ทำความรู้จัก'การต่อรองการรับสารภาพ'จุดเริ่มต้นคดีบ.ญี่ปุ่นจ่ายสินบน 20ล.-เหตุเกิดที่ขนอม
"...ในปีค.ศ.2013 (2556) บริษัท Mitsubishi Heavy Industries (ชื่อบริษัทเดิมก่อนที่จะได้มีการควบรวมกับ Hitachi, Ltd. เป็น MHPS) ได้เป็นผู้รับเลือกให้เข้าทำสัญญาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทย โดยในเวลาที่ MHPS ได้ทำการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างโดยบริษัทขนส่งสัญชาติจีนลงที่ท่าเรือทางภาคใต้ของประเทศไทย เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบท่าเรือไทยก็ได้ทำการเรียกร้องให้มีการจ่ายเงินโดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมการใช้ท่าเรือ ซึ่งในปีค.ศ.2015 (2558) พนักงานของ MHPS กล่าวว่าได้มีการจ่ายไปประมาณ 60 ล้านเยนแก่บุคคลดังกล่าว..."
เมื่อเร็วๆ นี้ ในประเทศญี่ปุ่น ได้มีการต่อรองการรับสารภาพ (Plea Bargain) ระหว่างพนักงานอัยการกับบริษัทเอกชนญี่ปุ่น เนื่องมาจากข้อกล่าวหาว่าได้มีการให้สินบนเจ้าพนักงานรัฐท้องถิ่นในประเทศไทย เกี่ยวเนื่องกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนับเป็นการต่อรองการรับสารภาพครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ได้มีการเริ่มบังคับใช้กระบวนการดังกล่าว
ขณะที่สื่อมวลชนของญี่ปุ่นรายงานข่าวตรงกันว่า กรณีดังกล่าวมีข้อมูลส่วนหนึ่ง เชื่อมโยงถึงการที่สำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียว ได้สืบสวนบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS ในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ในการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ทางการของประเทศไทย เกี่ยวกับงานโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในประเทศไทย โดยมีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ได้ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ทางการของไทย ผ่านนายหน้ารายหนึ่ง เป็นมูลค่ากว่า 60 ล้านเยน หรือราว 20 ล้านบาท แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเรื่องนี้เป็นทางการ
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า การต่อรองการรับสารภาพ เป็นกระบวนการอย่างหนึ่ง ที่ผู้ต้องหาหรือบุคคลอื่นซึ่งตกอยู่ภายใต้การสอบสวนได้ให้การหรือพยานหลักฐานใด ๆ ของบุคคลที่สามแก่เจ้าหน้าที่เพื่อแลกเปลี่ยนกับการลดโทษที่ตนอาจต้องถูกลงตามกฎหมาย ซึ่งสำนักงานอัยการญี่ปุ่นอาจดำเนินคดีทางอาญาแก่พนักงานของบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการแข่งขันไม่เป็นธรรม โดยบริษัทได้ร่วมมือกับอัยการในการสืบสวนสอบสวน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่บริษัทจะไม่ต้องถูกดำเนินคดีเสียเอง
สำหรับกรณี บริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด มีการระบุข้อมูลว่า บริษัทชั้นนำด้านการผลิตอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีที่ตั้งหลักอยู่ที่เมืองโยโกฮาม่า
ทั้งนี้ ในปีค.ศ.2013 (2556) Mitsubishi Heavy Industries (ชื่อบริษัทเดิมก่อนที่จะได้มีการควบรวมกับ Hitachi, Ltd. เป็น MHPS) ได้เป็นผู้รับเลือกให้เข้าทำสัญญาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทย โดยในเวลาที่ MHPS ได้ทำการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างโดยบริษัทขนส่งสัญชาติจีนลงที่ท่าเรือทางภาคใต้ของประเทศไทย เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบท่าเรือไทยก็ได้ทำการเรียกร้องให้มีการจ่ายเงินโดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมการใช้ท่าเรือ ซึ่งในปีค.ศ.2015 (2558) พนักงานของ MHPS กล่าวว่าได้มีการจ่ายไปประมาณ 60 ล้านเยนแก่บุคคลดังกล่าว
ต่อมาเมื่อบริษัทได้รับทราบเรื่องราวดังกล่าวจากผู้แจ้งเบาะแส จึงได้มีการดำเนินการสืบสวนสอบสวนภายใน และได้ทำการสรุปว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันฝ่าฝืนกับกฎหมายป้องกันการแข่งขันไม่เป็นธรรม ซึ่งต้องห้ามมิให้มีการให้สินบนเจ้าพนักงานรัฐในต่างประเทศ หลังจากนั้นบริษัทได้เปิดเผยเรื่องราวดังกล่าวให้แก่พนักงานอัยการทราบโดยสมัครใจ
จนกระทั่งในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการญี่ปุ่นได้ทำการต่อรองกับบริษัท และทั้งสองฝ่ายต่างได้ทำการลงนามในสัญญาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเรื่องการต่อรองการรับสารภาพ ทั้งสองฝ่ายมีความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว
ทั้งนี้ กฎหมายป้องกันการแข่งขันไม่เป็นธรรมฉบับดังกล่าว นอกจากจะได้มีการบัญญัติให้เอาผิดแก่พนักงานบริษัทผู้กระทำความผิดได้แล้ว ยังบัญญัติให้ความรับผิดนั้นครอบคลุมไปถึงตัวบริษัทเองด้วย โดยโทษตามกฎหมายนั้นอาจมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 ล้านเยน หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับตัวบุคคล และโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 300 ล้านเยนสำหรับบริษัท (ที่มา: http://the-japan-news.com/news/article/0004585107)
ส่วนข้อมูลความเคลื่อนไหวของประเทศไทยนั้น ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกจนพบว่า กรณีการจ่ายสินบนดังกล่าว อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับกรณีการติดสินบนให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครศรีธรรมราช เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนเครื่องจักรขึ้นท่าเรือที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4
โดยจากการขยายผลข้อมูลข่าวกรณีการจ่ายสินบนดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกิจของบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่บริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ในญี่ปุ่น จะถูกสอบสวนเรื่องการจ่ายเงินสินบนดังกล่าว พบข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2559 นายคัทซึยะ นากามูระ ตัวแทนจาก บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ปรากฎชื่อ ไปร่วมงานพิธีเปิดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าจำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ถูกระบุว่าเป็น 1 ในผู้รับเหมางานก่อสร้างในส่วนผู้ผลิตอุปกรณ์หลัก ต่างๆ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ส่วนผู้รับเหมาอีก 2 ราย คือ Mitsubishi Corporation(MC)ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรวบรวมและสรุปการดำเนินการของ กลุ่มผู้รับเหมา บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรักชั่น จำกัด (มหาชน) (STECON) ดูแลงาน โครงสร้างต่างๆ (อ่านประกอบ : เช็คโพรไฟล์ธุรกิจ MHPS ก่อนบ.แม่ญี่ปุ่น ถูกสอบปมจ่ายสินบนจนท.ไทย20ล.)
เมื่อสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครศรีธรรมราช ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่ที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 เพื่อสอบถามข้อมูลปัญหาเรื่องการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากได้รับแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าวในแวดวงพลังงานว่า กรณีดังกล่าวน่าจะเป็นการติดสินบนให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครศรีธรรมราช เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนเครื่องจักรขึ้นท่าเรือที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม เพราะบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ฯ มีส่วนรับผิดชอบในการผลิตอุปกรณ์หลักต่างๆ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งต้องมีการขนส่งอุปกรณ์เข้ามาใช้ในการดำเนินงานโครงการนี้
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครศรีธรรมราชรายหนึ่ง ว่า เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว แต่ไม่ทราบรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก เพราะเป็นเรื่องระดับฝ่ายบริหาร
ขณะที่นาวาโท สาธิต ชินวรณ์ อดีตผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันย้ายไปเป็นผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคตรัง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า "เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของป.ป.ช.แล้ว ผมคงไม่สามารถพูดอะไรได้มาก เป็นเรื่องธุรกิจที่มันค่อนข้างซับซ้อน และผมก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย"
นอกจากนี้ข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่งที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยัน คือ เกี่ยวกับคดีสินบน 20 ล้านบาทบริษัทญี่ปุ่นดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการต่างประเทศ ของ ป.ป.ช. ที่ได้รับการประสานงานให้ตรวจสอบเรื่องนี้โดยตรง และที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะอนุไต่สวนขึ้นมาสอบสวนเรื่องนี้เป็นทางการหลายเดือนแล้ว (อ่านประกอบ : ชัดแล้ว! สินบน20ล.บ.ญี่ปุ่น โยงงานขนส่งโรงไฟฟ้าขนอม-ป.ป.ช.ตั้งอนุฯ ลุยสอบสนง.เจ้าท่านครศรีฯ )
ทั้งนี้ ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับมาจากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกทั้งหมด สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนล่าสุดกรณีกระแสข่าวเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบน 20 ล้านบาทจากบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ประเทศญี่ปุ่น (MHPS) ว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นแล้วว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประมูลโรงไฟฟ้าแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการขนส่งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกำเนิดโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ก็ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าอุปกรณ์ดังกล่าวนำมาใช้กับกับโรงไฟฟ้าที่ใดซึ่งจะได้ข้อสรุป 1-2 วันนี้
“ก็ขอย้ำว่าไม่เกี่ยวกับการประมูลโรงไฟฟ้า แต่เป็นเรื่องของการขนส่งอุปกรณ์ที่มีการจ่ายสินบน แต่ก็คงต้องดูว่ามาใช้กับโรงไฟฟ้าใดเพราะการนำเข้ามาก่อสร้างอยู่ในช่วง ส.ค. 2556 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งทั้งหมดก็เป็นข้อมูลที่มาจากฝ่ายญี่ปุ่นเอง เราก็ให้ กฟผ.และบริษัทในเครือ กฟผ.ไปตรวจสอบอีกครั้ง แต่ก็ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องหรือเข้าข่ายทุจริตจ่ายสินค้าแต่อย่างใด” นายศิริกล่าว
ส่วนผลการตรวจสอบเชิงลึกต่อกรณีนี้ ของหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเป็นอย่างไรนับจากนี้ จะสามารถหาตัวเจ้าหน้าที่ทางการไทยที่เรียกรับสินบนมาลงโทษตามกฎหมายได้หรือไม่ เส้นทางเงินสินบนเชื่อมโยงไปถึงใครบ้าง?
คงต้องติดตามดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิดแบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด!!
อ่านประกอบ :
ผู้บริหารฯ ยังไม่ชี้แจงอะไร! เปิดตัวบ.MHPS ก่อนบริษัทแม่ญี่ปุ่น ถูกสอบจ่ายสินบนจนท.ไทย20ล.
เช็คโพรไฟล์ธุรกิจ MHPS ก่อนบ.แม่ญี่ปุ่น ถูกสอบปมจ่ายสินบนจนท.ไทย20ล.
กัลฟ์ฯ แจ้งตลท.ยันโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกรณี MHPS จ่ายสินบนจนท.ไทย
ชัดแล้ว! สินบน20ล.บ.ญี่ปุ่น โยงงานขนส่งโรงไฟฟ้าขนอม-ป.ป.ช.ตั้งอนุฯ ลุยสอบสนง.เจ้าท่านครศรีฯ