ฉบับเต็ม! คำพิพากษาคดีละเว้นอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ-จำคุกอดีตผู้ว่าฯลำปาง พวก14ราย ไม่รอลงอาญา
“...จำเลยที่ 1 ถึง 14 ทราบดีว่า สถานที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และกรมป่าไม้ยังไม่ได้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ เป็นการละเลยไม่ระงับยับยั้งการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ทั้งยังละเว้นไม่จับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและทำการยึดของกลางที่พบตามอำนาจหน้าที่ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83, 157 พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ...”
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก นายดิเรก ก้อนกลีบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมพวก 14 ราย โดยไม่รอลงอาญา ในคดีละเว้นการจับกุมผู้บุกรุกก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ กิ่วข้าวหลาม อ่างเก็บน้ำปงชัย อ่างเก็บน้ำแม่ทู และอ่างเก็บน้ำแม่หลวง ในเขต อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดนายดิเรก พร้อมพวก 14 ราย ในช่วงเดือนมิ.ย.2557 ที่ผ่านมา โดย นายดิเรก และ นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ อดีตนายอำเภอแม่เมาะ ถูกศาลตัดสินลงโทษคนละ 4 กรรมๆ ละ 4 ปี รวมจำนวน 16 ปี ส่วนจำเลยอื่นถูกตัดสินโทษลดหลั่นกันลงมา เบื้องต้น จำเลยทั้งหมด ได้มีการยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวในช่วงเย็นวันเดียวกัน เพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกาต่อไปแล้วนั้น (อ่านประกอบ : ศาลฯสั่งจำคุกอดีตผู้ว่าฯลำปาง-พวก14ราย คดีละเว้นอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ-หัวขบวนโดน16 ปี)
ต่อมา สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับคดีนี้เพิ่มเติม ระบุข้อมูลรายชื่อจำเลยดังนี้
จำเลยที่ 1 นายดิเรกหรือ วรเดช ก้อนกลีบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ ลำปาง
จำเลยที่ 2 นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายอำเภอแม่เมาะ
จำเลยที่ 3 นายมงคล ธงสิบเจ็ด เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ทำหน้าที่ หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป 17 (แม่จางตอนขุน)
จำเลยที่ 4 นายถนอม โพธิ์วิจิตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ทำหน้าที่ หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป 38 (ท่าสี)
จำเลยที่ 5 นายอำนวย ศรีบุญชู เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 6 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง)
จำเลยที่ 6 นายธนชาติ มังกิตะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง
จำเลยที่ 7 นายประสาน ฝ่ายคำมี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ปลัดอำเภอแม่เมาะ
จำเลยที่ 8 นายสว่าง จาคำมา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจางเหนือ
จำเลยที่ 9 นายพิสิฐ ทักษิณาพิมุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาสัก
จำเลยที่ 10 นายมนตรี จำปาคำ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง กำนันตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ
จำเลยที่ 11 นายปรีดา ผลดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ
จำเลยที่ 12 นายคำเภา บุญมา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ
จำเลยที่ 13 นายวินัย ตันใจ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลจางเหนือ อำเภอแม่เมาะ
จำเลยที่ 14 นายวิช อินจันทร์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้สรุปรายละเอียดที่มาที่ไปการดำเนินงานโครงการนี้ ตามคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2561 มานำเสนอ ณ ที่นี้
@ จุดเริ่มต้น
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2551 ได้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจังหวัดลำปาง (กองทุนพัฒนาชุมชนฯ) โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารฯ 19 คน มีจำเลยที่ 1 เป็นประธานคณะกรรมการบริหารฯ และจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและเหรัญญิก โดยในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาชุมชนฯ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2551 และวันที่ 29 เม.ย. 2551 ที่ประชุมได้อนุมัติโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจำนวน 4 แห่ง ที่อยู่ในเขต อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ดังนี้
โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำกิ่วลมข้าวหลาม ห้วยแม่แป้น บ้านกอรวก ม.3 ต.จางเหนือ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มีจำเลยที่ 13 ในฐานะประธานคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นผู้เสนอโครงการ ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาชุมชนฯ วงเงิน 30,000,000 บาท
โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำปงชัย บ้านปงชัย ม.5 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มีจำเลยที่ 12 ในฐานะประธานคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นผู้เสนอโครงการ ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาชุมชนฯ ในวงเงิน 22,641,600 บาท
โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ทู บ้านจำปุย ม.4 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มีจำเลยที่ 11 ในฐานะประธานคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นผู้เสนอโครงการ ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาชุมชนฯ ในวงเงิน 21,000,000 บาท
โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่หล่วง บ้านแม่หล่วง ม.7 ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มีนายยืน มูลทา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะประธานคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นผู้เสนอโครงการ ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาชุมชนฯ ในวงเงิน 35,000,000 บาท
@ พฤติการณ์
ในช่วงวันที่ 25 มี.ค. 2551 ถึงวันที่ 22 ต.ค. 2551 คณะกรรมการกองทุนพัฒนาชุมชนฯ ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานคณะกรรมการ และจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการ ได้พิจารณาอนุมัติเงินกองทุนพัฒนาชุมชนฯ ให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 โครงการ ซึ่งพื้นที่ที่ทำการก่อสร้างอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
โดยจำเลยที่ 2 และ 7 ร่วมกันจัดเตรียมสัญญาจ้าง ให้จำเลยที่ 11 ถึง 13 และนายยืน มูลทา
ต่อมา ผู้รับจ้างก่อสร้าง เข้าดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บ โดยที่กรมป่าไม้ยังไม่ได้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการเข้าไปบุกรุกแผ้วถางทำลายพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2485 และ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 จนการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยมีจำเลยที่ 7 และ 10 ถึง 14 ร่วมเป็นคณะกรรมการการจ้างทำการตรวจรับการจ้างและเสนอขออนุมัติขอเบิกเงินค่าก่อสร้าง ผ่านจำเลยที่ 2 เสนอไปยังจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงนามอนุมัติเบิกจ่ายเงินโดยไม่มีการยับยั้งสั่งการแก้ไขใดๆ กับการกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าว
ในระหว่างการก่อสร้าง จำเลยที่ 8 ได้ทำหนังสือขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ลำปาง และจำเลยที่ 5 และ 6 ได้รับมอบหมายให้ ร่วมกับจำเลยที่ 8 ออกตรวจสภาพป่าในพื้นที่ขออนุญาตดังกล่าวตามคำสั่งของ จ.ลำปาง และได้ร่วมกันจัดทำรายงานการตรวจสอบสภาพป่าที่มีผู้ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 (ป.ส.18) ว่าพื้นที่บริเวณที่ขออนุญาตเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามมติ ครม. มีสภาพไม่สมบูรณ์ เห็นควรอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและได้จัดทำรายงานเพื่อเสนอต่อกรมป่าไม้
ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการก่อสร้างดังกล่าวอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย แต่ไม่ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามหน้าที่ ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึง 14 ทราบดีว่า สถานที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และกรมป่าไม้ยังไม่ได้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ เป็นการละเลยไม่ระงับยับยั้งการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ทั้งยังละเว้นไม่จับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและทำการยึดของกลางที่พบตามอำนาจหน้าที่ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83, 157 พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาต่อมา จำเลยที่ 3 นายมงคล ธงสิบเจ็ด ถึงแก่ความตาย ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ส่วนจำเลยที่ 1 นายดิเรกหรือ วรเดช จำเลยที่ 2 นายเสริมศักดิ์ จำเลยที่ 4 นายถนอม จำเลยที่ 5 นายอำนวย จำเลยที่ 6 นายธนชาติ จำเลยที่ 8 นายสว่าง จำเลยที่ 9 นายพิสิฐ ให้การปฏิเสธ
ส่วนจำเลยที่ 7 นายประสาน จำเลยที่ 10 นายมนตรี จำเลยที่ 11 นายปรีดา จำเลยที่ 12 จำเลยที่ 13 นายวินัย และจำเลยที่ 14 ให้การรับข้อเท็จจริงตามฟ้อง แต่ให้การต่อสู้ว่าเป็นการกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน เพราะเชื่อโดยสุจริตว่าตนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 70
@ บทลงโทษ
โดย คำพิพากษาศาลฯ ระบุว่า จำเลยที่ 1, 2 และที่ 7 เป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำความผิด และอยู่ในฐานะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
จำเลยที่ 4 ถึง 6 เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดโดยตรง พบการกระทำความผิดแล้วละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ส่วนจำเลยที่ 8 ถึง 14 เป็นผู้บริหารส่วนท้องถิ่นและผู้ปกครองท้องถิ่นระดับล่างพบการกระทำความผิดแล้วละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เห็นสมควรลงโทษตามสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดี
สำหรับบทลงโทษนั้น จำเลยที่ 1, 2 และที่ 7 มีความผิดคนละ 4 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 4 ปี รวมจำคุกคนละ 16 ปี
จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 มีความผิดคนละ 2 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 6 ปี
จำเลยที่ 8 ถึงที่ 14 มีความผิดคนละ 1 กระทง ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี แต่คำรับของจำเลยที่ 10 ถึง 14 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 10 ถึง 14 คนละ 1 ปี 4 เดือน
ส่วนจำเลยที่ 7 แม้จะรับข้อเท็จจริง แต่เป็นเพราะจำนนด้วยหลักฐานจึงไม่ลดโทษให้
ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลฯ ยังระบุว่า จำเลยที่ 1 , 2 และที่ 4 ถึง 14 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่กลับปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเสียเอง พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรงจึงไม่รอการลงโทษให้ ก่อนที่จำเลยทั้งหมด จะทำเรื่องยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว เพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์และฏีกาต่อไป (อ่านประกอบ : จำแนกชัดๆ! บทลงโทษจำเลยคดีละเว้นอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ14ราย อดีตผู้ว่าฯ-นายอำเภอ-ปลัด คุก 16 ปี)
นับเป็นอีกหนึ่งคดีใหญ่ เกี่ยวกับปัญหาการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องบันทึกไว้เป็นบทเรียนของสังคมไทยอีกครา
อ่านประกอบ :
จำแนกชัดๆ! บทลงโทษจำเลยคดีละเว้นอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ14ราย อดีตผู้ว่าฯ-นายอำเภอ-ปลัด คุก 16 ปี
ศาลฯสั่งจำคุกอดีตผู้ว่าฯลำปาง-พวก14ราย คดีละเว้นอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ-หัวขบวนโดน16 ปี