และนโยบายตรวจจับ รวมถึงเฝ้าระวังอย่างจริงจัง โดยไม่ใช่แค่งานอีเวนท์กลบให้กระแสตื่นรู้หมดไปเท่านั้น .
อ่านประกอบ:https://chaladsue.com/article/2885