เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์
“…เมื่อบุคคลระดับประธานาธิบดีมาอยู่ที่นี่บ่อยครั้งเข้า ประชาชนเริ่มสังเกตเห็น เลยเริ่มตัวกันมาเพื่อเรียกร้องข้อเสนอทางการเมืองของพวกเขาที่ ‘ล็อบบี้โรงแรม’ ให้ประธานาธิบดีไปดำเนินการ เมื่อมากเข้ากลุ่มเลยใหญ่ขึ้น จนทำให้พนักงานที่โรงแรมแห่งนี้ เวลาเจอบุคคลเหล่านี้ มักเรียกว่า “นั่นไงพวกล็อบบี้มารอเจอประธานาธิบดีกันอีกแล้ว” หรือล็อบบี้ยิสต์นั่นเอง…”
หลังจากนั่งหลังขดหลังแข็งยาวนานกว่า 27 ชั่วโมง (รวมเวลาเปลี่ยนเครื่อง และพักในสนามบิน) ในที่สุด ‘นกเหล็ก’ ก็พาผมมาถึง วอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของประเทศหนึ่งในมหาอำนาจโลก สหรัฐอเมริกา
ความประทับใจแรกเมื่อมาถึง นอกเหนือไปจากบ้านเมืองที่ค่อนข้างเป็นระเบียบ ไร้สายไฟระเกะระกะโยงยางเหมือนในกรุงเทพฯ คงเป็นสภาพอากาศที่แจ่มใส อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 28 องศา และต่ำสุดประมาณ 18 องศา เพราะช่วงเดือน ก.ค. เป็นฤดูร้อนอันสดใสของผู้คนในประเทศนี้ เวลากลางวันยาวนานกว่ากลางคืนมาก กล่าวคือ แสงแรกของวันจะเริ่มในช่วงเวลาประมาณ 06.00 น. และสิ้นสุดลงประมาณ 21.00 น.
เมื่อพูดถึง วอชิงตัน ดี.ซี. ไม่ได้มีแค่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ อันลือชื่อระดับโลก แต่ยังเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญระดับประเทศ และเปรียบเหมือน ‘ศูนย์กลาง’ อำนาจทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา
ไม่รู้เป็นเพราะสภาพภูมิประเทศ หรือพระเจ้าอวยพร วอชิงตัน ดี.ซี. ไม่มีเมฆเลยแม้แต่นิดเดียว ท้องฟ้าเป็น ‘สีฟ้า’ อย่างชัดเจน ทำให้การเดินทางเพื่อเยี่ยมชนสถานที่สำคัญเหล่านี้เป็นไปด้วยความราบรื่น แม้จะชุ่มไปด้วยเหงื่อบ้าง แต่ก็ทุเลาลงได้เมื่อเห็นความอลังการของ ‘สัญลักษณ์ทางการเมือง’ ของประเทศนี้
ไกด์ ‘เอริค’ ชายวัยรุ่นตอนปลาย สัญชาติอเมริกัน/โบลิเวีย ผู้เต็มไปด้วยรอยยิ้ม รอผมอยู่แล้ว เขายกคำคมติดตลกของชาวโบลิเวี่ยนว่า “คนโบลิเวีย เป็นคนตรงเวลาเสมอ แม้มาสาย 1 ชั่วโมงก็ถือว่าตรงเวลา” ผมไม่ค่อยเข้าใจความหมาย แต่ทำให้การเดินทางครั้งนี้ไม่แล้งเสียงหัวเราะมากนัก เช่นเดียวกับ ‘พี่แอน’ และ ‘พี่สูน’ 2 ล่ามหญิงชาวไทย ฝีมือหาตัวจับยาก เป็นคนแปลให้บุคคลระดับ ‘บิ๊ก’ ในรัฐบาลสหรัฐอเมริกามาแล้วหลายราย ขะมักเขม้นแปลความสำคัญให้ผมจดยิก ๆ กันอย่างสนุกมือ
ถ้าไม่นับสถานที่ที่คนทั่วไปน่าจะรู้จักอยู่แล้วอย่าง ทำเนียบขาว (The White House) หรือสภาคองเกรส (United States Congress) วอชิงตัน ดี.ซี. ยังมีอีกหลายสถานที่ที่น่าสนใจ และมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ซ่อนอยู่อีกพอสมควรเลยทีเดียว
สถานที่แรกที่เราจะไปคือ จัตุรัสลาฟาแยต (Lafayette Square) ตั้งอยู่ด้านหน้าทำเนียบขาว (The White House) ก่อตั้งขึ้นเพื่อเชิดชูวีรบุรุษที่เข้าร่วมการต่อสู้ในสงครามปฏิวัติอเมริกา หรือสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา (ค.ศ.1775-1783) โดยการเอาชนะเครือจักรภพบริเตนใหญ่ (ประเทศอังกฤษขณะนั้น) ลงได้ และนำไปสู่การก่อตั้งสหรัฐอเมริกา มีบุคคลสำคัญ 5 รายที่มีบทบาทในสงครามครั้งนี้ถูกสร้างเป็นรูปปั้น โดยบุคคลที่อยู่กึ่งกลางของจัตุรัสดังกล่าวคือ แอนดรูว์ แจ็คสัน (ค.ศ. 1767-1845) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 7 เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญมากในการรบของสงครามครั้งนั้น เป็นคนคิดค้น ‘Jacksonian Democracy’ และมีอิทธิพลมากในแวดวงการเมืองสหรัฐอเมริกาช่วงนั้น ขณะที่รูปปั้นบรรดาขุนพลต่างชาติ ทั้งฝรั่งเศส 2 ราย ปรัสเซีย (เยอรมัน ขณะนั้น) 1 ราย และโปแลนด์ 1 ราย ตั้งไว้ที่จุดตัด 4 ด้าน
(รูปปั้น แอนดรูว์ แจ็คสัน ปธน.สหรัฐฯคนที่ 7)
สถานที่ต่อมาคืออนุสรณ์สถานโทมัส เจฟเฟอร์สัน (The Thomas Jefferson Memorial) เป็นสถานที่ตั้งของรูปปั้นหินอ่อนขนาดยักษ์ของอดีตประธานาธิบดีคนที่ 3 แห่งสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนคำประกาศอิสรภาพ โดยมีใจความสำคัญที่ถูกหยิบยกอ้างอิงไปทั่วโลกได้แก่ “พระเจ้าได้มอบสิทธิบางประการให้มนุษย์โดยมิสามารถเพิกถอนได้ คือ การมีชีวิต เสรีภาพ และการเสาะแสวงหาความสุข” (Life Liberty and Pursuit of happiness)
แม้สถานที่แห่งนี้จะโด่งดัง และเป็นที่ฮอตฮิตของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่มีสิ่งหนึ่งซ่อนอยู่ในการก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ นับเป็นการจงใจออกแบบได้อย่างแนบเนียน และน่าสนใจมาก นั่นคือ รูปปั้นแห่งนี้หันหน้าไปทางทำเนียบขาว และในเส้นสายตาของโทมัส เจฟเฟอร์สัน ที่มองไปยังทำเนียบขาวนั้น ปราศจากสิ่งกั้นขวาง แม้แต่ต้นไม้ก็ถูกออกแบบให้มี ‘ช่องว่าง’ ห่างกันเพื่อให้เจฟเฟอร์สัน (รวมถึงพวกเรา และคนอื่น ๆ) มองเห็นทำเนียบขาวจากสถานที่แห่งนี้ได้
ไกด์ ‘เอริค’ บอกพวกเราว่า สาเหตุที่ทำเช่นนี้นัยว่า ต้องการให้เจฟเฟอร์สันตรวจสอบการทำงานประธานาธิบดีคนต่อ ๆ มาว่า ปกป้องรักษาสิทธิในรัฐธรรมนูญไว้มากน้อยแค่ไหน
มีเสียงแซวดังขึ้นว่า “เห็นช่วงนี้เจฟเฟอร์สันหน้าบึ้ง ๆ สงสัยเห็นการทำงานของโดนัลด์ ทรัมป์แน่ ๆ เลย” เรียกเสียงครื้นเครงให้ในวงไม่น้อย
(รูปปั้นโทมัส เจฟเฟอร์สัน ปธน.สหรัฐฯคนที่ 3)
ต่อมาพวกเราเดินทางไปยังสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่ตั้งใกล้กันกับที่แรก นั่นคือ อนุสรณ์สถานอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln Memorial) ประธานาธิบดีคนที่ 16 หนึ่งในบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา บุรุษผู้เป็นตำนานในสงครามกลางเมือง หรือ Civil War (ค.ศ.1861-1865) ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเจฟเฟอร์สัน เดวิส นักการเมืองคนสำคัญในฝ่ายรัฐทางใต้ผู้ผลักดันให้เกิดสงครามกลางเมือง และนายพลโรเบิร์ต อี.ลี.
กล่าวสำหรับนายพลโรเบิร์ต อี.ลี. ก่อนหน้าเกิดสงครามกลางเมือง เขาเป็นนายทหารคนสำคัญที่รบในสงครามเม็กซิโก-อเมริกา แย่งชิงรัฐเท็กซัส โดยอเมริกาเป็นฝ่ายคว้าชัย ขณะนั้นยศของเขายังอยู่แค่ ‘พันเอก’ แต่ต่อมาเมื่อเดวิส ผลักดันให้เกิดสงครามจากที่ลินคอล์นประกาศเลิกทาส ทำให้พันเอกโรเบิร์ต อี.ลี. ที่มีบ้านเกิดอยู่ในรัฐทางใต้คือเวอร์จิเนีย ตัดสินใจทิ้งตำแหน่งทุกอย่างในวอชิงตัน ดี.ซี. กลับมารับใช้บ้านเกิดเพื่อรบกับรัฐบาลทางเหนือ ได้รับการเลื่อนยศเป็น ‘พลเอก’ แต่แม้จะรบเก่งกาจเพียงใด นำทัพทางใต้บดขยี้ทางเหนือมากแค่ไหน แต่ด้วยจำนวนคน เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม ทำให้รัฐทางใต้พ่ายแพ้ และถูกลินคอล์นชักจูงให้กลับมารวมประเทศเหมือนเดิม
ประเด็นที่จะเล่าคือ ในรูปปั้นของอับราฮัม ลินคอล์น ที่ตั้งอยู่ในอนุสรณ์สถานแห่งนี้ เมื่อมองจากด้านข้าง จะสังเกตได้ว่า คล้ายมี 2 ใบหน้าบนหัวเดียวกันคือ ใบหน้าด้านหน้า เป็นของลินคอล์น ส่วนด้านหลังศีรษะ คล้ายกับมีใบหน้าคนอยู่คนหนึ่ง ไกด์ ‘เอริค’ อธิบายว่า ตรงนี้เป็นปริศนาที่ค่อนข้างลึกลับ และผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างไม่มีใครให้คำตอบ อย่างไรก็ดีมี 2 ทฤษฎีที่อาจมีความเป็นไปได้ คือ 1.อาจเป็นภาพของดาเนียล เชสเตอร์ เฟรนช์ ผู้ออกแบบ หรือ 2.อาจเป็นภาพของนายพลโรเบิร์ต อี.ลี. โดยทฤษฎีที่น่าจะมีความเป็นไปได้ที่สุดคือ ภาพของนายพลโรเบิร์ต อี.ลี.
ทำไมถึงเป็นนายพลโรเบิร์ต อี.ลี. ไกด์ ‘เอริค’ เล่าว่า เพราะนายพลโรเบิร์ต อี.ลี. เก่งมาก และเคยทำงานในวอชิงตัน ดี.ซี. มาก่อน และเป็นนายพลคนสำคัญที่ลินคอล์นมองว่าเป็นตัวชี้ขาดการชนะหรือพ่ายแพ้สงครามครั้งนี้ ทำให้ลินคอล์นนึกภาพของชายคนนี้ตลอดเวลา นอกจากนี้ด้านหลังศีรษะลินคอล์นที่ว่ากันว่ามีการสลักใบหน้านายพลโรเบิร์ต อี.ลี. นั้น ยังหันหน้าไปทางบ้านเกิดของนายพลโรเบิร์ต อี.ลี. คือรัฐเวอร์จิเนียอีกด้วย
(รูปปั้นอับลาฮัม ลินคอล์น ปธน.สหรัฐฯคนที่ 16)
สถานที่สุดท้าย เป็นสถานที่ที่ผมสนใจเป็นอย่างมาก เพราะไกด์ ‘เอริค’ เกริ่นยั่วน้ำลายมาแต่ไกลเลยว่า “วันนี้จะพาพวกเราไปพบกับสถานที่กำเนิด ‘ล็อบบี้ยิสต์’ แห่งแรกของโลก”
ล็อบบี้ยิสต์ (Lobbyist) ปัจจุบันคือกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญในการวิ่งเต้นให้กับบรรดานักการเมือง-นายทุน-นักธุรกิจใหญ่ รวมถึงกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจและการเมืองทั่วโลก โดยมีเครือข่ายสื่อมวลชนในการสร้างภาพให้กับลูกค้า นับเป็นอาชีพสำคัญที่สร้างรายได้มหาศาล และทำกันเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา
หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อนี้มาบ้าง โดยเฉพาะการเมืองในไทย ที่มีการกล่าวหากันว่า อดีตนายกรัฐมนตรีรายหนึ่ง จ้างล็อบบี้ยิสต์ มาปั่นกระแสทางการเมือง สร้างภาพให้เหมือนตัวเองตกเป็นเหยื่อ ผ่านการว่าจ้างสื่อมวลชนระดับโลกหลายแห่ง เบื้องต้นมีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่า อดีตนายกฯรายนี้ ว่าจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ 5 แห่งในสหรัฐอเมริกาเพื่อปั่นกระแสทางการเมืองดังกล่าว
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ต้นกำเนิดของล็อบบี้ยิสต์ มีที่มาจากอะไร ?
ไกด์ ‘เอริค’ พาเราลัดเลาะไปตามถนนเพลซิลวาเนีย ถนนตัดกลางระหว่างทำเนียบขาว และสภาคองเกรส เขาระบุว่า เป็นเหมือนเส้นแบ่งอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ก่อนจะพาพวกเราไปที่โรงแรมเดอะ วิลลาร์ด อินเตอร์ คอนติเนนทัล โดยบอกว่า สถานที่แห่งนี้แหละคือต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์
เขาเล่าว่า ในช่วงปี ค.ศ.1869-1877 ยูลิสซีส เอส.แกรนด์ ประธานาธิบดีคนที่ 18 แห่งสหรัฐอเมริกา มีบุคลิกชอบสูบซิการ์จัด และดื่มเหล้า ‘เบอร์เบิ้นวิสกี้’ สวนทางกับ ‘สุภาพสตรีหมายเลข 1’ ขณะนั้น ทำให้เวลาแกรนด์ต้องการสูบซิการ์ หรือดื่มเหล้า มักถูกภรรยาไล่ให้ออกไปทำกิจกรรมนอกทำเนียบขาวเสมอ เลยต้องระเห็จระเหิดมานั่งสูบซิการ์ และดื่มเหล้าที่โรงแรมเดอะ วิลลาร์ดฯ แห่งนี้
และเมื่อบุคคลระดับประธานาธิบดีมาอยู่ที่นี่บ่อยครั้งเข้า ประชาชนเริ่มสังเกตเห็น เลยเริ่มตัวกันมาเพื่อเรียกร้องข้อเสนอทางการเมืองของพวกเขาที่ ‘ล็อบบี้โรงแรม’ ให้ประธานาธิบดีไปดำเนินการ เมื่อมากเข้ากลุ่มเลยใหญ่ขึ้น จนทำให้พนักงานที่โรงแรมแห่งนี้ เวลาเจอบุคคลเหล่านี้ มักเรียกว่า “นั่นไงพวกล็อบบี้มารอเจอประธานาธิบดีกันอีกแล้ว” หรือล็อบบี้ยิสต์นั่นเอง
เป็นจุดเริ่มต้นที่ชวนหัวไม่น้อย แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว กลับมีพัฒนาการไปสู่อีกหลายสิ่งที่ค่อนข้าง ‘เทา ๆ’ จนทำให้หัวเราะไม่ออก ?
(โรงแรมวิลลาร์ดฯ ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์)
หมดวันเสียแล้ว เสียดายมาก ที่จริงได้ไปหลายสถานที่มากกว่านี้ เช่น ด้านหน้าทำเนียบขาว สภาคองเกรส กำแพงรายชื่อผู้เสียชีวิตในสงครามเวียดนาม เป็นต้น แต่รายละเอียดต่าง ๆ อาจหาข้อมูลกันได้ง่ายอยู่แล้ว เลยไม่ได้เอ่ยถึงมากนัก
ทั้งหมดคือเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เบื้องหลังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่หลายคนอาจยังไม่รู้ของศูนย์กลางมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ส่วนประเด็นที่น่าสนใจอื่น ๆ จะติดตามนำมาฝากท่านผู้อ่านอีกเรื่อย ๆ โปรดติดตามตอนต่อไป