เทียบชัดๆ สเปครถเกราะ 4X4 กองทัพเรือ จัดซื้อปี58, 61 ห่างกันคันละ5ล. สมเหตุสมผลหรือไม่?
“...รถเกราะปี 2558 กำหนดให้หลังคาตัวรถชั้นนอกและด้านข้างรถชั้นนอก ทำด้วยเหล็กเกราะป้องกันกระสุน (ARMOR STEEL) ความหนาไม่น้อยกว่า 12 มม. ส่วนรถเกราะปี 2561 กำหนดความหนาไม่น้อยกว่า 8 มม. และมีการใช้ผนังภายในแตกต่างกัน...”
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมาเสนอไปแล้วว่า เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจ้างและราคากลางของกองทัพเรือ ได้เผยแพร่ประกาศราคากลางจัดซื้อรถเกราะล้อยาง แบบ 4X4 ของกรมการขนส่งทหารเรือ กำหนดวงเงินงบประมาณอยู่ที่ 50 ล้านบาท ระบุแหล่งที่มาของราคากลางอ้างอิง จาก บริษัทพนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด เพียงรายเดียว เพื่อใช้ในภารกิจการทำสงครามเป็นหลัก ก่อนที่สำนักข่าวอิศราจะตรวจสอบพบข้อมูลเพิ่มเติมภายในหลังว่า รถเกราะล้อยาง แบบ 4X4 ที่ประกาศจัดซื้อใหม่ครั้งนี้ มีจำนวน 2 คัน เฉลี่ยราคาอยู่ที่คันละ 25 ล้านบาท
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2558 กองทัพเรือ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายรถเกราะล้อยาง แบบ 4x4 จำนวน 2 คัน วงเงิน 39,990,000 บาท เฉลี่ยคันละ 19 ล้านบาท โดยวิธีพิเศษ จาก บริษัทพนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด เช่นกัน กำหนดส่งมอบสินค้าวันที่ 27 ก.พ. 2559 โดยสินค้าชุดนี้ ถูกระบุว่าใช้สำหรับภารกิจค้นหาลาดตระเวนคุ้มครองประชาชน ตลอดจนการปฏิบัติภารกิจพิเศษอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพเรือ (อ่านประกอบ : กองทัพเรือทุ่ม50ล.ซื้อรถเกราะล้อยางใช้ภารกิจสงครามเพิ่ม-สืบราคาบ.เจ้าเดิมขายให้2คันปี58)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกองทัพเรือ ยังไม่ได้เผยแพร่ผลการจัดซื้อรถเกราะล้อยาง แบบ 4X4 ครั้งใหม่ ว่าใครเป็นผู้ชนะ และปฏิเสธที่จะชี้แจงรายละเอียดการจัดซื้อกับ สำนักข่าวอิศรา โดยระบุว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นชั้นความลับไม่สามารถให้ข้อมูลได้ แต่มีข้อมูลปรากฎว่า ในช่วงเดือนต.ค.2559 นาวิกโยธิน กองทัพเรือไทย เคยมอบรถหุ้มเกราะล้อยาง V-150 ที่ได้รับความเสียหายการปฏิบัติงานในชายแดนภาคใต้เมื่อเดือน ให้กับบริษัทพนัสฯ เพื่อพัฒนาเป็นรถต้นแบบ HMV-150
จึงทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า รถเกราะล้อยาง แบบ 4X4 ที่ประกาศจัดซื้อใหม่ อาจจะเป็นรถ ต้นแบบ HMV-150 ที่เคยมอบให้กับบริษัทพนัสฯ ไปพัฒนาดังกล่าว
แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ สเปครถเกราะล้อยาง แบบ 4x4 ที่จัดซื้อใหม่ในวงเงิน 50 ล้านบาทดังกล่าว แตกต่างจากสเปครถเกราะล้อยาง แบบ 4x4 ที่เคยจัดซื้อจากบริษัทพนัสฯ เมื่อปี 2558 วงเงิน 39.9 ล้านบาท อย่างไร?
เบื้องต้นสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารคุณลักษณะเฉพาะยานยนต์หุ้มเกราะอเนกประสงค์แบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (4x4) ของกองทัพเรือ ที่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2558 โดยวิธีพิเศษ จาก บริษัทพนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด และนำมาเปรียบเทียบกับคุณลักษณะเฉพาะรถเกราะล้อยาง แบบ 4x4 ที่จัดซื้อใหม่ในปี 2561 วงเงิน 50 ล้านบาท พบความแตกต่างที่น่าสนใจดังนี้
@ คุณลักษณะทั่วไป
รถเกราะปี 2558 ระุบภารกิจใช้สำหรับค้นหา ลาดตระเวณ คุ้มครองประชาชน เพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง ตลอดจนการปฏิบัติภารกิจพิเศษอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย เป็นรถหุ้มเกราะลำเลียงพลทหาร แบบ 4x4 และมีน้ำหนักบรรทุก รวม (GVW) ขนาดไม่น้อยกว่า 19 ตัน สามารถป้องกันการโจมตีด้วยกระสุนปืนเล็ก และการลอบวางระเบิดของฝ่ายตรงข้าม สามารถลำเลียงกำลังพล พร้อมอาวุธประจำกาย และสัมภาระที่จำเป็นได้อย่างน้อย 12 นาย (รวมพลขับ และ ผบ.รถ.) สามารถปฏิบัติการได้ทุกสภาพพภูมิประเทศ ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ระยะปฏิบัติการบนถนน ไม่น้อยกว่า 800 กม. สามารถทำความเร็วสูงสุดบนถนน (น้ำหนักบรรทุกเต็มอัตราพิกัด) ไม่น้อยกว่า 110 กม./ชม.สามารถไต่ทางลาดชันในภูมิประเทศ เมื่อบรรทุกน้ำหนักตามอัตราพิกัดไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 สามารถลุยน้ำ โดยไม่ใช้อุปกรณ์การลุยน้ำลึก ไม่น้อยกว่า 1.3 ม. สามารถผ่านเครื่องกีดขวางที่มีความสูงไม่น้อยกว่า 500 มม. (น้ำหนักบรรทุกตามอัตราพิกัด)
ส่วนรถเกราะปี 2561 เป็นรถหุ้มเกราะลำเลียงพลทหาร แบบ 4x4 และมีน้ำหนักบรรทุก รวม (GVW) ขนาดไม่น้อยกว่า 17 ตัน สามารถป้องกันการโจมตีด้วยกระสุนปืนเล็ก และการลอบวางระเบิดของฝ่ายตรงข้าม สามารถลำเลียงกำลังพล พร้อมอาวุธประจำกาย และสัมภาระที่จำเป็นได้อย่างน้อย 10 นาย (รวมพลขับ และ ผบ.รถ.) สามารถปฏิบัติการได้ทุกสภาพพภูมิประเทศ ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ระยะปฏิบัติการบนถนน ไม่น้อยกว่า 800 กม. สามารถทำความเร็วสูงสุดบนถนน (น้ำหนักบรรทุกเต็มอัตราพิกัด) ไม่น้อยกว่า 110 กม./ชม. สามารถไต่ทางลาดชันในภูมิประเทศ เมื่อบรรทุกน้ำหนักตามอัตราพิกัดไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 สามารถลุยน้ำ โดยไม่ใช้อุปกรณ์การลุยน้ำลึก ไม่น้อยกว่า 1.3 ม. สามารถผ่านเครื่องกีดขวางที่มีความสูงไม่น้อยกว่า 500 มม. (น้ำหนักบรรทุกตามอัตราพิกัด)
** ข้อสังเกต รถหุ้มเกราะที่จัดซื้อในปี 61 มีน้ำหนักน้อยกว่า ลำเลียงกำลังพลได้น้อยกว่า ส่วนคุณลักษณะอื่นๆ ไม่ต่างกัน
@ ด้านเครื่องยนต์
รถเกราะปี 2558 กำหนดให้มีแรงม้าไม่น้อยกว่า 380 แรงม้า ที่ความเร็วรอบ 1,900 รอบ/นาที มีแรงบิดไม่น้อยกว่า 1,835 นิวตัน-เมตร ที่ความเร็วรอบ 1,200 รอบ/นาที เกียร์เดินหน้าไม่ต่ำกว่า 5 ระดับ
ส่วนรถเกราะปี 2561 กำหนดให้มีแรงม้าไม่น้อยกว่า 420 แรงม้า ที่ความเร็วรอบ 1,900 รอบ/นาที มีแรงบิดไม่น้อยกว่า 2,010 นิวตัน-เมตร ที่ความเร็วรอบ 1,200 รอบ/นาที เกียร์เดินหน้าไม่ต่ำกว่า 6 ระดับ
** ข้อสังเกต รถหุ้มเกราะที่จัดซื้อในปี 61 มีความแรงเครื่องยนต์มากกว่า ในส่วนแรงม้า แรงบิด เกียร์เดินหน้า
@ ด้านเกราะหุ้มตัวรถ แยกเป็น 3 ส่วน
- รถเกราะปี 2558 กำหนดให้หลังคาตัวรถชั้นนอกและด้านข้างรถชั้นนอก ทำด้วยเหล็กเกราะป้องกันกระสุน (ARMOR STEEL) ความหนาไม่น้อยกว่า 12 มม.
ส่วนรถเกราะปี 2561 กำหนดความหนาไม่น้อยกว่า 8 มม. และมีการใช้ผนังภายในแตกต่างกัน
** ข้อสังเกต รถหุ้มเกราะที่จัดซื้อในปี 61 มีความหนาน้อยกว่า
- รถเกราะปี 2558 กำหนดให้ด้านใต้บริเวณใต้เครื่องเปลี่ยนความเร็ว (ห้องเกียร์) ทำด้วยเหล็กเหนียวพิเศษความหนาไม่น้อยกว่า 16 มม. สามารถรับแรงระเบิดได้ตามมาตรฐาน NATO STANAG 4569 level 4b
ส่วนรถเกราะปี 2561 กำหนดให้ ทำด้วยเหล็กเหนียวพิเศษความหนาไม่น้อยกว่า 16 มม. เช่นกัน แต่สามารถรับแรงระเบิดได้ตามมาตรฐาน NATO STANAG 4569 level 3b
** ข้อสังเกต รถหุ้มเกราะที่จัดซื้อในปี 61 รับแรงระเบิดได้น้อยกว่า
- รถเกราะปี 2558 กำหนดให้ส่วนที่ครอบหีบเฟืองช่วย ทำด้วยเหล็กเหนียวพิเศษ ความหนาไม่น้อยกว่า 16 มม. สามารถรับแรงระเบิดได้ตามมาตรฐาน NATO STANAG 4569 level 4b
ส่วนรถเกราะปี 2561 กำหนดให้ส่วนที่ครอบหีบเฟืองช่วย ทำด้วยเหล็กเหนียวพิเศษ ความหนาไม่น้อยกว่า 16 มม. เช่นกัน แต่สามารถรับแรงระเบิดได้ตามมาตรฐาน NATO STANAG 4569 level 3b
** ข้อสังเกต รถหุ้มเกราะที่จัดซื้อในปี 61 รับแรงระเบิดได้น้อยกว่า
@ ด้านห้องโดยสาร
รถเกราะปี 2558 กำหนดให้มี 14 ที่นั่ง มีช่องยิงทั้งด้านซ้ายและขวา (ไม่ระบุจำนวนช่องยิง)
ส่วนรถเกราะปี 2561 กำหนดให้มี 10 ที่นั่ง มีช่องยิง ด้านซ้าย 3 ช่อง ด้านขวา 3 ช่อง และด้านหลัง 1 ช่อง รวมเป็น 7 ช่อง
** ข้อสังเกต เปรียบเทียบไม่ได้ เนื่องจากข้อมูลสเปค ปี 2558 ไม่ครบถ้วน
@ ด้านอุปกรณ์เสริมอื่นๆ
รถเกราะปี 2558 จะมีกำหนดไว้ แต่รถเกราะปี 2561 ไม่มีกำหนดไว้ เช่น มีการติดตั้งใบมีดดันเครื่องกีดขวางหน้ารถ ระบบปล่อยควันพรางตัว ติดตั้งคานแข็งสามเหลี่ยมข้างตัวรถ ติดตั้งระบบไฮดรอลิกส์เพื่อยกตัวรถเมื่อตั้งการเปลี่ยนยาง
ส่วนรถเกราะปี 2561 มีการกำหนดให้มีระบบเติม-ปล่อยลมอัตโนมัติสามารถควบคุมได้จากภายในรถ แต่รถเกราะปี 2558 ไม่มี
ทั้งนี้ จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่าคุณสมบัติของรถเกราะดังกล่าวทั้ง 2 ปี จะมีจุดที่เหนือกว่าและด้อยกว่าต่างกันไป (ดูตารางประกอบท้าย)
ส่วนจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาจัดซื้อในปี 58 อยู่ที่คันละ 19.9 ล้าน ส่วนราคาจัดซื้อปี 61 ตั้งไว้ที่คันละ 25 ล้าน สมเหตุสมผลหรือไม่นั้น
คงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่จะต้องเข้ามาทำความชัดเจนเรื่องนี้ให้ปรากฏอีกครั้ง
อ่านประกอบ :
โชว์สเปครถเกราะล้อยาง50ล.กองทัพเรือใช้ภารกิจสงคราม-ผู้รับผิดชอบปัดแจงอ้างข้อมูลชั้นความลับ
กองทัพเรือทุ่ม50ล.ซื้อรถเกราะล้อยางใช้ภารกิจสงครามเพิ่ม-สืบราคาบ.เจ้าเดิมขายให้2คันปี58