มูลเหตุ ‘บิ๊กป้อม’ สั่งประชุมผู้ว่าฯ 23 จว แก้ปัญหา 'ขยะทะเล' ปีละกว่า 4.5 หมื่นตัน
ปัญหาขยะในทะเลและชายฝั่งได้สร้างปัญหาให้แก่ประเทศไทยเป็นวงกว้าง สร้างผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก ระบบนิเวศทางทะเล การประมง การท่องเที่ยว และคุณภาพของน้ำ โดยเฉพาะขยะประเภทไมโครพลาสติกที่เพิ่มปริมาณเป็นจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ณ ทำเนียนรัฐบาล เพื่อหารือร่วมกันแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ทิ้งลงทะเล ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณกว่า 45,000 ตัน/ปี
ปัญหาขยะพลาสติกที่ทิ้งลงทะเล ได้กลายเป็นปัญหาที่กระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ที่สำคัญกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างมาก โดยขยะทะเล ที่พูดถึงกันนี้ จะพบว่า ส่วนใหญ่ ก็คือขยะจำพวกพลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ถุง ขวด ภาชนะใส่อาหาร มีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และเครื่องมือประมง เช่น แห อวน ลอบ ด้วย ทั้งหมดนับเป็นขยะทะเลทั้งสิ้น
มีรายงานว่า พล.อ.ประวิตร ได้ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพในการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล และ กทม. รวมทั้งส่วนราชการและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและมีส่วนร่วมกันดูแลรักษาความสะอาดทางทะเลและชายฝั่งให้มากขึ้น ต่อปัญหาขยะที่ถูกทิ้งลงทะเล โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งมีจำนวนมากจนประเทศไทยถูกจัดลำดับมีปริมาณ “ขยะทะเล” เป็นอันดับ 6 จาก 192 ประเทศทั่วโลก (วารสาร Science ปี 2558)
พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับ ขอให้พิจารณาสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการและรับผิดชอบร่วมกันต่อปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้มีทั้งกิจกรรมในระดับพื้นที่ชุมชนและการรณรงค์สร้างจิตสำนึกร่วมกัน
ขณะเดียวกันให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องติดตามและกวดขันมาตรการทางกฎหมายกับผู้ที่ละเมิด ละเลย อย่างจริงจัง
หนึ่งประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังให้พิจารณายกระดับปัญหาขยะทะเล ขยายความร่วมมือไปสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพอาเซียน ในปี 2562 ด้วยทุกวันนี้ปัญหาขยะทะเล กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ไปแล้ว
ตอนนี้คนทั้งโลกกำลังเน้นเรื่องขยะทะเลมากขึ้น
- มีข้อมูล แต่ละปี ขยะพลาสติกจากทั่วโลกไหลลงสู่ทะเลกว่า 13 ล้านตัน
- กว่าครึ่งของขยะทะเล คือ ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
- และ 5 แสนล้านใบแต่ละปี คือ ตัวเลขที่ทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติก
ขณะเดียวกันกระแสบ้านเราก็กำลังมาแรง ก่อนหน้านี้ เราได้เห็นภาพ แพขยะทะเล ยาวกว่า 10 กิโมเมตร ในทะเลนอกเขตชายฝั่งของจังหวัดชุมพร อันนี้ก็ได้กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ทุกฝ่ายกลับมาสนใจอีกครั้ง ที่สะเทือนใจสุด เห็นจะเป็นภาพข่าววาฬ เกยตื้น จ.สงขลา ตายลง มีการผ่าพิสูจน์ พบขยะพลาสติกในกระเพาะอาหารถึง 80 ชิ้น และ ข่าว แม่เต่าตนุตาย โดยที่มีขยะอัดแน่นเต็มท้อง
จากนั้น ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ต่างออกมารณรงค์ ไม่รับถุงพลาสติก ไม่เอาหลอด แลกการได้แต้ม สะสมแต้ม และได้ส่วนลด รวมถึงร้านกาแฟหลายๆ แห่งออกโปรโมชั่นเอาแก้วมาเองลด 5 บาท เป็นต้น
มุมของภาครัฐเอง อย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประกาศนโยบายเลิกใช้โฟม ลดใช้ถุงพลาสติก (ถุงก๊อบแก๊บ) เข้ามาในพื้นที่ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ลดการสร้างขยะสู่ทะเล โดยเฉพาะภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Refuse single use plastics) โดยให้ถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2561
เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นนโยบายที่รัฐมนตรีประกาศชัด ดีเดย์ วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป สถาบัน และโรงพยาบาลในสังกัดกรม การแพทย์ จำนวน 30 แห่งจะยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกใส่ยา ด้วยมีข้อมูลพบว่า การใช้ถุงพลาสติกในสังกัดกรมการแพทย์ปี 2560 มีการใช้ถุงพลาสติกจำนวนถึง 9 ล้านใบ หรือคิดเป็นมูลค่า 2.5 ล้านบาท
เรื่องขยะทะเล ในระดับยุทธศาสตร์ชาตินั้น ยังเป็นประเด็นปฏิรูปโดยถูกบรรจุไว้ในแผนการปฏิรูปทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งสามารถหาอ่านได้ในราชกิจจานุเบกษา หมวดปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่หน้า 194 โดยระบุว่า
ปัญหาขยะในทะเลและชายฝั่งได้สร้างปัญหาให้แก่ประเทศไทยเป็นวงกว้าง กล่าวคือสร้างผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก ระบบนิเวศทางทะเล การประมง การท่องเที่ยว และคุณภาพของน้ำ โดยเฉพาะขยะประเภทไมโครพลาสติกที่เพิ่มปริมาณเป็นจำนวนมากอาจส่งผลต่อคุณภาพสัตว์น้้ำและสุขภาพมนุษย์ รวมถึงยังได้มีการบรรจุไว้เป็นเรื่องเร่งด่วนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 258 ช. ด้านอื่นๆ ข้อ (3) จัดให้มีระบบจัดการและกําจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เรียกได้ว่า ปัญหาขจัดขยะทะเล มีความจำเป็นเร่งด่วนระดับชาติ ในแผนปฏิรูปทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็ได้มีการวางกรอบระยะเวลา 1 ปี จะต้อง
- มีแผนประชารัฐขจัดขยะทะเล
- มีกองทุนเพื่อดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์บริหารจัดการขยะทะเล (120 ล้านบาท และงบดำเนินการ ปีละ 20 ล้านต่อเนื่อง 5 ปี )
- บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
- ปริมาณขยะทะเลดีขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างน้อยร้อยละ 50 ใน 10 ปี
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางด้านเศรษฐศาสต์ อาทิ ให้อปท เริ่มขายถุงพลาสติก ตามร้านแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล หรือจัดเก็บภาษี อย่างน้อย 10 แห่ง ซึ่งตรงนี้ก็จะต้องมีการปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทยและอปท.
ฉะนั้น การบริหารจัดการขยะในทะเลและชายฝั่ง ไม่ใช่ประเทศไทยไม่ได้ทำอะไร เราแนวทางมีแล้ว เหลือคนไทยมีส่วนร่วม โดยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะเราทุกคนเป็นทั้งต้นเหตุที่ทำให้ขยะเกิด ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากขยะเช่นเดียวกัน