สัญชาตินั้นสำคัญไฉน...บทเรียนจากชายแดนใต้ถึงทีมหมูป่าติดถ้ำ
"ดีใจมากถ้าผมได้บัตรที่บอกว่าผมเป็นคนไทย เพราะผมจะสามารถไปโรงเรียนได้ ผมอยากเรียน แต่ครูบอกผมไม่มีเอกสารอะไรแสดงกับครูได้ว่าผมเป็นคนไทย"
"แม่บอกว่าพ่อโกหก เรื่องไปแจ้งเกิดผมแล้วตอนที่ผมเกิดมาใหม่ๆ แต่พ่อมีเมียเยอะ พ่อคงคิดว่าไม่จำเป็นอะไร ผมก็เลยไม่มีชื่อทางทะเบียนเหมือนพี่น้องคนอื่น"
"เมาะไม่มีชื่อ พี่ชายเมาะด้วย ลำบากมากเวลาจะติดต่ออะไรกับราชการ โดยเฉพาะเมื่อป่วย ไปโรงพยาบาลก็ต้องจ่ายเงินตลอด"
เป็นหลากหลายความรู้สึกของทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็น "กลุ่มตกสำรวจ" ไม่มีบัตรประชาชนเป็นคนไทย และไม่มีสัญชาติไทย สาเหตุมีทั้งสภาพทางสังคม สภาวะทางเศรษฐกิจ เช่น ครอบครัวยากจน มีลูกมาก พ่อแม่จึงละเลยเรื่องการไปแจ้งเกิด เพราะไม่เห็นความสำคัญ บางคนถึงขนาดไม่มีชื่อจริงด้วยซ้ำ
นอกจากนั้นดินแดนปลายด้ามขวานยังมีสาเหตุพิเศษเรื่องความแตกต่าง แปลกแยก เพิ่มขึ้นมาด้วย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และสื่อสารด้วยภาษามลายูถิ่น แต่เจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่บนโรงพัก ที่ว่าการอำเภอ ไปจนถึงโรงพยาบาล สมัยก่อนล้วนเป็นคนไทยพุทธ พูดภาษาไทย เมื่อมีความแตกต่าง สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง แถมด้วยวัฒนธรรมราชการเป็นใหญ่ ชาวบ้านทำอะไรผิดก็จะถูกเอ็ด ถูกตำหนิ ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยหันหลังให้กับราชการ บ้างก็กลายเป็นผู้เห็นต่างจากรัฐ บ้างก็จับอาวุธต่อสู้กับรัฐไปเลยก็มี
ปัญหา "คนไม่มีสัญชาติ" ทั้งๆ ที่มีคุณสมบัติครบสำหรับการเป็นคนไทย จัดเป็นประเด็นปัญหาระดับชาติ เพราะมีกระจายอยู่ทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชายขอบ อย่าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย นักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าที่ไปติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จำนวน 13 คน ก็มีอย่างน้อย 3-4 คนที่ไม่มีสัญชาติไทย
ข้อมูลจากประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค.60 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งชายหญิง ราว 66.1 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนที่ไม่มีสัญชาติ หรือยังไม่ได้สัญชาติอยู่ถึง 875,814 คน
เฉพาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีคนไม่ได้สัญชาติ 13,905 คน แยกเป็น จ.ปัตตานี 1,596 คน จ.ยะลา 1,423 คน จ.นราธิวาส 1,236 คน จ.สงขลา 9,160 คน และ จ.สตูล 490 คน ส่วนใหญ่มาจากปัญหาตกสำรวจ เพราะไม่ได้ไปแจ้งเกิด
แต่ชายแดนใต้ยังมีปัญหาซ้อนปัญหา เพราะนอกจากจะเป็นจังหวัดชายแดนแล้ว ยังมีปัญหาขบวนการต่อต้านรัฐไทยอยู่ด้วย จึงมีคนบางส่วนหลบหนีไปพำนักอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ไปเป็นลูกจ้างกรีดยาง เก็บผลปาล์ม เพราะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ แต่บางคนก็หนีคดี กระทำผิดจริง ขณะที่บางคนก็เป็นประเภทหนีเอาไว้ก่อน เพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อสงสัย เกรงจะถูกจับ ทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทำผิด คนเหล่านี้ไปอยู่ฝั่งมาเลย์นานเข้าๆ ก็มีลูกมีหลาน แต่แจ้งเกิดไม่ได้ เพราะหนีเข้าเมือง สุดท้ายก็กลายเป็นคนเถื่อน ไร้สัญชาติ คือไม่มีทั้งสัญชาติไทยและมาเลเซีย
กลุ่มคนไม่มีสัญชาติที่อาศัยอยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเกือบๆ 1.4 หมื่นคนอย่างที่บอก ส่วนที่อยู่ในมาเลเซีย ล่าสุดขึ้นทะเบียนไว้ที่สถานกงสุลไทย ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน 82 คน
จะเห็นได้ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ และส่งผลกับประเด็นความมั่นคงในพื้นที่ด้วย เหตุนี้เองศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.กลุ่มคนที่ยังไม่ได้สัญชาติใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ประสานกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการสำรวจข้อมูลบุคคลที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน หรือผู้ประสบปัญหาทางทะเบียนราษฎร กรณีจำเป็นต้องต้องอาศัยการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม หรือ DNA เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต เฉพาะปี 61 นี้จำนวน 825 คน
2.กลุ่มที่พำนักหรือทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซีย แต่ไม่มีบัตรประชาชนคนไทย ได้มอบหมายให้สถานกงสุลไทย ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน สำรวจและลงทะเบียนคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชน เบื้องต้นส่งรายชื่อกลับมายัง ศอ.บต.แล้วจำนวน 82 คน
เมื่อเร็วๆ นี้ นายศุภณัฐ สิรินทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วย นายพงษ์พิทยา ธรไกรศรีทอง ผู้ตรวจราชการกรมการปกครองเขต 5 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนและภาคใต้ฝั่งอันดามัน นายพงศ์เทพ ไข่มุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี น.ส.จันทรรัตน์ งามชนะ รองกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู นพ.วิระชัย สมัย จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ พล.ท.ยุทธนา ปานมุข หัวหน้าสำนักงานผู้แทนพิเศษ กลุ่มงานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานในการจัดเก็บตัวอย่างและตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม หรือ DNA เพื่อแก้ไขปัญหาบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร หรือไร้สัญชาติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องประชุมน้องเกล้า ชั้น 1 อาคารอเนกประสงค์ ศอ.บต. อ.เมือง จ.ยะลา
ปรากฏว่าในงานนี้มีประชาชนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรในพื้นที่ และญาติพี่น้องจำนวนหลายร้อยคน มาร่วมตรวจพิสูจน์ DNA เพื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ทางสายโลหิตและความเป็นเครือญาติ เพื่อเป็นหลักฐานในการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้กับคนที่ยังไม่มีสัญชาติต่อไป
"หลังจากที่มีการสำรวจอย่างเป็นทางการ เราพบว่ามีประชาชนที่มาลงทะเบียนขอมีบัตรประจำตัวประชาชนกว่าหมื่นคน ทำให้เราต้องทยอยดำเนินการ ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่มาร่วมบูรณาการ โดยเฉพาะ คุณธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม และผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศ ศอ.บต. ที่มีความตั้งใจมากในการดำเนินการเรื่องนี้ให้สำเร็จ โดยเฉพาะพี่น้องที่อยู่มาเลเซีย เขาอาศัยอยู่ที่นั่นแบบหลบๆ ซ่อนๆ แต่ทุกคนทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันทำงาน ก็สามารถดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงไปได้ระดับหนึ่ง" เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว
"สาเหตุของปัญหาเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งการตกสำรวจของทางราชการเอง การไม่ได้แจ้งเกิด ถูกทอดทิ้ง การขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการรับรองสถานะทางทะเบียน ทำให้บุคคลจำนวนมากกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ตามกฎหมายได้ เช่น การศึกษา การสมัครงาน การรักษาพยาบาล การเดินทางออกนอกชุมชน รวมไปถึงการเดินทางไปต่างประเทศ และสวัสดิการอื่นๆ จนกลายเป็นผู้ยากไร้ ขาดโอกาสทางสังคม มีสถานะไม่ต่างจากคนต่างด้าว หากไม่ดำเนินการโดยเร็วจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในระยะยาวด้วย"
นายศุภณัฐ อธิบายถึงเหตุผลที่ต้องเร่งทำโครงการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ถือเป็นคนกลุ่มใหญ่และส่งผลกับปัญหาความมั่นคงในพื้นที่
"เรื่องนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใย และทรงมีรับสั่งเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินยัง ศอ.บต. เมื่อวันที่ 20 ก.ย.59 เกี่ยวกับปัญหาคนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศมาเลเซีย จากกรณีไม่สถานะทางทะเบียนราษฎร์ของคนไทยในรัฐกลันตัน และรัฐอื่นๆ ขอมาเลเซีย ซึ่งในส่วนนี้ ศอ.บต.จะเดินทางไปที่เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน เพื่อดำเนินโครงการตรวจสารพันธุกรรม DNA และให้ความช่วยเหลือด้านงานทะเบียนราษฎรแก่คนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 14-16 ก.ค." เลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ
นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม และผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศ ศอ.บต. กล่าวเสริมว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่สะสมมานาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีเอกสารทางราชการใดๆ เลย ทั้งยังไม่มีบุคคลที่สามารถมาเป็นพยานเพื่อยืนยันสถานภาพได้ ทําให้ต้องกลายเป็นคนไร้สัญชาติและไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรอย่างสิ้นเชิง ซึ่งผลกระทบจะไม่เกิดเฉพาะกับตัวพวกเขาเหล่านั้นเท่านั้น แต่จะรวมถึงบุตรหลานที่จะเกิดมาในภายหลังด้วย ทําให้มีปัญหาสังคมและความมั่นคงตามมา ดังนั้นหลังจากนี้ขอให้ผู้ประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร ไปดําเนินการยื่นเรื่องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรที่สํานักทะเบียนท้องที่ที่ตนมีถิ่นที่อยู่ ซึ่งกลุ่มที่ไม่มีหลักฐานใดๆ มาแสดง รวมถึงไม่มีพยานบุคคล ก็ต้องใช้การตรวจพิสูจน์ DNA เพื่อหาสายสัมพันธ์ทางเครือญาติแทน
"ถือเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และถูกนํามาใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการรับรองสถานะทางทะเบียนราษฎร เพื่อยืนยันว่าบุคคลที่มาขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรหรือบุคคลที่ยังไม่มีสัญชาติไทยนั้น มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับบุคคลที่มีสัญชาติไทย กล่าวคือ มีพ่อ แม่ พี่น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นบุคคลสัญชาติไทย" นายธีรุตม์ กล่าว
ขณะที่ นายพงษ์พิทยา ธรไกรศรีทอง ผู้ตรวจราชการกรมการปกครองเขต 5 ให้ข้อมูลว่า โครงการที่ทำในช่วงที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จด้วยดี สามารถมอบบัตรประจำตัวประชาชนให้กับผู้ที่ผ่านการตรวจพิสูจน์ ทั้งเรื่อง DNA และหลักฐานยืนยันอื่นๆ แล้วจำนวน 400 คน
น.ส.จันทรรัตน์ งามชนะ รองกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู กล่าวว่า หลังจาก ศอ.บต.ทำโครงการนี้ ทำให้ทางสถานกงสุลฯ มีทางออกในการช่วยเหลือคนไทยไร้สัญชาติในมาเลเซีย โดยสามารถพิสูจน์สัญชาติได้แล้ว 74 ราย และที่จะทำระหว่างวันที่ 14-16 ก.ค.ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ทั้้งหมดนี้ก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่า ยังมีคนไทยในมาเลเซียที่ตกหล่นทางทะเบียนอีกเท่าไหร่ เพราะอาศัยอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย บางส่วนก็อยู่ในพื้นที่ลึกเข้าไปในป่าเขา เมื่อเขาไม่มีสถานะทางทะเบียน ก็ทำให้เขากลัวที่จะมาติดต่อกับทางการ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะมีปฏิสัมพันธ์หรือเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้ แต่การเปิดช่องทางให้ตรวจ DNA ถือเป็นการปลดล็อคปัญหา ทำให้มีพี่น้องคนไทยในมาเลเซียเข้ามาลงทะเบียนมากขึ้น
นพ.วิระชัย สมัย จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ผลตรวจ DNA จะทยอยออกมา โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือนหลังจากเริ่มตรวจ ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้มีค่าใข้จ่ายประมาณคนละ 4,700 บาท แต่ในโครงการนี้ทาง ศอ.บต.รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ท้ั้งหมด
สำหรับในปี 61 นี้ สํานักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต. ได้จัดโครงการจัดเก็บตัวอย่างและตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร หรือไร้สัญชาติในพื้นที่เป้าหมาย แยกเป็นที่ จ.ยะลา ระหว่างวันที่ 7-8 ก.ค.ที่ผ่านมา จํานวน 400 คน จ.นราธิวาส ระหว่างวันที่ 4-5 ส.ค.ที่จะถึงนี้ จำนวน 220 คน และในเดือน ก.ย.จะทำที่ จ.ปัตตานี อีก 380 คน
ด้านความรู้สึกของคนที่เข้าร่วมพิสูจน์สัญชาติด้วยการตรวจดีเอ็นเอ ทุกคนกล่าวอย่างดีใจ บางคนกล่าวทั้งน้ำตา อย่างเด็กชายวัย 12 ขวบรายหนึ่ง บอกว่า "ดีใจมากถ้าผมได้บัตรที่บอกว่าผมเป็นคนไทย เพราะผมจะสามารถไปโรงเรียนได้ ผมอยากเรียน แต่ครูบอกว่าผมไม่มีเอกสารอะไรแสดงให้ครูเห็นได้เลยว่าผมเป็นคนไทย แม่ก็๋ไม่มีเงินที่จะไปทำเอง รู้สึกดีใจมากที่ ศอ.บต.มาช่วย ขอบคุณ ศอ.บต.มากที่ทำให้ผมเป็นคนไทยเหมือนคนอื่นๆ"
เด็กชายยังเล่าอีกว่า ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนมาบอกแม่ว่ามีโครงการนี้ แม่และตนเองดีใจมาก ถ้าไม่มีโครงการนี้ ยังไม่รู้ว่าตลอดชีวิตจะได้มีบัตรประชาชนเหมือนคนอื่นหรือเปล่า
"มาร่วมโครงการที่ ศอ.บต. ให้กินข้าวกินน้ำ และให้ค่าน้ำมันรถกลับบ้านด้วย ขอบคุณทุกคนที่ช่วยชีวิตผม้" เด็กชายกล่าวทั้งน้ำตา ขณะที่แม่ของเด็กก็กอดกันร้องไห้
ขณะที่ นางตีเมาะ บีรู อายุ 58 ปี มาจาก จ.นราธิวาส ตลอดชีวิตเธอไม่มีหลักฐานทางทะเบียนใดๆ เลย เวลาเจ็บป่วยไปโรงพยาบาลก็ต้องจ่ายเงินเอง เพราะไม่มีสิทธิ์รักษาฟรีเหมือนคนที่มีบัตรประชาชน
"พอไม่มีเอกสารอะไร ทุกอย่างก็เป็นปัญหาหมด ดีใจมากที่มีโครงการนี้ ขอบคุณจริงๆ ที่ช่วยเหลือพวกเราให้ได้มีบัตรประชาชน ไม่มีอะไรจะตอบแทนบุญคุณครั้งนี้ได้ เราเป็นคนจน แต่ก็อยากขอบคุณจากใจจริงๆ เราดีใจมาก ไม่มีคำพูดอื่นเลย" นางตีเมาะ กล่าว
นี่คือความสำคัญของการมีสัญชาติ มีทะเบียน เพราะหมายถึงสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงสิทธิทางพลเมือง ทั้งการเลือกตั้ง การรับราชการ การสมัครเป็นทหาร และการขอทำหนังสือเดินทาง ขอวีซ๋าเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ
--------------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ ; นาซือเราะ เจะฮะ, อับดุลเลาะ หวังหนิ