ราชกิจจาฯ เผยแพร่ 5 ลักษณะสื่อที่ไม่ปลอดภัย ขัดต่อศีลธรรม-ยุให้แตกแยก
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ 5 ลักษณะสื่อไม่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เนื้อหาขัดต่อศีลธรรม ยุให้เกิดความแตกแยก ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อข้อกฎหมายและจรรยาบรรณสื่อ
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เรื่อง กำหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ พ.ศ.2561 ความว่า
โดยที่พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 กำหนดให้คณะกรรมการประกาศกำหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคม
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 (2) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการประชุมครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงกำหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ไว้ ดังต่อไปนี้
1. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมอันดีของสังคม หรือส่งผลกระทบทางลบต่อจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างร้ายแรง
2. สื่อที่มีเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกแยก ยั่วยุ และสร้างความเกลียดชังต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล จนอาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ
3. สื่อที่มีเนื้อหาส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
4. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมาย
5. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักจรรยาบรรณสื่อ หรือแนวปฏิบัติของวิชาชีพสื่อนั้นๆ
ประกาศ ณ วันที่ 10 ก.ค. 2561
วิษณุ เครืองาม
รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
อ่านประกอบ :
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/169/79.PDF