สปสช.แจงทิศทางบริหารกองทุนบัตรทองปี 62 เพิ่มสิทธิ ปรับเบิกจ่าย หนุน รพ.ดูแล ปชช.
'ศักดิ์ชัย' แจงทิศทางบริหาร “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2562” เน้นปรับเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการ ปรับแนวทางการเบิกจ่ายในบางรายการ เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลในการดูแลประชาชน พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์สุขภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการจัดทำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2562 ตามที่ ครม.อนุมัติจำนวน 181,584,093,700 บาท ในปีนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบให้มีการปรับปรุงการดำเนินงานและการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อความเหมาะสมในการดำเนินงานกองทุนฯ ยิ่งขึ้น โดยประเด็นสำคัญที่ได้ปรับปรุงและเพิ่มเติม ดังนี้
บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป ได้ปรับบริการคัดกรองและตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ โดยเป้าหมายคัดกรองแต่ละพื้นที่ให้ผ่านความเห็นชอบคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) ส่วนการบริการตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ปรับให้เบิกจ่ายตามผลงานจริง (Fee schedule)
บริการผู้ป่วยในทั่วไป ปรับแนวทางการจ่ายเพื่อให้หน่วยบริการมีความมั่นใจในการบริการเพิ่มขึ้น โดยกันเงินในระดับประเทศ 100 ล้านบาทจากงบผู้ป่วยใน เพื่อปรับเกลี่ยค่าน้ำหนักสัมพันธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (AdjRW) และการกำหนดอัตราจ่ายขั้นต่ำคงตลอดทั้งปีในจำนวน 8,050 บาทต่อ AdjRW เป็นต้น
บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์วัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค ประกอบด้วยคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และไวรัสตับอักเสบบี, เพิ่มการจ่ายค่าบริการตามผลงานจริง (Fee schedule) ในรายการที่ต้องการเพิ่มการเข้าถึงบริการในหญิงตั้งครรภ์เป็น 8 รายการ ได้แก่ บริการตรวจยืนยันโลหิตจากธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์และสามี การตรวจคัดกรองดาว์นซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปี บริการป้องกันยุติการตั้งครรภ์ไม่ปลอดภัย, บริการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในเด็กแรกเกิด, บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรในผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป เป็นต้น และการปรับประสิทธิภาพบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่จะมีการปรับปรุงประกาศฉบับใหม่ เป็นต้น
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ขณะที่ในส่วนบริการเฉพาะ ปี 2562 ได้เพิ่มเติมวัคซีนพิษสุนัขบ้าในกลุ่มยาจำเป็น โดยย้ายงบจากค่าบริการผู้ป่วยนอกจำนวน 10.67 ต่อผู้มีสิทธิเพื่อดำเนินการจัดซื้อ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนนี้, เพิ่มรายการยาตามบัญชียา จ.(2) หรือยาที่มีความจำเป็นแต่มีราคาแพง จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ยาราลทิกราเวียร์ (Raltegravir) เพื่อขยายการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก และ ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดตาในจอตาอุดตัน และเพิ่มรายการถุงอุจจาระโคลอสโตมี่ (Colostomy Bag) เป็นอุปกรณ์และอวัยวะเทียมเพื่อเบิกจ่ายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงให้กับผู้ป่วย
นอกจากนี้ปี 2562 ยังได้มีการพัฒนาเพื่อดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ทั้งบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยในปีนี้จะนำร่องโครงการความร่วมมือการจัดบริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็น บริการควบคุมป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่เน้นการควบคุมภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ขณะเดียวกันยังได้มีการปรับบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว ทั้งการปรับสัดส่วนการจ่ายชดเชยบริการปฐมภูมิเพื่อสนับสนุนคลินิกหมอครอบครัวเพิ่มขึ้น (Primary Care Cluster: PCC) เพื่อสนองต่อนโยบายรัฐบาล
“การปรับปรุงการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2562 ไม่เพียงแต่เป็นการปรับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการบริหารกองทุนยิ่งขึ้น แต่ยังสนองต่อรูปแบบการบริการของหน่วยบริการที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อความครอบคลุมและทั่วถึงในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นของประชาชนผู้มีสิทธิกว่า 48 ล้านคนทั่วประเทศ” เลขาธิการ สปสช.กล่าว