ไทยเร่งยกร่างกม.ล้อมคอก 'อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน'
ยธ.เผยรัฐบาลตั้งอนุกรรมการ 3 ด้าน คุ้มครองปชช.ไม่ให้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ "อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน" พบยูเอ็นกำหนดรายชื่อบุคคลสูญหายในไทย 82 ราย ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หลังติดตามตัวพบแล้ว 4 ราย จ่อเสนอให้ปรับลดตามจริงเหลือ 78 ราย
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย”ครั้งที่ 2/2561 ทั้งนี้ภายหลังการประชุม น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเปิดเผยว่า บัญชีรายชื่อขององค์การสหประชาติ หรือยูเอ็น ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้สูญหายจากเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 จนถึงปัจจุบันจำนวน 82 ราย ในขณะที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ปี 50 และได้ลงนามรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วนการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญในปี 54 ต่อมารัฐบาลได้เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวจึงยกร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพ.ศ...ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สาระสำคัญเน้นไปที่การถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้สูญหาย หรือซ้อมทรมานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล หรือมีความผิดจากการทำร้ายร่างกาย เช่น การบังคับให้สูญหายเหมือนกับนายสมชาย นีละไพจิตร หรือนายพอลละจี รักจงเจริญ (กะเหรี่ยงบิลลี่) หากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะช่วยปกป้องและคุ้มครองประชาชนตามหลักของกระบวนการยุติธรรม
น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์บุคคลสูญหาย จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการพบว่าผู้สูญหายทั้ง 82 ราย มี 4 ประเด็น คือ ยังมีชีวิตอยู่, เสียชีวิตแล้ว, ชื่อซ้ำ ,และไม่พบชะตากรรม ส่วนรายชื่อผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 ซึ่งเอ็นจีโอส่งรายชื่อให้ยูเอ็นระบุเป็นบุคคลสูญหาย ต่อมาทางการของไทยสามารถติดตามตัวพบ ดังนี้ รายที่ 1 เพศหญิงชาวกทม.ที่สูญหายไปจากบ้าน 10 ปี ต่อมาได้กลับบ้านและเสียชีวิตลงในปี 46 รายที่ 2 เพศชาย มีภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เสียชีวิตลงในปี 47 รายที่ 3 เพศชายปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่และใช้ชีวิตปกติ รายที่ 4 เพศชายปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ ดังนั้น จำนวนผู้สูญหายจริงจึงมีเพียง 78 คน โดยศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ 38 ราย เสียชีวิต 2 ราย มีชีวิตอยู่ 2 ราย ไม่ปรากฏคำสั่งศาล 38 ราย ปรากฏชื่อในรายงานของคณะทำงานสหประชาติว่าด้วยการบังคับหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ ปี 58 จำนวน 2 ราย
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวอีกว่า ในจำนวนผู้สูญหาย 82 ราย ได้รับการเยียวยาไปแล้ว 61 ราย ไม่ขอรับการเยียวยา 21 ราย ญาติไม่ประสงค์รับความช่วยเหลือ 2 ราย ญาติขอรับการช่วยเหลือแต่ไม่รับเยียวยา 2 ราย ไม่แจ้งความ 6 ราย ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือ 10 ราย และอีก 9 รายอยู่ระหว่างการติดตามตัว ขณะที่ 2 รายล่าสุด พบติดคุกอยู่ 1 ราย และยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน 1 ราย อย่างไรก็ตาม ตามหลักของยูเอ็นการจะประกาศให้เป็นบุคคลสูญหายนั้นญาติต้องยอมรับด้วย ทั้งนี้รัฐบาลได้มีคำสั่งให้กระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ มีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นประธานคณะอนุกรรมการเยียวยาฯมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการด้านการป้องกันฯ มีนายณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธาน ในเร็วๆนี้ จะแต่งตั้งผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง