เปิดวิชาเรียนตรวจสอบ-แยกแยะข้อเท็จจริง ปั้นนักข่าวมืออาชีพ ยุคสื่อดิจิทัล ฉบับ วิสคอนซิน
"...ก่อนเริ่มต้นเรียนเขากังวลเกี่ยวกับการจัดการข้อมูล ว่า ทำยังไงเขาถึงจะสามารถกลั่นกรองความถูกต้อง และการแยกแยะข้อมูลต่าง ๆ ออกจากกันได้ จะมีอะไรที่สามารถตรวจสอบความจริงได้? และในยุคที่ทิศทางส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเมือง จะยังมีใครไหมที่สนใจในเรื่องของความเป็นจริง? และวิชาเรียนนี้ ก็ช่วยให้ เจราล์ด พอร์เตอร์ จูเนียร์ กลายเป็นนักศึกษาและนักข่าวฝึกหัดที่มากด้วยประสบการณ์คนหนึ่งในเวลาต่อมา..."
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข่าวที่เรากำลังอ่านอยู่ คือ เรื่องจริง?
เชื่อว่าคำพูดประโยคนี่ น่าจะอยู่ในความคิดของใครหลายคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกการสื่อสารยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยช่องทางการสื่อสารจำนวนมาก มีทั้งสื่อจริงสื่อปลอม สารพัดข้อมูลข่าวสาร ถาโถม เข้ามาถึงตัวเราจำนวนมากในแต่ละวัน ความหมายของข่าว (News) ที่เคยถูกระบุว่าจะต้องเป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น ก็เริ่มมีความเห็นปะปนเข้ามาอยู่ด้วยจำนวนมาก จนทำให้คนอ่านเริ่มเกิดความไม่เชื่อมั่นว่า ข่าวที่กำลังอ่านอยู่นี่เป็นความจริงหรือไม่? บางข่าวที่ข้อมูลดูมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมาก แต่สุดท้ายกลับไม่ใช่ข่าวจริง แถมผู้นำเสนอข่าวดังกล่าว ยังเป็นตัวสื่อมวลชนเองอีกด้วย
มันคงจะดีไม่น้อย ถ้าในสังคมไทยยุคสื่อดิจิทัลปัจจุบัน จะมีสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานไหนสักแห่งเปิดหลักสูตรวิชาเรียนตรวจสอบข้อเท็จจริง และการฝึกแยกแยะความจริงให้นักศึกษาที่กำลังจะเข้ามาทำงานด้านสื่อมวลชน ได้ศึกษาเล่าเรียนกันอย่างจริงจัง เหมือนในต่างประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และเริ่มดำเนินการเปิดการเรียนการสอนเป็นเรื่องเป็นราวมากว่า 2 ปีแล้ว
เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ในสหรัฐ http://ls.wisc.edu/news/just-the-facts ได้เผยแพร่รายงานพิเศษเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนเรื่องการตรวจสอบและการฝึกแยกแยะข้อเท็จจริง เขียนโดย Katie Vaughn นำเสนอข้อมูลผ่านเรื่องราวของ เจอราล์ด พอร์เตอร์ จูเนียร์ (Gerald Porter, Jr.) นักศึกษารายหนึ่ง ที่ลงเรียนรายวิชานักหนังสือพิมพ์ ว่าด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-checking class) ซึ่งก่อนเริ่มต้นเรียนเขากังวลเกี่ยวกับการจัดการข้อมูล ว่า ทำยังไงเขาถึงจะสามารถกลั่นกรองความถูกต้อง และการแยกแยะข้อมูลต่าง ๆ ออกจากกันได้ จะมีอะไรที่สามารถตรวจสอบความจริงได้? และในยุคที่ทิศทางส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเมือง จะยังมีใครไหมที่สนใจในเรื่องของความเป็นจริง?
และหลักสูตรนี้ ก็ช่วยให้ เจราล์ด พอร์เตอร์ จูเนียร์ กลายเป็นนักศึกษาและนักข่าวฝึกหัดที่มากด้วยประสบการณ์คนหนึ่งในเวลาต่อมา
พอร์เตอร์ กล่าวว่า “สำหรับผมวิชานี้เป็นทุกอย่าง” “ผมแตกต่างจากตอนแรกอย่างสิ้นเชิง และมีความมั่นใจมากขึ้น”
สำหรับจุดเริ่มต้นของหลักสูตรวิชาเรียนนี้ เกิดขึ้น เมื่อ ไมเคิล เว็กเนอร์ (Michael Wagner) และหลุยส์ เอ ไมเออร์ (Louis A. Maier) 2 ผู้บริหารด้านการพัฒนาใน the School of Journalism and Mass Communication มีความต้องการที่จะพัฒนาห้องเรียนให้ไฟในตัวของนักศึกษาได้รับการเติมเต็ม โดยใช้การสังเกตการณ์ ซึ่งพวกเขา ได้เปิดตัวหลักสูตรด้วยเงินทุนจาก Ira and Ineva Reilly Baldwin Wisconsin Idea Grant และได้รับการสนับสนุนจาก the nonpartisan Wisconsin Center for Investigative Journalism
ซึ่งในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ในการเปิดการเรียนการสอนวิชานี้ นักศึกษาสามารถเขียนงานเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงของนักการเมืองวิสคอนซิน และเขียนเรื่องที่เป็นประเด็นเด่น ๆ อย่างเรื่องของฟอกซ์คอนน์ (Foxconn – บริษัทรับผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) อาวุธปืน ผู้อพยพหรือแม้กระทั่งเรื่องของการศึกษา ทำให้มียอดผู้เข้าชมมากกว่า 20,000 คน
ขณะที่ พอร์เตอร์ ที่มีผลงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายการครอบครองอาวุธปืนและคุณภาพของระบบบริการสุขภาพของวิสคอนซิน ระบุว่า “เรื่องราวเหล่านั้นมันคือแรงผลักดัน”
พอร์เตอร์ ยอมรับว่า มันต้องใช้เวลาในการปรับตัวเพื่อที่จะทบทวนแหล่งข้อมูลจากหลายแหล่ง จุดสำคัญในรูปแบบของการสัมภาษณ์ การตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่หลังจากที่เขาค้นพบการตรวจสอบข้อมูลเหล่านั้นแล้ว เขาสามารถที่จะขุดคุ้ยข้อมูลและจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ให้เป็นหมวดหมู่ และไม่ลืมที่จะทำการตรวจสอบข้อมูลทุกครั้ง
“ครั้งแรกที่ผมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง มันเหมือนกับการเอาชิ้นส่วนปริศนามาต่อเข้าด้วยกัน ผมเอาใจใส่ข้อมูลที่มีทั้งหมด ช่วยได้มากในการทำให้มันเป็นรูปเป็นร่าง” เขากล่าว
ขณะที่ ไมเคิล เว็กเนอร์ เชื่อว่ามันสำคัญมากสำหรับนักศึกษาที่จะได้รับความสะดวกสบายสำหรับการหาข้อมูลต่าง ๆ และการเรียนที่จะนำทางพวกเขาไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสม
“พวกเขาเรียนรู้ที่จะจัดการมันอย่างเหมาะสม โอกาสที่เท่าเทียมกันในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ และจัดการหลักฐานที่พวกเขามีอยู่ พวกเขาเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือและแหล่งข้อมูลที่หลายหลาก เพื่อที่จะเสริมสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจ พวกเขาได้รับประสบการณ์อย่างมากในการเรียนการสอนวิชานี้”
ทั้งนี้ เว็กเนอร์หวังว่าจะทำให้วิชาเรียนนี้ มีการเรียนการสอนถาวร ในขณะเดียวกัน มันคือสารตั้งต้นให้กับนักศึกษาฝึกงานและอาชีพต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ปัจจุบัน พอร์เตอร์ได้ทำงานเป็นนักข่าวฝึกหัดกับเดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล แล้ว บ่งชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในหลักสูตรการเรียนสอนวิชานี้ได้เป็นอย่างดี
คำถามที่น่าสนใจ คือ จะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดคลาสเรียนแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นไปได้ไหมที่สื่อจะหันมาให้ความสำคัญกับข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่ เท่ากับการเน้นไปที่เรื่องความรวดเร็วของข่าว
เพราะถ้าสองสิ่งนี้มาพร้อมกัน ข่าวที่รวดเร็ว มาพร้อมกับความถูกต้อง จะช่วยสร้างประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนอ่านในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างมากเลยที่เดียว
ที่มาเรื่อง/ภาพประกอบจาก http://ls.wisc.edu/news/just-the-facts