เปิดรายงานนิวยอร์กไทมส์ ตีแผ่เบื้องหลังภารกิจค้นหา-กู้ภัย 13 ชีวิต จากถ้ำหลวง
"หลายภาคส่วนก็แสดงความกังวลว่า การปล่อยให้เด็กต้องใช้ชีวิตในถ้ำต่อไปนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่อันตรายได้ แม้ว่าขณะนี้จะมีแสงไฟ อาหาร และอุปกรณ์ยังชีพเพียงพอก็ตาม เพราะเด็กๆอาจจะบาดเจ็บหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียจากการอาศัยอยู่ในสภาวะแวดล้อมภายในถ้ำเป็นระยะเวลานานได้ ดังนั้นในขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือจึงได้ปรึกษาหารือกับเหล่าญาติๆของทั้ง 13 ชีวิต เพื่อหารือกันถึงวิธีที่ดีที่สุดที่จะพาตัวทุกคนออกมาอย่างปลอดภัย"
หมายเหตุ:สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้แปลบทความของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ลงวันที่ 3 ก.ค. เกี่ยวกับภารกิจช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชน ทีม "หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย" 12 ชีวิต และผู้ช่วยโค้ชทีมฟุตบอลเยาวชนอีก 1 ชีวิต รวม 13 ชีวิต นับตั้งแต่วันที่ทั้งหมดต้องติดอยู่ในถ้ำหลวง ความช่วยเหลือต่างๆจากทั้งหน่วยงานไทยและต่างประเทศ วินาทีที่นักประดาน้ำอังกฤษพบทั้ง 13 ชีวิต และการหารือว่าหลังจากนี้ จะนำทั้งหมดออกมาจากถ้ำโดยปลอดภัยได้อย่างไร
จอห์น โวแลนเธิร์น นักประดาน้ำสำรวจถ้ำสัญชาติอังกฤษ กำลังปฎิบัติภารกิจประดาน้ำพร้อมกับวางเชือกนำทางในพื้นที่ถ้ำหลวง จ.เชียงราย ด้วยความหวังว่าการวางเชือกนำทางในครั้งนี้จะทำให้ทีมช่วยเหลือเข้าใกล้ตัวนักฟุตบอลเยาวชน ทีม "หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย" และผู้ช่วยโค้ชทีมฟุตบอลเยาวชนซึ่งติดอยู่ในถ้ำแห่งนี้เป็นเวลา 10 วันแล้ว เนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทำให้น้ำป่าเข้าทะลักท่วมพื้นที่ส่วนมากของถ้ำหลวง
และหลังจากสิ้นสุดระยะของเชือกนำทาง ทำให้นักประดาน้ำสัญชาติอังกฤษต้องขึ้นสู่ผิวน้ำ เวลานั้นเองแสงจากไฟฉายบนศรีษะชุดประดาน้ำของเขาก็ฉายไปยังเด็กๆทีมหมูป่าที่จ้องมองกลับมา การได้พบเจอกับผู้รอดชีวิตภายในถ้ำหลวงถือเป็นข้อพิสูจน์ว่าภารกิจค้นหาทั้ง 13 ชีวิตที่ดำเนินมายาวนานกว่า 10 วันโดยต้องแข่งกับฝนที่ตกตามฤดูมรสุม และระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ
นักประดาน้ำอังกฤษเปิดเผยในภายหลังว่าถ้าหากเชือกนำทางสั้นกว่านี้อีกซัก 15 ฟุต เขาคงจะต้องดำน้ำกลับ และคงจะไม่เจอกับทีมหมูป่า ในช่วงค่ำของวันที่ 2 ก.ค. และทั้งหมดคงจะต้องอยู่ภายใต้ความมืดมิดไปอย่างน้อยอีก 1 คืน โดยไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไร จะมีทีมช่วยเหลือเข้ามาพบเจอ
“ในตอนนั้น จอห์นกำลังปักเสาม้วนเชือกลงบนกองโคลน เขาก็พบกับเด็กๆทีมหมูป่ากำลังมองมาที่เขา”เวอร์นอน อันสเวิร์ธ เพื่อนของจอห์นซึ่งร่วมในภารกิจค้นหากล่าวกับสื่อเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา
"ภารกิจค้นหาตัวทั้งทีมหมูป่า" ถือว่าสิ้นสุดอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา และเข้าสู่ช่วงของ"ภารกิจกู้ชีวิต" โดยขณะนี้มีการหารือกันว่าจะทำอย่างไรและจะทำเมื่อไร เพื่อจะนำตัวเด็กๆและผู้ช่วยโค้ชออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัย
น.อ.อนันต์ สุราวรรณ ก็ได้กล่าวถึงกรณีนี้ไว้เช่นกันว่าถ้าเลวร้ายที่สุด ทั้ง 13 คนจะต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในถ้ำไปอีกอย่างน้อย 4 เดือน จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน
แม้กระทั้ง น.ท.ศุภณัฐ ธนะสีลังกูร หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ก็ออกมากล่าวกับสื่อว่ารู้สึกแปลกใจเช่นกัน ที่ภารกิจนำตัวทั้ง 13 คนออกมา จะกินเวลาถึง 4 เดือน
ขณะนี้หลายภาคส่วนก็แสดงความกังวลว่าการปล่อยให้เด็กต้องใช้ชีวิตในถ้ำต่อไปนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่อันตรายได้ แม้ว่าขณะนี้จะมีแสงไฟ อาหาร และอุปกรณ์ยังชีพเพียงพอก็ตาม เพราะเด็กๆอาจจะบาดเจ็บหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียจากการอาศัยอยู่ในสภาวะแวดล้อมภายในถ้ำเป็นระยะเวลานานได้ ดังนั้นในขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือจึงได้ปรึกษาหารือกับเหล่าญาติๆของทั้ง 13 ชีวิต เพื่อหารือกันถึงวิธีที่ดีที่สุดที่จะพาตัวทุกคนออกมาอย่างปลอดภัย
13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำมีอายุตั้งแต่ 11 ปี ไปจนถึง 16 ปี และมีผู้ช่วยโค้ชอายุ 25 ปี ทั้งหมดหายไปในถ้ำหลวงตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังจากเสร็จสิ้นการฝึกซ้อมฟุตบอลประจำวันเสาร์ โดยภายหลังจากที่ทั้ง 13 คนเข้าไปในถ้ำแล้ว ก็เกิดฝนตกหนักทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนปิดทางเข้าออกถ้ำส่งผลให้ทั้งหมดไม่สามารถออกมาได้
“ในตอนแรก ที่เราพูดคุยกันถึงภารกิจค้นหาและกู้ภัย ผมได้พูดว่าภารกิจนี้มันเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับชื่อภาพยนตร์ มิชชั่น:อิมพอสซิเบิ้ล เลย แต่ปรากฏว่าหน่วยซีล เขามั่นใจในความสามารถของเขามาก เขาบอกเราเลยว่า ไม่ว่าจะยังไง พวกเขาจะพาตัวเด็กออกมาให้ได้” "ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร" ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และผู้ควบคุมภารกิจกล่าวกับผู้สื่อข่าว
ขณะที่รัฐบาลไทยเองที่ผ่านมาก็ได้ปฏิบัติภารกิจกู้ภัยโดยนำเอานักประดาน้ำที่มีความสามารถเท่าที่จะหาได้เข้าไปในบริเวณถ้ำซึ่งคาดกันว่าทีมหมูป่าน่าจะหนีน้ำขึ้นไป โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลคนหนึ่งเปิดเผยว่ารัฐบาลพร้อมทำทุกอย่างเพื่อช่วยทั้ง 13 คน แม้ว่าจะต้องลงทุนเท่าไรก็ตาม
ภารกิจช่วยเหลือในครั้งนี้ยังถือว่าเป็นสิ่งที่รวมใจคนไทยเอาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย ชนชั้นนำ ที่ถูกแบ่งแยกกันด้วยฐานะทางสังคมและทรัพย์สิน ทั้งหมดต่างก็ปรารถนาในสิ่งเดียวกัน คือหวังว่าจะต้องเจอเด็กทั้งหมด
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาฯ พระราชทานจัดตั้ง “โรงครัวพระราชทาน” และพระราชทานเสื้อกันฝน 2,000 ตัว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ทุกคนที่ปฏิบัติงานค้นหาช่วย เด็กๆทีมหมูป่าเช่นกัน
รวมไปถึงยังมีความช่วยเหลือจากหลายประเทศ รวมไปถึงจากสหรัฐอเมริกา ที่ส่งทีมช่วยเหลือ 30 คนมา โดย 17 คน ใน 30 คนนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภารกิจค้นหาและกู้ภัยจากกองทัพอากาศสหรัฐ
สำหรับบรรยากาศภายนอก เหล่าบรรดาญาติๆที่นั่งรอคอยข่าวอย่างใจจดใจจ่อเป็นระยะเวลานานกว่า 10 วัน ที่ศูนย์ปฏิบัติการณ์ชั่วคราว ต่างก็รู้สึกดีใจที่ได้ยินข่าวว่าพบทั้ง 13 ชีวิตแล้วเมื่อกลางดึกวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา จนทางเจ้าหน้าที่ต้องนำตัวเหล่าญาติๆเข้าไปในห้องเพื่อกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวภารกิจนี้กรูกันเข้าไปสัมภาษณ์
ภารกิจค้นหาและกู้ภัยทั้ง 13 ชีวิต ถือเป็นความท้าทายที่น่ากลัว เพราะตัวถ้ำมีความยาวมากกว่า 7 ไมล์ การสำรวจถ้ำรวมไปถึงการปีนป่าย อาจจะทำได้ในช่วง ฤดูที่ไม่มีฝนตก แต่ในช่วงเดือน ก.ค.จนถึงเดือน พ.ย. ฝนที่ตกตามฤดูกาลจะทำให้หลายส่วนของถ้ำรวมไปถึงทางสำรวจจมอยู่ใต้น้ำ
นักประดาน้ำที่ปฎิบัติภารกิจนั้นจะต้องฝ่าอุปสรรคที่สำคัญก็คือร่องหินที่เล็กเกินกว่าจะนำเอาขวดออกซิเจนติดตัวไปด้วยได้ ทำให้ต้องมีการตัดหิน เพื่อให้มีช่องที่ใหญ่ขึ้นสำหรับนักประดาน้ำที่จะเข้าถึงพื้นที่ที่คาดว่าทั้ง 13 คนน่าจะอยู่ ซึ่งตอนแรกคาดกันว่าห่างจากปากทางเข้าถ้ำเป็นระยะทาง 3 ไมล์
นายจอห์นและนายริค สแตนตัน นักประดาน้ำสัญชาติอังกฤษได้กลายเป็นนักประดาน้ำที่อยู่นำหน้าในการปฏิบัติภารกิจ ในช่วงค่ำวันที่ 2 ก.ค. โดยทั้ง 2 ต้องทำภารกิจวางแนวเชือกเพื่อให้ความช่วยเหลือ ให้นักประดาน้ำคนอื่นๆสามารถใช้แนวเชือกนั้นดำน้ำผ่านช่วงที่กระแสน้ำเชี่ยวกราก หากไม่มีแสงในช่วงที่ดำน้ำได้ และก็เป็นโชคดีที่ความยาวของแนวเชือกนั้นสิ้นสุดลง ทำให้จอห์นต้องขึ้นสู่ผิวน้ำ ทำให้เขาได้เจอกับเหล่าเด็กๆที่มีรูปร่างผอมแห้ง นั่งอยู่บนสันดอนเหนือระดับน้ำ
ในเวลานั้นเขารู้สึกโล่งใจที่เห็นเด็กๆยังมีชีวิตอยู่ เหล่าเด็กๆเองก็รู้สึกดีใจที่จะได้มีโอกาสกินอาหารในรอบหลายวัน
“กิน กิน กิน” เด็กคนหนึ่งตะโกนออกมา
ซึ่งแสงจากไฟฉายของนักประดาน้ำชาวอังกฤษทั้ง 2 คน ถือว่าเป็นแสงแรกที่13 ชีวิต ได้เห็นในรอบหลายวันที่ผ่านมา และหลังจากนั้นก็มีการลำเลียงเอาเสบียงยังชีพ อาหารและยาเข้าสู่พื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
“ในตอกแรก เรามีแค่ใจกับกำลังคนเท่านั้น แต่ต่อมาภายหลังเราถึงได้ทรัพยากรที่จำเป็นทุกอย่างสำหรับภารกิจนี้ แม้ว่าเราจะเหนื่อยล้า และเหนื่อยอ่อน แต่เราก็มีความพร้อมทุกอย่างสำหรับภารกิจ” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายกล่าว
ขณะที่ทีมแพทย์ผู้ดูแลก็ได้ให้อาหารโปรตีนสูงกับทั้ง 13 ชีวิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีกำลังโดยเร็วที่สุด และทีมแพทย์กำลังประเมินกันว่า เมื่อไรที่ทั้ง 13 คนจะมีความพร้อม มีพละกำลังที่จะเคลื่อนไหวเพื่อเดินทางออกจากถ้ำได้
ทางด้านของ เบน เรย์เมแนนท์ นักประดาน้ำชาวเบลเยี่ยม ซึ่งร่วมในภารกิจครั้งนี้ด้วยก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสกายนิวส์ถึงการนำเอาเด็กๆ ที่ขณะนี้มีสภาพอ่อนแอ ผ่านสายน้ำที่เชี่ยวกราก และยังมีส่วนแคบของถ้ำในหลายจุด ถือว่า เป็นปฏิบัติการณ์ที่ยากและอันตรายมาก
"ถ้ำนี้ ถือได้ว่าท้าทายสำหรับการดำน้ำในถ้ำมากกว่าถ้ำอื่นๆหลายถ้ำที่ได้เคยดำน้ำมาแล้ว เพราะว่าระยะทางที่ไกลมาก ประกอบกับเส้นทางที่ซับซ้อน นอกจากนี้ยังมีกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากและทัศนวิสัยในการมองเห็นในการดำน้ำที่อาจจะเป็นศูนย์เมื่อไรก็ได้ ดังนั้นการพาตัวเด็กออกมาทีละคน ก็มีความเสี่ยงอีกว่า เด็กจะรู้สึกตื่นตระหนกได้ และทั้งหมดก็ยังว่ายน้ำไม่เป็นอีกด้วย" เบน กล่าว และบอกว่า ความท้าทายอีกปัจจัยก็คือการต้องแข่งกับเวลาที่ฝนจะตกลงมาทำให้กระแสน้ำเชี่ยวกราก รวมถึงทัศนวิสัยในการมองเห็นเวลาดำน้ำเป็นศูนย์ เพราะเมื่อถึงเวลานั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะว่ายฝ่ากระแสน้ำออกไป
นายเบน กล่าวต่อว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่การแพทย์จากกองทัพเรือไทยจำนวน 2 นายได้อาสาจะอยู่เป็นเพื่อนกับทั้ง 13 ชีวิต จนกว่าระดับน้ำจะลดลง พร้อมแสดงความเป็นห่วง ที่ขณะนี้มีท่าทีว่าฝนจะกลับมาตกหนักอีกครั้ง
“ตอนนี้ยังพูดยากว่าอะไรจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ผมเชื่อว่าสภาพอากาศจะเป็นปัจจัยกำหนดที่สำคัญ” เบนกล่าว
ทางด้านของนายเวอร์นอน อันส์เวิร์ธ นักประดาน้ำสำรวจถ้ำ ซึ่งเคยสำรวจถ้ำหลวงเมื่อ 6 ปีก่อน ก็กล่าวว่า จะดีที่สุดถ้าเอาตัวเด็กออกมาโดยทันที ด้วยความช่วยเหลือจากนักประดาน้ำผู้มีประสบการณ์ ดีกว่าให้รออยู่ในถ้ำเป็นเวลาหลายเดือน
“นี่เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพื่อจะพาเด็กๆออกมา และเพราะว่าเด็กๆยังไม่เคยดำน้ำมาก่อน ดังนั้นพวกเขาจะต้องเรียนรู้เรื่องการดำน้ำอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมงนี้ ถ้าหากไม่ใช่วันนี้ ก็ควรจะเป็นวันพรุ่งนี้ ” เวอร์นอนกล่าว และกล่าวต่อด้วยว่า เด็กๆจะสามารถใช้หน้ากากครอบหน้าได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเรียนว่าจะหายใจใต้น้ำผ่านท่อออกซิเจนเหมือนกับนักประดาน้ำ
นายเวอร์นอน ยังเชื่อมั่นว่า ทั้งนักประดาน้ำหน่วยซีลและนักประดาน้ำที่มีประสบการณ์คนอื่นๆในภารกิจจะสามารถพาเด็กๆผ่านเส้นทางคดเคี้ยวและแคบของถ้ำออกมาได้อย่างปลอดภัย
สุดท้ายเขายังย้ำว่า การปล่อยเด็กอยู่ในถ้ำนั้นนานไม่ใช่ทางเลือกที่ดี ต้องรีบนำตัวออกมาโดยเร็ว
รูปภาพและบทความดั้งเดิมจาก เว็บไซต์นิวยอร์กไทม์ (https://www.nytimes.com/2018/07/03/world/asia/thai-cave-rescue-soccer-team.html)