พลิกคำพิพากษาศาลปกครอง ไฉน! มีอำนาจวินิจฉัย คำสั่งไล่ออก ขรก.หลัง ป.ป.ช.ชี้มูล
พลิกคำพิพากษาศาลปกครองคดีอดีต ซี 7 กรมพลฯ ถูกไล่ออก ผิดวินัยร้ายแรง กรณีตรวจรับงานโครงการก่อสร้างสนามกีฬาคลองหก ประเด็นวินิจฉัย ไฉนมีอำนาจพิจารณามติชี้มูลของ ป.ป.ช. เหตุไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร มติถูกนำไปเป็นคำสั่งทางปกครอง ผู้ถูกลงโทษมีสิทธิฟ้องศาล
กรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการของนายวิทยา วงษ์สมาน อดีตข้าราชการระดับ 7 สังกัดกรมพลศึกษา คดีระหว่างนายวิทยา ผู้ฟ้อง กับ อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา (ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ (เดิม) ผู้ถูกฟ้อง ที่ 1 ,สำนักงาน ก.พ. ที่ 2 และ นายกรัฐมนตรีที่ 3 โดยมี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( คณะกรรมการ ป.ป.ช. ) เป็นผู้ร้องสอด อันเนื่องมาจากนายวิทยาถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลว่าผิดวินัยร้ายแรง กรณี ร่วมกันทุจริตโครงการ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ ใน อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี วงเงินรวมประมาณ 2 พันล้านบาท (สนามกีฬาคลอง 6) ศาลปกครองสั่งให้คืนสิทธิและประโยชน์อันพึงมีพึงได้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยถือเสมือนว่าผู้ฟ้องคดีไม่เคยถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ
นอกจากข้อเท็จจริงที่ศาลปกครองเห็นว่า เป็นคำสั่งโดยมิชอบ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมิได้กระทำความผิด เท่ากับหักมติของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ประเด็นพิจารณาประเด็นหนึ่งจากทั้งหมด 3 ประเด็นที่ศาลปกครองหยิบยกมาพิจารณาคือศาลปกครองมีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาหรือไม่?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงมาเสนอ
@ ประเด็น ป.ป.ช.ค้าน ศาลปกครองไม่มีอำนาจวินิจฉัย
คดีนี้ ผู้ร้องสอด (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) อ้างว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง แต่อำนาจดังกล่าวไม่รวมถึงการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงของผู้ร้องสอด ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองไม่อาจเพิกถอนมติของผู้ร้องสอดในฐานะเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้องสอด ผู้ฟ้องคดี (นายวิทยา) ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (อธิบดีกรมพลศึกษา) ที่ลงโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีตามมติของผู้ร้องสอด เพราะการดำเนินการทางวินัยกรณีเช่นนี้เป็นคนละกรณีกับการดำเนินการทางวินัยโดยผู้บังคับบัญชาโดยทั่วไป กล่าวคือ เป็นการดำเนินการตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งบัญญัติให้ ผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่ผู้ร้องสอดมีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก และให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของ ผู้ร้องสอดเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ฟ้องคดี ดังนั้น การวินิจฉัยชี้มูลความผิดผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการใช้ อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มิใช่การใช้อำนาจทางปกครอง จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาใน เบื้องต้นว่า ศาลมีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 88 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับคำกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 84 หรือมีเหตุอันสมควรสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ใดกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตาม หมวด 4 การไต่สวนข้อเท็จจริง มาตรา 92 บัญญัติว่า ในกรณีมีมูลความผิดทางวินัย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้วมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหา ผู้ใดได้กระทำความผิดวินัย ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นเพื่อพิจารณา โทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่า รายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ แล้วแต่กรณี
@ คำวินิจฉัย ป.ป.ช. ไม่ใช่ ศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันทุกองค์กร
จากบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น แสดงให้เห็นว่า เมื่อผู้ร้องสอดหรือคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และมีมติเป็นประการใดก็ให้เป็นที่ยุติและมีผลผูกพันผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาที่จะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามรายงานการสอบสวนของผู้ร้องสอด โดยไม่ต้องมี การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามกฎหมาย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของ ผู้ถูกกล่าวหาอีก และผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาจะต้องมีคำสั่งลงโทษตามมติของผู้ร้องสอด และยังมีผลผูกพันถึงผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ที่จะพิจารณาได้เฉพาะดุลพินิจในการ สั่งลงโทษทางวินัยผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ตามนัยของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2546
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนข้อเท็จจริงและมติของผู้ร้องสอดนั้นไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 223 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
@ มติ ป.ป.ช.ถูกนำไปเป็นคำสั่งทางปกครอง
ดังนั้น ศาลปกครองจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาข้อเท็จจริง และตรวจสอบดุลพินิจของผู้ร้องสอดในฐานะคณะกรรมการสอบสวนก่อนมีการออกคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีได้ โดยไม่จำต้องผูกพันข้อเท็จจริงและมติของผู้ร้องสอด ตามที่ผู้ร้องสอดกล่าวอ้างแต่อย่างใด ซึ่งในกรณีที่มีการร้องเรียนกล่าวหาเกี่ยวกับการจ้างงานก่อสร้างและปรับปรุง สนามกีฬา หมวดงานที่ 4 อาคารบริการกลาง และการพิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้าง ในหมวดงานทั้ง 4 ผู้ร้องสอดได้มีคำสั่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ 44/2543 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2543 และคำสั่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ ที่ 4/2550 ลงวันที่ 18 มกราคม 2550 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหา นายสุวรรณ กู้สุจริต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมพลศึกษาและอธิบดีกรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กับพวก (1) กระทำผิด ฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในโครงการก่อสร้างสนามกีฬา เฉลิมพระเกียรติ ฯ (คลอง 6) (2) กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิด ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในโครงการก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบ (อาคารอเนกประสงค์) สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ กรมพลศึกษา ซึ่งต่อมา ผู้ร้องสอดได้มีมติว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีกับพวกซึ่งรวมถึงนายสุวรรณ กู้สุจริต มีมูลความผิด ฐานเจ้าพนักงานร่วมกันหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่น ได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 82 วรรคสาม ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 45 วรรคสอง และฐานกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษ ที่หนักกว่าจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือได้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือกระทำการอื่นใด อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 และส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยต่อไป
@ ผู้ถูกลงโทษมีสิทธิฟ้องศาล
เมื่อการที่ผู้ร้องสอดมีมติชี้มูล ไม่ใช่การใช้อำนาจโดยตรง ตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นำมติของผู้ร้องสอดที่มีมติชี้มูลมาเป็นฐานในการออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งลงโทษดังกล่าวที่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้ ข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องสอดจึงรับฟังไม่ได้
นี่คือคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลปกครองกลางในประเด็นนี้
ต้องรอดูว่า จะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ และ ผลคดีเป็นอย่างไร? น่าติดตาม
อ่านประกอบ:
ศาลปกครองให้ซี 7 กรมพลฯ ชนะคดีถูกไล่ออกคดีสนามกีฬาคลองหก คำสั่งมิชอบ