วงเสวนาชี้‘ไร้ระเบียบ-มุ่งประโยชน์ตน’ ปัญหาหลักการค้าโลก แนะร่วมมือพัฒนา
3 ผู้ร่วมเสวนา “การเปลี่ยนไปสู่การค้าแบบใช้นวัตกรรมและการยึดการพัฒนาเป็นจุดมุ่งหมายเพื่อความร่วมมือกันในระดับภูมิภาค” เผยตลาดโลกปัจจุบันปั่นป่วน แต่ละประเทศต่างสนใจแต่ผลประโยชน์ตนเอง แนะหันมาร่วมมือกันพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านนโยบายการค้าเสรี
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงาน เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2561 สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (itd) จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “Transformation towards innovative Trade and Development Agenda for Regional Integration” (การเปลี่ยนไปสู่การค้าแบบใช้นวัตกรรมและการยึดการพัฒนาเป็นจุดมุ่งหมายเพื่อความร่วมมือกันในระดับภูมิภาค) และมีการเสวนาภายใต้หัวข้อย่อย “Transforming The Role of Institution for Regional Integration” (การเปลี่ยนนโยบายของสถาบันไปสู่การร่วมมือกันในระดับภูมิภาค) โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ เอ็ดดวาร์โด เพโดรซา (Eduardo Pedrosa) เลขาธิการสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งแปซิฟิค (PECC) มีอา มิคิค (Mia Mikic) ผู้อำนวยการสำนักงานการค้า การลงทุน และนวัตกรรมแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) และ ดร. บโยง จุน ซอง (Byoung Jun Song) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค (State University of New York
ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่าปัญหาหลักของการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันคือการค้าที่ไร้ระเบียบเนื่องจากแต่ละประเทศต่างมุ่งเน้นทำการค้าเพื่อผลประโยชน์ของประเทศของตนเองโดยขาดความร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาร่วมกัน
มีอา มิคิค ผู้อำนวยการสำนักงานการค้า การลงทุน และนวัตกรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ในการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืนนั้นจะต้องพิจารณาถึงโครงสร้างระบบทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งมีสิ่งหลัก ๆ ที่ต้องคำนึงถึงคือ ประการแรก คือ ระดับความเสรีของการค้า ซึ่งระดับความเสรียิ่งมีมากจะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือ และประการที่สอง คือ ขอบข่ายของตลาดว่าขยายไปถึงสิ่งใดบ้าง นอกจากนี้ในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านการลงทุนการค้าเสรียังต้องคำนึงถึงปริมาณประชากรภายในประเทศ สุขอนามัย และความสามารถในการแข่งขันของประเทศกำลังพัฒนาด้วย
เอ็ดดวาร์โด เพโดรซา เลขาธิการสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งแปซิฟิค (PECC) กล่าวว่า ในการพัฒนาเศรษฐกิจรวมถึงความร่วมมือกันระหว่างประเทศแต่ละประเทศต้องดำเนินนโยบายโดยไม่คิดถึงผลประโยชน์ของประเทศตนเองเพียงอย่างเดียว โดยเอ็ดดวาร์โดได้ยกตัวอย่างองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย แปซิฟิค (APEC) ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อความร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มในลักษณะการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจแบบเปิด (open regionalism) ตามทัศนะของเอ็ดดวาร์โดดแล้วด้วยวิธีการให้เสรีทางการค้าโดยการทำการค้าเสรีระหว่างประเทศแบบพหุภาคีจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ดร. บโยง จุน ซอง ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ให้ความเห็นว่า ในการแก้ปัญหาความไร้ระเบียบในการค้าโลกและการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศร่วมกันอย่างยั่งยืน ภาครัฐเองก็เป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญ โดยภาครัฐจะต้องเป็นผู้จัดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้เปิดเสรีมากขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศ รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดในประเทศสามารถอยู่รอดได้