เปิดรายงาน สตง."งบใต้"พุ่งไม่หยุด (อีก 1-2 ปีแตะ 2 แสนล้าน!)
ในขณะที่รัฐบาลกำลังโหมกระแสการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นการบูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน โดยเฉพาะการใช้งบประมาณให้สอดคล้องประสานกันเพื่อผลสัมฤทธิ์ในการคลี่คลายสถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานกว่า 8 ปีนั้น
ประเด็นที่ยังคงน่าเป็นห่วงคือ การบริหารงบประมาณเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาซ้อนปัญหามาโดยตลอด
ในรายงานการศึกษาของ "สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน" (สตง.) เรื่อง "การบริหารงบประมาณเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2547-2552" ซึ่งได้นำเสนอต่อรัฐบาลเมื่อปลายปี 2554 พบประเด็นปัญหาหลักๆ 2 ประการ กล่าวคือ
1.เงินงบประมาณที่ใช้จ่ายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในแต่ละปีงบประมาณมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมีข้อมูลจากสำนักงบประมาณระบุว่า ได้จัดสรรเงินงบประมาณในการแก้ไขและการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547-2552 จำนวน 109,396.21 ล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2552 จัดสรรเงินงบประมาณจำนวน 27,547.53 ล้านบาท มากกว่าเงินงบประมาณที่จัดสรรในปีงบประมาณ 2547 จำนวน 13,450.57 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นประมาณ 2.05 เท่า
สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานระดับกรมและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ตอบข้อมูลกลับมายัง สตง.จำนวน 86 หน่วยงาน พบว่า ในปีงบประมาณ 2547 ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณจำนวน 1,389.47 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 22,756.57 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2552 หรือคิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 16.38 เท่า
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 195 หน่วยงาน ปรากฏว่า การจัดสรรเงินงบประมาณที่ใช้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีงบประมาณ 2547 ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 265.83 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 10,422.32 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2552 หรือเพิ่มคิดเป็นสัดส่วน 39.21 เท่า!
ทั้งนี้ ตัวเลขงบประมาณรวมในภารกิจดับไฟใต้ในรายงาน สตง. ระหว่างปีงบประมาณ 2547-2552 สรุปได้ดังนี้ ปีงบประมาณ 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2548 จำนวน 13,674 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2549 จำนวน 14,207 ล้านบาท ปีงบประมาสณ 2550 จำนวน 17,526 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2551 จำนวน 22,988 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2552 จำนวน 27,547 ล้านบาท ซึ่งชัดเจนว่าสูงขึ้นทุกปี
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "ทีมข่าวอิศรา" ยังพบว่า ตัวเลขงบดับไฟใต้ใน 4 ปีงบประมาณถัดมา คือ 2553-2556 แม้จะลดลงกว่าในช่วงก่อนหน้า แต่ก็ยังมีสัดส่วนที่สูงอยู่ กล่าวคือ ปีงบประมาณ 2553 จำนวน 16,507 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2554 เพิ่มเป็น 19,102 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2555 ลดลงมาอยู่ที่ 16,277 ล้านบาท และปี 2556 ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระแรก ดีดกลับไปที่ 20,731 ล้านบาท
รวมยอดงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในภารกิจดับไฟใต้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547-2556 สูงถึง 1.8 แสนล้านบาทเศษ และหากการจัดสรรงบประมาณยังมีแนวโน้มในอัตราเช่นนี้ต่อไป ในปีงบประมาณหน้า (2557) ยอดรวมงบดับไฟใต้จะสูงแตะ 2 แสนล้านบาท!
2.การบริหารงบประมาณ โครงการ กิจกรรม และงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาอุปสรรคใน 3 เรื่อง แต่บางเรื่องได้แก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว ได้แก่
- แนวทางการบริหารงบประมาณเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้แตกต่างจากการบริหารงบประมาณปกติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหา คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มีอำนาจอนุมัติหรือเปลี่ยนแปลงแผนงาน โครงการ งบประมาณ ภายในกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ และให้ส่วนราชการทุกส่วนให้การสนับสนุน
- การจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงาน โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ไม่สามารถขอตั้งงบประมาณได้เองโดยตรง ซึ่งประเด็นนี้ปัจจุบันได้แก้ไขปัญหาไปแล้ว หลังจากมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.ศอ.บต.ฉบับใหม่) โดยยกฐานะของ ศอ.บต.ขึ้นเป็นหน่วยงานอิสระเทียบเท่า กอ.รมน. และสามารถตั้งงบประมาณได้เอง
- พบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ ประเด็นนี้ สตง.พบว่าการช่วยเหลือเยียวยาใช้งบประมาณสูงมาก โดยมีภาระผูกพันทางงบประมาณที่ต้องให้การศึกษาแก่บุตรของผู้ที่ได้รับผลกระทบจนจบปริญญาตรี หรืออายุครบ 25 ปี ทั้งยังต้องจ่ายค่ายังชีพรายเดือนให้แก่บุคคลเหล่านี้โดยใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีบทบาทช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก
นอกจากนั้น การดำเนินการของศูนย์ปฏิบัติการเยียวยาของรัฐก็ยังมีปัญหาขาดแคลนงบประมาณและบุคลากร อีกทั้งได้รับงบประมาณล่าช้า ทำให้การบริการของศูนย์ขาดความคล่องตัว จึงควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างพอเพียง และควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงกิจกรรมการช่วยเหลือเยียวยา ตลอดจนขั้นตอนต่างๆ ทั้งควรสั่งการให้ อปท.ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ได้รับผลกระทบทราบถึงสิทธิในการขอรับความช่วยเหลือด้วย
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลผู้มีสิทธิรับทุนการศึกษาและผู้มีสิทธิได้รับเงินยังชีพรายเดือนเอาไว้ เพื่อให้สามารถประมาณการณ์ภาระผูกพันและเตรียมความพร้อมเรื่องงบประมาณในอนาคต
ทั้งหมดนี้ถือเป็นข้อมูลตรงจากส่วนราชการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพึงรับฟังและนำไปปรับปรุงวิธีการบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป ท่ามกลางกระแสการบูรณาการหน่วยงานดับไฟใต้ที่รัฐบาลตีฆ้องร้องป่าวอย่างครึกโครม...
เพราะเกือบ 10 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบ ใช้งบไปเกือบ 2 แสนล้าน ทั้งหมดก่อผลสัมฤทธิ์ประการใดบ้าง...ชาวบ้านในพื้นที่คงรู้คำตอบเป็นอย่างดี!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :
1 ณัฐพล หวังทรัพย์ เป็นผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจการเมือง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
2 สกู๊ปชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พ.ค.2555 ด้วย