มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชม ‘ทันตแพทยสภา’ ยืนยันหมอฟันศึกษาต่อเป็นประโยชน์ต่อ ปชช.
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นด้วยสภาวิชาชีพออกประกาศบังคับทันตแพทย์ต้องศึกษาต่อเนื่อง เชื่อเกิดประโยชน์ แพทย์ทันสมัย-ประชาชนได้รับบริการที่ปลอดภัย “สารี” เสนอ เปิดรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย ไม่ควรคิดกรอบเฉพาะวิชาการ
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงการจัดการศึกษาต่อเนื่องของทันตแพทย์เพื่อต่ออายุใบประกอบวิชาชีพทันตกรรม ตามที่ทันตแพทยสภาได้ประกาศใช้ข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์การเข้าร่วมการศึกษาต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2560 ตอนหนึ่งว่า ประกาศข้อบังคับดังกล่าวได้ผ่านเวทีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ซึ่งพบส่วนใหญ่เห็นด้วย ดังนั้นการขับเคลื่อนของทันตแพทยสภาในการประกาศใช้ข้อบังคับดังกล่าวจึงนับว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
น.ส.สารี กล่าวว่า การศึกษาต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมนั้น เป็นประโยชน์กับทั้งตัวของผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งก็คือตัวของทันตแพทย์เองที่จะได้พัฒนาศักยภาพ เพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เท่าทันต่อเทคโนโลยีและงานวิชาการ และยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้เข้ารับการรักษาที่จะได้รับบริการที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
น.ส.สารี กล่าวอีกว่า ความรู้ของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาองค์ความรู้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่อาจจะหลีกเลี่ยงหรือนิ่งเฉยไปได้ เรื่องนี้เป็นบทบาทสำคัญของทันตแพทยสภา ซึ่งหากทันตแพทยสภาไม่ดำเนินการก็จะเท่ากับละเลยต่อหน้าที่ ดังนั้นการออกข้อบังคับเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีและน่าสนับสนุน
“เราในฐานะองค์กรเพื่อผู้บริโภคขอสนับสนุนให้มีการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทันตแพทย์ รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขอื่นๆ ได้ดำเนินการแล้วเ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชฯ ฯลฯ” น.ส.สารี กล่าว
สำหรับกระบวนการและรูปแบบการศึกษาต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอว่า ไม่ควรจำกัดรูปแบบการเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ และไม่ควรนับหน่วยกิจเฉพาะหลักสูตรที่ทันตแพทยสภาจัดให้เท่านั้น แต่ควรมีรูปแบบที่หลากหลายและเปิดกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อเวลาในการปฏิบัติงานของทันตแพทย์มากนัก เช่น ทันตแพทย์ที่ทำงานในคลินิกเอกชนในกรุงเทพแต่อาสาไปทำงานในชนบท หรือทันตแพทย์ในชนบทมาเรียนรู้การทำงานในคลินิกเอกชน และการที่ทันตแพทย์ทำงานในปริมาณที่มาก หรืองานที่ต้องฝึกปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
“สิ่งเหล่านี้ควรที่จะนับรวมหน่วยกิตได้ด้วย เพราะผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานคือเกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ แต่กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวต้องมีเอกสารรับรองที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานทางวิชาชีพ” น.ส.สารี ระบุ
อนึ่ง ข้อบังคับของทันตแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การเข้าร่วมการศึกษาต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2560 ประกาศเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560 โดยมีผลบังคับใช้ควบคู่กับการต่อใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาทันตกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ และใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม
ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องเข้าร่วมการศึกษาต่อเนื่องและต้องสะสมหน่วยกิจกรรมให้ได้ไม่น้อยกว่า 100 หน่วย ภายในระยะเวลา 5 ปี