"อีอีซี" ปักหมุดไฮสปีดเทรน-รถไฟทางคู่วางโลจิสติกส์ขนส่งคน–สินค้า กระตุ้นศก.ไทยบูม
“อีอีซี”ปักหมุดไฮสปีดเทรน-รถไฟทางคู่เชื่อม 3 สนามบิน พร้อมตั้งศูนย์กระจายสินค้าลดเวลาขนส่งไม่เกิน 8 ชม. หนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่ประกอบด้วยพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดขึ้นในการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม “อีอีซี” จึงเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ในการต่อยอดจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก(อีสเทิร์นซีบอร์ด)เดิมเพื่อการรองรับกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีระดับสูงที่จะเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้ท่ามกลางกระแสการค้าและการลงทุนของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบด้วย การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ 1.ยานยนต์สมัยใหม่ 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.การแปรรูปอาหาร และเพิ่มเติมอีก 5 อุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 2.การบินและโลจิสติกส์ 3. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4.ดิจิทัล 5.การแพทย์และสุขภาพครบวงจร
อย่างไรก็ดี การพัฒนาอีอีซีจะมีศักยภาพได้จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยที่ไม่เพียงรองรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนดไว้ หากแต่ต้องมองไปยังการท่องเที่ยวและบริการ รวมไปถึงการพัฒนาเมืองใหม่ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อสอดรับกับวิถีชีวิตแบบใหม่ในสังคมยุคดิจิทัล “เมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ จึงเป็นแผนที่รัฐบาลได้มองการพัฒนาไว้อย่างเป็นระบบ และรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ดังนั้นระบบขนส่งหรือโลจิสติกส์ (Logistics) ที่เป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนจึงนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่จะต้องเกิดขึ้นในอีอีซีเพื่อตอบโจทย์การขนทั้งคนและขนสินค้าควบคู่กันไป
โครงการรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) หรือ ไฮสปีดเทรน ที่เชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญโครงการหนึ่งในอีอีซีที่มีเป้าหมายจะยกระดับสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสันให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับอีอีซี (EEC Gateway) และยังเป็นระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมและลดอุบัติเหตุบนถนน เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีระบบควบคุมที่มีความปลอดภัยสูง โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 220,000 ล้านบาท
ดังนั้น แนวเส้นทางโครงการจึงกำหนดผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยจะใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ความเร็วสูงสุดของไฮสปีดเทรนนั้นอยู่ที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางระหว่างเมืองคือ สถานีสุวรรณภูมิ - สถานีอู่ตะเภา)
ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางในเมือง คือ สถานีดอนเมือง ถึง สถานีสุวรรณภูมิ) ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา โครงสร้างทางวิ่งของโครงการ ประกอบไปด้วย ทางวิ่งโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ปัจจุบัน ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร และทางวิ่งที่ต้องก่อสร้างใหม่ประมาณ 191 กิโลเมตร เป็นต้น
ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้เปิดทำการขายเอกสารขอบเขตการประมูล (TOR) รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินระหว่างวันที่ 18 มิ.ย.-9 ก.ค. 2561 โดยเบื้องต้น ณ วันที่ 29 มิ.ย.2561 มีผู้มาซื้อซองเอกสาร (RFP) รวมแล้ว 14 บริษัทซึ่งคาดว่าจะยังคงมีมาต่อเนื่อง โดยจะเปิดให้มีการรับซองข้อเสนอวันจันทร์ที่ 12 พ.ย.2561 และเปิดซองผู้ยื่นข้อเสนอวันที่ 13 พ.ย.2561 ได้ชื่อผู้ชนะและเซ็นสัญญาเดือนธ.ค. 2561 กำหนดเปิดบริการในปี 2566 ซึ่งการลงทุนจะเป็นรุปแบบรัฐร่วมเอกชนหรือ PPP Net Cross ระยะเวลา 50 ปี
ไฮสปีดเทรนดังกล่าวจึงนับเป็นการเอื้อให้การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯและอีอีซีมีความสะดวกรวดเร็ว ทันสมัย และยังตอบสนองต่อการท่องเที่ยวและการบริการของไทยให้มีการเติบโตอย่างมีศักยภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี การขนส่งสินค้า ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะต้องตอบสนองการลงทุนที่จะเกิดขึ้นซึ่งการขนส่งสินค้าระบบราง หรือ รถไฟ ก็ถือเป็นการขนส่งสินค้าที่มีศักยภาพในปัจจุบันเพราะขนได้ในปริมาณที่มากและไม่มีอุปสรรคจากเรื่องของดินฟ้าอากาศทำให้ลดต้นทุนได้ค่อนข้างมาก
ดังนั้นโครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด จึงเป็นโครงการหนึ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้มีระบบบริการการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อที่จะเชื่อมโยงทั้งภาคอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกดังกล่าว โดยคาดว่าโครงการนี้จะเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางมาถึงทางเรือจากเดิม 7% เป็น 30% ลดระยะเวลาจากเดิม 24 ชั่วโมงเหลือไม่เกิน 8 ชั่วโมงทำให้ประหยัดเงินจากค่าขนส่งให้กับประเทศชาติได้ประมาณ 250,000 ล้านบาทต่อปี
โครงการรถไฟทางคู่ฯ ดังกล่าวได้มีการลงทุนปรับปรุงและสร้างทางคู่ รวมถึงจัดตั้งศูนย์กระจายและรวบรวมสินค้า ใช้เงินรวมทั้งระบบประมาณ 68,000 ล้านบาทที่จะทยอยเปิดบริการแบบสมบูรณ์ให้สอดรับกับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่คาดว่าจะเสร็จปี 2568 ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวสู่ท่าเรือใหญ่ติด 1 ใน 10 ของโลก และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ที่จะแล้วเสร็จปี 2567 เพื่อรองรับการนำเข้าวัตถุดิบปิโตรเคมีขั้นสูงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ(Bio Economy)
การพัฒนาระบบขนส่งเพื่อสร้างศักยภาพในพื้นที่อีอีซีทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ตอบโจทย์การขนคนเพื่อให้การเดินทางเกิดความรวดเร็ว ทันสมัย ขณะที่รถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ(แหลมฉบัง-สัตหีบ-มาบตาพุด) ที่มุ่งเน้นการบริการขนส่งสินค้าให้เชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ เพื่อสร้างศักยภาพการส่งออกของสินค้าไทยนั้นนับเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนให้”อีอีซี”เป็นสถานีที่จะนำพาให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งแล้วยังจะเชื่อมโยงไทยไปสู่ภูมิภาคอาเซียน กลุ่มประเทศ CLMV และเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 หรือ One Belt One Road ของจีนอีกด้วย