'วิษณุ'สั่งกฤษฎีกายกร่าง5ทางออก'ไพรมารีโหวต'
'วิษณุ'สั่งกฤษฎีกายกร่าง 5 ทางออกปม"ไพรมารีโหวต" ย้ำต้องทำตามรัฐธรรมนูญม.45 กำหนดให้สมาชิกพรรคต้องมีส่วนร่วมส่งผู้สมัครส.ส. ระบุขั้นสุดท้ายให้คสช.เคาะ
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ มีกระแสวิจารณ์ว่าระบบไพรมารีโหวตขัดรัฐธรรมนูญ ว่า เริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่บัญญัติว่าต้องมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายนั้นต้องกำหนดให้สมาชิกของแต่ละพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งส.ส. ซึ่งเป็นปริศนาที่ต้องมาตีความว่าแล้วจะต้องมาทำอย่างไร เมื่อมีโจทย์ออกมาอย่างนี้ ตอนที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยกร่างกฎหมาย จึงเขียนในลักษณะที่ให้มีการประชุมสมาชิกพรรคเพื่อให้ออกความคิดเห็นหรือลงมติเลือกว่าจะส่งใครลงสมัครส.ส. ซึ่งไม่ใช่การทำไพรมารีโหวต แต่เมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กลับไม่ได้รับความเห็นด้วย แล้วจึงขยับให้มีการทำไพรมารีโหวตซึ่งในความหมายที่เข้าใจกันทั่วโลกคือการให้สมาชิกพรรคมาออกเสียงเลือกผู้สมัครส.ส. แล้วส่งไปให้พรรคคัดเลือกอีกครั้งเพื่อให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการ จึงเข้าระบบไพรมารี่ระดับเขต ซึ่งในแต่ละจังหวัดอาจมีหลายเขต
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า แม้การทำไพรมารีโหวตที่ต้องทำถาวรในอนาคตนั้นดีอยู่ แต่การจะเริ่มใช้ครั้งแรกนี้อาจมีปัญหา จึงเปลี่ยนว่าสำหรับการเลือกตั้งครั้งแรกสามารถทำเป็นไพรมารีโหวตระดับจังหวัดได้ คือไม่ต้องมีการเลือกในระดับสมาชิกของแต่ละเขต แต่ทำในระดับจังหวัดคราวเดียวแล้วส่งให้กับพรรคการเมือง ตามหลักของกรธ.จึงไม่มีคำว่าไพรมารีโหวต ขณะที่ในพ.ร.ป.พรรคการเมืองให้ทำไพรมารีโหวตระดับเขต ส่วนในบทเฉพาะกาลให้มีการทำไพรมารีโหวตระดับจังหวัด แต่เมื่อพรรคการเมืองกลัวว่าจะทำไม่ทัน จะมีภาระเรื่องค่าใช้จ่าย หรือมีปัญหาต่างๆ จึงมีพรรคที่เสนอให้ทำไพรมารีโหวตระดับภาค
ทั้งนี้ตนให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างทางออกไว้ 5 แนวทาง คือ 1.งดการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งนี้ แล้วให้ไปใช้ในครั้งต่อไป แต่วิธีนี้เป็นแบบศรีธนญชัยและเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 45 2.ทำไพรมารีโหวตระดับเขต 3.ทำไพรมารีโหวตในระดับจังหวัด ตามบทเฉพาะกาล 4.ทำไพรมารีโหวตระดับภาค ตามที่พรรคการเมืองเสนอ 5.ยังไม่ทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งนี้ แล้วใช้เต็มรูปแบบในครั้งหน้า โดยครั้งนี้ใช้วิธีอื่นที่คิดใหม่ซึ่งต้องทำให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร
ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหานี้ต้องผ่านการหารือระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมืองก่อนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่น่าจะต้องมีการหารือดังกล่าว เพราะตัดสินด้วยนโยบาย แต่นโยบายนั้น คสช.จะต้องถามถึงข้อดี ข้อเสีย และความเป็นไปได้วิธีปฏิบัติ เพราะคสช.จะสนใจว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กกต.ปฏิบัติได้หรือไม่ พรรคต่างๆจะยอมรับและปฏิบัติเองได้ ส่วนการประชุมหารือระหว่างคสช. กกต. และพรรคการเมือง รอบที่ 2 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมด้วยนั้น จะไม่มีการหารือถึงเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าเมื่อไปถึงตอนนั้น การตัดสินใจจะดำเนินการอย่างไร จะล่าช้าเกินไป.
ที่มาข่าว :https://www.dailynews.co.th/politics/655841