สปสช.เผย10ปี ทันตกรรมสิทธิบัตรทอง เสริมสุขภาพปชช.กว่า 6.3 แสนคน
สปสช.เผย สิทธิประโยชน์ทันตกรรมใส่ฟันเทียมกว่า 10 ปี ดูแลประชาชนแล้วกว่า 6.3 แสนคน ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ยกคุณภาพชีวิตคนไทยเพิ่มขึ้น เน้นผู้สูงอายุ ชี้ผลสำเร็จจากความร่วมมือกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการทันตกรรมทั่วประเทศ และคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การมีสุขภาพปากและฟันที่ดีเป็นส่วนสำคัญต่อการมีสุขภาพกายที่ดี เพราะทำให้กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ นำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เล็งเห็นความสำคัญของการบริการทันตกรรม โดยเฉพาะการใส่ฟันเทียมให้กับผู้ที่ไม่มีฟันบดเคี้ยว ในปี 2551 จึงได้บรรจุบริการทันตกรรมและใส่ฟันเทียมเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการใส่ฟันเทียมในผู้ที่จำเป็น ต่อมาในปี 2554 จึงได้ร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดำเนิน “โครงการฟันเทียมพระราชทาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง
ทั้งนี้จากการดำเนินสิทธิประโยชน์ใส่ฟันเทียมในปี 2551 ที่เป็นปีแรกเริ่มต้น มีผู้รับการใส่ฟันเทียม ทั้งที่ใส่ฟันเทียมบางส่วนและใส่ฟันเทียมทั้งปาก ครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้อายุต่ำกว่า 60 ปี และผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 28,390 คน และหลังจากนั้นได้มีการดำเนินสิทธิประโยชน์ใส่ฟันเทียมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551-2561 (ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 61) มีผู้รับบริการใส่ฟันเทียมทั้งสิ้นจำนวน 631,051 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 367,291 คน คิดเป็นร้อยละ 58.20 และผู้ที่อายุต่ำกว่า 60 ปี จำนวน 263,759 คน คิดเป็นร้อยละ 41.8
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เมื่อดูข้อมูลจำเพาะในส่วนผู้รับบริการฟันเทียมทั้งปากตาม “โครงการฟันเทียมพระราชทานภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ที่ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2554 จากผลดำเนินงานในช่วงระยะเวลา 7 ปี 6 เดือน (ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 61) มีผู้รับบริการ 412,844 คน โดยเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 274,579 คน คิดเป็นร้อยละ 66.51 และกลุ่มอายุต่ำกว่า 60 ปี จำนวน 138,265 คน คิดเป็นร้อยละ 33.49โดยการดำเนินงานบริการทันตกรรมใส่ฟันเทียมทั้งปากในปี 2560 ยังเป็นไปตามเป้าหมาย มีผู้เข้ารับบริการทันตกรรม จำนวน 33,670 คน จากเป้าหมาย 35,000 คน คิดเป็นร้อยละ 96.2 ส่วนในปี 2561 นี้ มีผู้เข้ารับบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากแล้วจำนวน 17,707 ราย (ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 61) จากเป้าหมาย 35,000 คน คาดการณ์ว่าการบริการจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เช่นกัน
นอกจากนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับบริการใส่ฟันอย่างครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สปสช.จึงได้ดำเนิน “โครงการฟันเทียมพระราชทาน โดยความร่วมมือกับคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย เพื่อใส่ฟันเทียมให้กับผู้สูงอายุ โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ที่ร่วมโครงการ ประกอบด้วย 1) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล 2) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 4) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 5) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.รังสิต 6) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 7) รพ.คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.นเรศวร 8) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น 9) รพ.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ทั้งนี้จากข้อมูลปีงบประมาณ 2560 ดำเนินการไปแล้วจำนวน 1,124 คน โดยในปี 2561 ได้มีการขยายเวลาดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันครบตามเป้าหมายโครงการจำนวน 1,610 คน
“สิทธิประโยชน์ทันตกรรม โดยเฉพาะการใส่ฟันเทียมให้กับผู้ที่มีปัญหาไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหาร สามารถดำเนินงานจนเห็นผลสำเร็จ โดยมีผู้รับบริการแล้วกว่า 630,000 คน นับเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ รวมถึง คณะทันตแพทย์ศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมดูแลประชาชนทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี” เลขาธิการ สปสช.กล่าว