สช. หนุนร่าง 'ธรรมนูญสุขภาพ' ทุกศาสนา-พร้อมเปิดรับฟังความเห็นทั่วประเทศ
สช. ขยายวงภาคีขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพ ประสานผู้นำ 5 ศาสนาใช้ ‘ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ’ เป็นแม่แบบ พร้อมรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ด้านกรมการศาสนาพร้อมหนุนเต็มที่ ช่วยเป็นสื่อกลางส่งเสริมสุขภาพให้ศาสนิกชนในแต่ละศาสนา
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมร่วมกับกรมการศาสนาและผู้นำ 5 ศาสนาในประเทศไทย ได้แก่ ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ซิกซ์ และพราหมณ์-ฮินดูพร้อมภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” อาทิ กรมอนามัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อให้พิจารณานำ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” ซึ่งประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2561 เป็นตัวอย่างแนวทางการขยายผลการสร้างเสริมสุขภาวะกับศาสนิกชนของศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลังการหารือ ผู้นำทุกศาสนาให้ความสนใจที่จะขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสุขภาพและใช้เครื่องมือตามแนวทางธรรมนูญสุขภาพ ซึ่ง สช. และภาคีเครือข่ายทั้งหมดพร้อมที่จะให้คำแนะนำเพื่อเดินหน้ากระบวนการต่างๆ ไปสู่การจัดทำธรรมนูญสุขภาพเฉพาะของแต่ละศาสนาต่อไป โดยต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นชุมชนของแต่ละศาสนา พร้อมดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม เช่นเดียวกับธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติที่ใช้เวลาเดินสายทั่วประเทศเพื่อพบกับคณะสงฆ์และองค์กรต่างๆ
“แต่ละศาสนามีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันไป การจัดทำธรรมนูญสุขภาพจึงต้องเป็นธรรมนูญเฉพาะของแต่ละศาสนา การที่ผู้นำศาสนาซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและเป็นผู้นำสังคมชุมชนที่ได้รับความนับถือศรัทธาลุกขึ้นมาขับเคลื่อน ถือเป็นทุนสำคัญที่จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของคนทั้งประเทศในที่สุด” นพ.พลเดช กล่าว
นายมานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า ได้ขอให้ผู้นำทุกศาสนานำข้อมูลการขับเคลื่อนงานสุขภาวะกลับไปหารือและมาประชุมร่วมกันอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อกำหนดแนวทางในอนาคต โดยกลุ่มเป้าหมายหลักในการทำงานส่งเสริมสุขภาพมี 2 ส่วน คือ กลุ่มผู้นำศาสนาและศาสนิกชน ซึ่งมีกิจกรรมทุกสัปดาห์อยู่แล้วสามารถขยายผลได้ต่อไป
พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา ซึ่งเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพฯ ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นเครื่องมือที่ต้องใช้เวลาก่อตัว ทำให้เกิดความร่วมมือของหลายภาคส่วน และนำไปสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมจนเกิดความก้าวหน้า แต่ยังมีเรื่องต่างๆ ที่ต้องทำอีกมาก โดยล่าสุด มหาเถรสมาคมมอบหมายให้เจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดนำแนวทางในธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ไปปฏิบัติ
“ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ทำให้พระสงฆ์กว่า 3 แสนรูปทั่วประเทศ เข้าใจและเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เกิดกลไกการดูแลสุขภาพ มีพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) และพระคิลานุปัฏฐากหรือพระผู้ปฏิบัติดูแลพระสงฆ์อาพาธด้วย รวมทั้งเกิดบูรณาการการทำงานระหว่างวัด หน่วยงานรัฐ และประชาชน” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา กล่าว
นายธงชัย ประดับชนานุรัตน์ มูลนิธิคริสตจักรคณะแบ๊บติสต์ กล่าวว่า การดึงผู้นำศาสนาต่างๆ มาร่วมขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ทั้งกับผู้นำศาสนาเองที่เป็นผู้สูงอายุและมีปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงเป็นศูนย์กลางให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน และเชื่อว่าหลังจากนี้ทุกศาสนาจะเข้ามาร่วมผลักดันการส่งเสริมสุขภาพของประเทศไทย