สปสช.แจงบุคคลภาวะเพศกำกวม เช่น เกิดมามี 2 เพศ หรือมีหน้าอกแต่มีอวัยวะเพศชาย สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพผ่าตัดรักษาตรงตามเพศสภาพที่เป็นจริงตามแพทย์รับรองได้ ส่วนผ่าตัดแปลงเพศของบุคคลข้ามเพศไม่สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ให้ สปสช.พิจารณาว่าบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวมสามารถผ่าตัดแปลงเพศตามคำรับรองของแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามสิทธิหลักประกันสุขภาพหรือไม่นั้น เรื่องดังกล่าว สปสช.ได้มีหนังสือตอบกลับไปยัง กสม. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 ว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ที่เข้าข่ายบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม ที่จะผ่าตัดเพื่อการรักษาให้ตรงกับเพศสภาพตามที่แพทย์ให้การรับรอง โดยถือว่าเป็นการทำให้ตรงกับหลักฐานที่ปรากฎ จัดอยู่ในประเภทและขอบเขตของการบริการสาธารณสุขที่บุคคลมีสิทธิได้รับตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
เลขาธิการ สปสช. กล่าววว่า อธิบายเพิ่มเติมได้ว่า กรณีบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม เช่น มีหน้าอกแบบผู้หญิงแต่มีอวัยวะเพศเป็นผู้ชาย แต่มีลักษณะร่างกายอื่นๆ ฮอร์โมนเป็นเพศหญิง แพทย์ตรวจรับรองว่าเป็นหญิงจริง จำเป็นต้องได้รับการรักษาให้ตรงกับเพศสภาพที่แท้จริง สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการตรวจวินิจฉัย รักษา ฟื้นฟูจนสิ้นสุดการรักษาได้ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่การแปลงเพศ แต่เป็นการทำให้ตรงกับหลักฐานหรือเพศสภาพที่ปรากฎ
“แต่กรณีต้องการผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง จากหญิงเป็นชาย หรือที่เรียกว่าบุคคลข้ามเพศ (Transgender) นั้น ปัจจุบันยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะไม่ได้เป็นการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะการเจ็บป่วยหรือเป็นโรค” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว