ก.เกษตรฯ แจงผลสอบงบฯ ไทยนิยมยั่งยืน ไม่พบสหกรณ์ทุจริต
กระทรวงเกษตรฯ แจงผลสอบงบฯ ไทยนิยมยั่งยืน ไม่พบสหกรณ์ทุจริต พร้อมย้ำต้องดำเนินการด้วยความถูกต้องทุกขั้นตอน
วันที่ 13 กรกฎาคม 2561 นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เป็นประธานแถลงผลการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการไทยนิยมยั่งยืนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ณ สำนักพัฒนาเเละถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ กรุงเทพฯ
นายเลิศวิโรจน์ เปิดเผยถึงประเด็นที่มีหนังสือพิมพ์บางฉบับกล่าวถึงความไม่โปร่งใสในการสนับสนุนงบประมาณให้สหกรณ์นำไปจัดซื้ออุปกรณ์การตลาดและเครื่องมือแปรรูปผลผลิตการเกษตร โดยถูกระบุว่าการตั้งของบประมาณจัดซื้อค่อนข้างมีความหลากหลายในเรื่องของราคานั้น ในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารหลักฐานทั้งหมด
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ทำเรื่องชี้แจงเรียบร้อยแล้ว ส่วนผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานนั้น ได้มีการรายงานมาในเบื้องต้น แต่ยังไม่ได้สรุปข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สื่อมวลชนได้พูดถึงความหลากหลายของราคา ได้รับคำชี้แจงจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งสอดคล้องกับที่คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตรวจพบว่าการตั้งของบประมาณเป็นการตั้งขอจากสหกรณ์ต่าง ๆ โดยได้มีการสืบราคาจากเอกชนมาจำนวน 3 ราย เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการไทยนิยมยั่งยืนผ่านทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ ฉะนั้นในแต่ละสหกรณ์จะต้องเสนอขออุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้งานที่แต่ละสหกรณ์ต้องการ ขณะเดียวกันอุปกรณ์และเครื่องมือที่นำมาใช้ เช่น รถโฟล์คลิฟ หรือเครื่องจักรต่าง ๆ จะมีความแตกต่าง เนื่องจากการระบุคุณสมบัติเฉพาะแต่ละรายการนั้นมีความหลากหลายมาก
"เรื่องดังกล่าวจะถูกควบคุมโดยสำนักงานงบประมาณ ถึงแม้จะมีการตั้งของบประมาณไปแล้วก็จะต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ก่อนในเบื้องต้น และเมื่อเสนอไปยังสำนักงบประมาณ จะถูกคำนวณราคาตามมาตรฐาน ซึ่งราคามาตรฐานบางรายการก็มีกำหนดไว้ชัดเจน เช่น สิ่งปลูกสร้างจะมีราคาต่อตารางเมตร แต่ถ้าเป็นครุภัณฑ์บางประเภทก็อาจจะมีราคากลาง แต่บางประเภทไม่มีระบุไว้ ก็จะมีค่าเฉลี่ยรวม ก่อนจะได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณในอัตราที่ไม่เกินกำหนด เพราะฉะนั้นการอนุมัติงบประมาณ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สหกรณ์ขอมามากกว่าอัตราที่สำนักงบประมาณกำหนด จะพิจารณาให้ได้ในอัตราที่กำหนด แต่หากสหกรณ์ใดขอมาน้อยกว่าที่กำหนด ก็จะได้ตามอัตราที่สหกรณ์ขอมา" นายเลิศวิโรจน์ กล่าว
ปลัด กษ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพราะฉะนั้นความหลากหลายราคาที่ตั้งไว้เพื่อมาดำเนินการ ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถของสหกรณ์ที่จะต้องสมทบเงินเพิ่มเติมเพื่อการจัดซื้ออุปกรณ์อีก 10% ด้วย และจากการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงก็พบว่า คุณสมบัติของอุปกรณ์และเครื่องมือที่แต่ละสหกรณ์ต้องการจะไม่เหมือนกัน ถ้าสหกรณ์ใดมีฐานะการเงินมั่นคงก็จะเลือกใช้ของดี คุณสมบัติอาจจะสูง แต่หากสหกรณ์ไหนที่มีผลกำไรน้อย ก็จะเลือกใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มีคุณสมบัติปานกลางหรือต่ำกว่า เพราะฉะนั้นเมื่อไปเห็นอุปกรณ์ชนิดเดียวกัน หรือมีคุณลักษณะการใช้งานเหมือนกัน แต่คุณสมบัติหรือยี่ห้ออาจจะแตกต่างกัน จะทำให้ราคาอุปกรณ์หรือเครื่องมือนั้นมีความต่างกันด้วย แต่ในท้ายสุดสำนักงบประมาณจะอนุมัติเงินมาตามหลักเกณฑ์ตามที่คำนวณ
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการไทยนิยมยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะมีส่วนช่วยผลักดันสหกรณ์ให้สามารถพัฒนากิจกรรมของสหกรณ์มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์รับผิดชอบดูแลงบประมาณเพื่ออุดหนุนจ่ายขาดให้สหกรณ์การเกษตรนำไปจัดซื้ออุปกรณ์การตลาดและเครื่องมือแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อใช้ในการรวบรวมผลผลิตการเกษตรและการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยตั้งเป้าไว้ปริมาณกว่า 900,000 ตัน ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก
1.โครงการพัฒนาสถาบันเกษตรกรจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร (แก้มลิง)
2.โครงการสนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
3.โครงการเพิ่มศักยภาพการรวบรวมการแปรรูปยางพาราในสถาบันเกษตรกร สหกรณ์ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ และได้รับการจัดสรรงบกลางปี 2561 วงเงิน 1,768 ล้านบาท มีจำนวน 307 แห่ง ในพื้นที่ 67 จังหวัด ซึ่งทุกสหกรณ์ที่ได้รับการคัดเลือกได้ผ่านการประเมินแล้วว่าเป็นสหกรณ์ที่มีศักยภาพ มีผลการดำเนินงานที่โปร่งใส สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง และก่อให้เกิดประโยชน์ แก่สหกรณ์และสมาชิกด้วยดีเสมอมา
ทั้งนี้ ในการอุดหนุนงบประมาณให้กับสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะคำนึงถึงการนำไปใช้ประโยชน์ และพิจารณาจัดสรรให้เป็นไปตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละสหกรณ์เป็นหลัก รายละเอียดคุณลักษณะของครุภัณฑ์และ สิ่งก่อสร้างของแต่ละสหกรณ์จึงไม่เหมือนกัน ทำให้ราคาที่เสนอขอตั้งงบประมาณจากสหกรณ์แต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน สำหรับขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างจะดำเนินการโดยอำนาจของคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เอง ส่วนราชการจะไม่ เข้าไปแทรกแซงในทุกกระบวนการ แต่จะคอยตรวจสอบ กำกับ ติดตามให้สหกรณ์ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบการ จัดซื้อจัดจ้างอย่างเข้มงวด ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปกำกับดูแลให้สหกรณ์ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างใกล้ชิด
พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจและติดตามนโยบายไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งมีรองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นประธานในการติดตามความก้าวหน้าของโครงการ และมีคณะทำงานกำกับติดตามงานในระดับจังหวัด ที่มีผู้ตรวจราชการกรมฯ ทำหน้าที่เป็นประธานคณะทำงานในเขตจังหวัดที่รับผิดชอบ ซึ่งสหกรณ์จังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหารจัดการ และตัวแทนภาคประชาชนในจังหวัดนั้นได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานชุดดังกล่าวด้วย และหากตรวจสอบพบว่า สหกรณ์ใดไม่ดำเนินการตามกระบวนการที่กรมฯ กำหนด หรือส่อไปในทางไม่โปร่งใส กรมฯ จะสั่งการให้สหกรณ์จังหวัดระงับและยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างรายการนั้นในทันที พร้อมทั้งระงับการโอนเงินให้แก่สหกรณ์ จนกว่าสหกรณ์จะดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง .