'แม่ทัพฟ้า' ลั่นบินโดรน ส่อผิดพ.ร.บ.เตรียมแก้ไขกฎหมายด่วน
"บิ๊กจอม" ลั่นใช้ "โดรน-ยูเอวี" ต้องถูกกฎหมาย ชี้เป็นภัยคุกคามความมั่นคง เปรียบบินโดรนใกล้ mi-17 อาจตายยกลำ เตรียมแก้พ.ร.บ.บินโดรนจะต้องผ่านการอบรม และเคารพสิทธิผู้อื่น และผู้ฝ่าฝืนความผิดจะต้องได้รับโทษ
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 18 ก.ค. 2561 ที่หอประชุมกองทัพอากาศ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ.เป็นประธานเปิดงานเสวนา "โดรนและยูเอวีในห้วงอากาศ ความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยด้านการบิน" เพื่อสร้างการตระหนักรู้แก่ประชาชนในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่รัศมี 9 กิโลเมตรรอบสนามบิน และพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านความมั่นคง ตลอดจนสร้างเครือข่ายสอดส่องผู้กระทำความผิดและหาแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ระหว่างกลุ่มผู้เล่นโดรนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมายและความมั่นคง
พล.อ.อ.จอม กล่าวบรรยายในหัวข้อ "บทบาทกองทัพอากาศในกรณีโดรนและยูเอวีกับความมั่นคงและความปลอดภัยด้ายการบิน" ตอนหนึ่งว่าการปรากฏตัวของโดนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาไหลสู่ภาคประชาชน จนสร้างความสับสนตื่นตระหนกให้กับภาครัฐทุกชาติทั่วโลกต่อการกำกับดูแล แต่ในส่วนของทหารมีการใช้โดรนมานานเป็นเทคโนโลยีการควบคุมระยะไกลในห้วง 10- 20 ปีที่ผ่านมา โดรนเข้าสู่ภาคประชาชนทำให้เกิดความสับสนในการกำกับดูแล แม้ว่าจะเป็นเครื่องมือทางทหารเศรษฐกิจสังคมแต่ยังคุกคามทางสิทธิเสรีภาพ
พล.อ.อ.จอม. กล่าวว่า ในทางกฎหมายการกำกับดูแลห้วงอากาศของการบินพลเรือนเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมในการกำกับดูแลโดรน ในขณะที่กองทัพอากาศมีบทบาทเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.การเดินทางอากาศ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายของอากาศยาน ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานตามประกาศของกระทรวงคมนาคม
ดังนั้น โดรนต้องจดทะเบียนเป็นเครื่องเล่น ที่มีกล้องถ่ายรูปแต่ไม่มีอุปกรณ์พิเศษติดตั้ง ดังนั้นต้องพิจารณาว่าจะกำกับดูแลการบินของโดรนให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างไร และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ และโดรนเป็นภัยคุกคามทางทหาร ขณะที่ทหารใช้เป็นยุทโธปกรณ์ คุกคามข้าศึกและมีระบบต่อต้านโดรนปัจจุบันเรามีระบบป้องกันโดรนมากมาย ดังนั้นต้องกำกับดูแลจากภาครัฐให้ถูกต้องเหมาะสม
พล.อ.อ.จอม กล่าวว่า กรณีการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ว่า ยูเอวีที่สื่อนำไปถ่ายภาพมีศักยภาพสูงมากแต่การขออนุญาตบินอาจไม่ถูกต้อง บินเข้าไปใกล้อากาศยานเป็นการกระทำความผิดซึ่งอาจเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กรณีโดรนบินเข้าไปใกล้ เครื่องบิน mi 17 หากโดรนหมุนไปตีด้านท้ายเครื่องบินเชื่อหรือไม่ว่า ตายกันทั้งหมดเพราะเคยมีกรณีที่โดรนชนท้ายหางเฮลิคอปเตอร์พยาบาลต้องนำเครื่องลงฉุกเฉินเกือบเสียชีวิตทั้งลำ กรณีบินโดรนเข้าใกล้เครื่อง mi 17 ก็เช่นเดียวกัน ทั้งนี้อนาคตผู้บินโดรนต้องมีใบขับขี่ซึ่งจะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.เดินทางอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้บินโดรนต้องผ่านการอบรมและเคารพสิทธิผู้อื่น ซึ่งหากกฎหมายสมบูรณ์และมีผู้กระทำความผิดจะต้องได้รับโทษ
ในทางทหารถือว่าเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงถึงได้มีการสอยโดรนให้ร่วง หากเป็นโดรนขนาดใหญ่เหมือนกับทางทหารใช้ก็จะยิงด้วยอาวุธต่อสู้อากาศยาน การกำกับดูแลของภาครัฐถือเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากโดรนไหลสู่ประชาชนอย่างแพร่หลายจึงต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันเพื่อกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวในการใช้โดรนให้ถูกต้องตามกฎหมายไม่เป็นภาระต่อสังคม
ที่มา : https://www.thairath.co.th/content/1336793