ความท้าทาย ‘ระบบสวัสดิการ’ รัฐไทย ท่ามกลางข้อจำกัดทางการคลัง
ฉายภาพรวม "ระบบสวัสดิการ" รัฐไทย 2018 ภาวะ ความท้าทาย ภายใต้การเปลี่ยนเเปลงระบบเศรษฐกิจ เเละข้อจำกัดทางการคลัง
ระบบสวัสดิการถือเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องจัดสรรให้แก่พลเมืองของประเทศอย่างเท่าเทียม ซึ่งที่ผ่านมาขบวนการแรงงานและชนชั้นอื่น ๆ ในประเทศไทยพยายามผลักดันให้เกิดระบบสวัสดิการอย่างดีที่สุดขึ้น
คำถามเกิดขึ้นว่า แล้วภาพรวมสวัสดิการสังคมไทยในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นอย่างไร ?
มีคำตอบจากเวทีเสวนาวิชาการวาระ 100 วัน การจากไปของ ‘คุณราณี หัสสรังสี’ นักกิจกรรมเพื่อสังคม จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ
ดร.ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ฉายภาพให้เห็นเส้นทางของระบบสวัสดิการสังคมไทย แบ่งเป็น 2 ช่วง ซึ่งมีบทบาทสำคัญมาก ได้แก่
1.ระบบสวัสดิการแบบลดทอน (1960s-mid 1990s)
ดร.ธร อธิบายสาเหตุตั้งชื่อ ระบบสวัสดิการแบบลดทอน เนื่องจากในสมัยนั้นระบบสวัสดิการกับการเมืองขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งในระบบการเมือง เรียกว่า “เผด็จการในการพัฒนา” กล่าวคือ การเมืองเป็นผู้กำหนดว่า ทิศทางของเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างไร และมุ่งเน้นการเติบโตจากทุนเอกชน ขณะเดียวกันได้พยายามลดบทบาทของขบวนการแรงงานและชาวนาลง
ระบบสวัสดิการที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นจึงตอบสนองเฉพาะกลุ่มสวัสดิการราชการ และระบบการศึกษาและสาธารณสุขที่ชนชั้นกลางในเมืองได้เปรียบ
2.การขยายตัวของระบบสวัสดิการ (mid 1990s-mid 2000s)
นักเศรษฐศาสตร์ มธ. อธิบายต่อว่า การขยายตัวของระบบสวัสดิการในช่วงนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตย ทำให้เกิดบทบาททางการเมืองของตัวแทนภูมิภาคและทุนเอกชน จะเห็นได้ว่ามีนโยบายจำนวนมากที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองการเพิ่มคุณภาพความเป็นอยู่ของขบวนการแรงงานและชาวนา มีระบบประกันสังคมเกิดขึ้นในช่วงนี้
ทั้งนี้ หากจะให้มองภาพคล้ายกับว่า มีอำนาจทางการเมืองได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมถึงฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยค่อนข้างเติบโตทำให้มีทรัพยากรทางการคลังเพียงพอที่สามารถผลักดันนโยบายได้มาก จึงทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดการขยายตัวของระบบสวัสดิการรวดเร็ว
หลังจากนั้น mid 2000s จนถึงปัจจุบัน ดร.ธร ไม่ทราบว่า ระบบสวัสดิการของประเทศไทยเป็นไปในทิศทางใด เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดได้ศึกษาภาพรวมไว้
สภาวะสังคมไทย หลายสวัสดิการทับซ้อน
ดร.ธร กล่าวต่อถึงสภาวะของระบบสวัสดิการสังคมไทย พบที่ผ่านมาระบบสวัสดิการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยก็จริง แต่ปรากฎว่า ฐานขับเคลื่อนยังไม่ชัดเจนว่าขยายตัวจากอะไร
แล้วแนวคิดใดที่ผลักดันให้ระบบสวัสดิการไทยขยายตัว? จากการศึกษาวิจัยเห็นว่า ระบบสวัสดิการไทยอิงกับการช่วยเหลือเป็นหลัก รัฐคิดว่า “การให้สวัสดิการเป็นการช่วยเหลือ” ซึ่งน่าสนใจ หากแนวคิดเป็นเช่นนี้จริง แสดงว่า ประเทศไทยกำลังจะมุ่งไปสู่ระบบสวัสดิการแบบใด
นอกจากสภาวะข้างต้นแล้ว ยังพบว่า ระบบสวัสดิการไทยยังทับซ้อนกัน ประเด็นนี้ นักเศรษฐศาสตร์ มธ. ขยายความมี 3 ระบบ ได้แก่
1.สวัสดิการราชการ ที่เป็นมรดกจากสวัสดิการแบบลดทอน
2.ระบบประกันสังคม ที่เป็นสวัสดิการแบบสนับสนุนการผลิต
3.ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า
ดร.ธร กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐไม่ได้ประเมินว่า ระบบทั้งหมดที่ทับซ้อนกันอยู่จะประสานให้เข้ากันได้อย่างไร
“ในเชิงรัฐศาสตร์ จะมีคำอธิบายว่า ประเทศไทยค่อนข้างรวมศูนย์อำนาจ แต่จริง ๆ แล้ว มองระบบสวัสดิการว่า ไม่ได้รวมศูนย์อำนาจ แต่ได้แยกไปตามกระทรวงที่รับผิดชอบ จึงทำให้เกิดภาพทับซ้อนกันแบบนี้ ฉะนั้นหากพูดถึงสภาวะในปัจจุบัน ค่อนข้างท้าทายมากว่า จะทำอย่างไร จึงทำให้ระบบที่ทับซ้อนกันได้รับการคลี่คลาย”
ดร.ธร ระบุต่อว่า ความทับซ้อนของระบบสวัสดิการนี้ เป็นต้นเหตุให้เกิด “ต้นทุนสูง” เช่น ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบประกันสังคม ทำให้รัฐต้องลงทุน 2 กองทุน ทั้งที่บางคนใช้ระบบประกันสังคมได้ ฉะนั้น อนาคตรวมตัวกันได้ จะทำให้ระบบประกันสุขภาพมีทุนเพิ่มขึ้น
รวมถึงยังมี นโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน ในมุมมองของนักวิชาการผู้นี้ เห็นว่า เป็นอีกหนึ่งสวัสดิการที่รัฐจัดให้ โดยเกิดขึ้นมาใช้ช่วงระบบสวัสดิการขยายตัว เช่น นโยบายอุดหนุนผลผลิตเกษตรกร นโยบายสร้างอาชีพคนยากจน
สุดท้าย คือ สภาวะระบบสวัสดิการจากการเมืองแบบศักดินาราชูปถัมภ์ ซึ่งเชื่อว่ามีประสิทธิภาพน้อยกว่า เช่น อุดหนุนตามอาชีพที่ยากจน แต่ความจริงแล้วอาจไม่ได้ช่วยเหลือคนจริง ๆ
คาดการณ์ ปี 2574 ต้นทุนสวัสดิการไทยเพิ่มสูงขึ้น
ดร.ธร ชวนมองไปข้างหน้าถึงความท้าทายของระบบสวัสดิการสังคมไทยในอนาคต จะพบว่า ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและจะส่งผลให้เกิดภาระทางการคลังตามมา แม้ที่ผ่านมาจะขยายตัว มีทรัพยากรทางการคลังค่อนข้างดี แต่อนาคตกำลังจะเกิดภาพตรงกันข้ามไม่เพียงพอ
“ข้อมูลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ฐิติมา และคณะ) เมื่อปี 2557 คาดการณ์ว่า ประมาณปี 2574 ต้นทุนสวัสดิการสังคมไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็นภาระของรัฐ”
ข้อมูลยังระบุว่า กองทุนประกันสังคมจะเริ่มขาดทุนปี 2578
นักวิชาการ มธ. คิดว่า รัฐคงพยายามหาวิธีแก้ไข ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจทางการ จึงมองทุกวันนี้ระบบเศรษฐกิจทางการโยงอยู่กับระบบประกันสังคม ซึ่งหากระบบเปลี่ยน มีภาพทางการน้อยลง
เกิดคำถามว่า “ระบบเศรษฐกิจแบบนี้จะต้องใช้ระบบสวัสดิการแบบไหนจึงจะเหมาะสม”
“ปัจจุบันทิศทางของรัฐบาลจะนำระบบสวัสดิการแบบเจาะจงมาใช้มากขึ้น ซึ่งเห็นค่อนข้างชัด อย่างสองปีที่ผ่านมา มีนโยบายทำบัตรสวัสดิการคนจน เหมือนเป็นฐานว่า ต่อไปนี้ผู้มีสิทธิรับสวัสดิการจะต้องเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่าเท่าไหร่ รัฐบาลจึงมองว่า ช่วยตอบคำถามได้ในส่วนที่เกี่ยวกับภาระทางการคลัง”
ระบบสวัสดิการสังคมไทยมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องและพลเมืองทุกคนคาดหวังจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง แต่ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรทางการคลังของประเทศ นั่นจึงทำให้รัฐบาลต้องฉุกคิดให้หนักว่าสุดท้ายแล้ว สภาพการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จะมีระบบสวัสดิการรูปแบบใดที่เหมาะสม .
ภาพประกอบ:http://sangkomtiwat.blogspot.com/2011/11/blog-post_04.html