ปัญหาหมอจบใหม่แก้ไม่ตก ลาออกไม่ใช้ทุนยอมจ่าย5ล.
"หมออิทธพร" ไขปมแพทย์ใช้ทุนลาออก อย่าตกใจจบปีละเกือบ 3 พันราย สธ.บรรจุไม่ได้ทุกคน คาดเพิ่มค่าปรับขึ้น 5 ล้านบาทแก้ไม่ได้ แค่ชะลอลาออก
กรณีมีข้อมูลจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ปี 2561-2570 เพิ่มเป็น 3,000 คน/ปี และแก้ไขค่าปรับหากหนีใช้ทุนจาก 4 แสนบาท เป็น 5 ล้านบาท และมีข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยออกมาว่า มีแพทย์จบใหม่ลาออกโดยไม่ใช้ทุน 500-600 คน/ปี บางส่วนขออยู่ใช้ไม่ถึง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 30 มิ.ย. พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รักษาการเลขาธิการแพทยสภา ให้ความเห็นว่า หมอลาออกเพราะเงินค่าปรับถูกไป หรือเพราะอะไรนั้น ปัญหาที่แพทยสภาติดตามมาตลอด ซึ่งไม่ตกใจในการลาออกถ้าเข้าใจกลไก เนื่องจากทุกปีมีแพทย์จบใหม่เกือบ 3,000 ราย มากเกินกว่าที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะบรรจุได้ เพราะไม่มีตำแหน่งให้ทุกคน จึงต้องออกนอกสธ. ไปสังกัดที่อื่น แต่ละปีก็หลายร้อยคน แต่หากเข้าไปอยู่ในระบบสธ. แพทย์จบใหม่จะต้องไปใช้ทุนบังคับตามพื้นที่ "ที่ว่าง" เท่านั้น มักเป็นพื้นที่ห่างไกลและอยู่ยาก เพราะพื้นที่อยู่ง่ายๆ รุ่นพี่ที่เข้าไปอยู่แล้ว คงไม่ย้ายออกง่ายๆ
"น้องจบใหม่ จากนักเรียนเป็นหมอเต็มตัว ปัญหาและอุปสรรคย่อมมากกว่าสมัยเรียนหลายคนอาจเหนื่อยท้อ ไกลบ้าน ปรับตัวยากเป็นเรื่องที่พบได้ปกติ ส่วนใหญ่ผ่านกำแพงไปได้ แต่บางส่วนยอมแพ้ แต่พ่อแม่อาจไม่ยอมให้ลูกอยู่นะครับ หลายคนบอกผมว่า แม่มาดูที่แล้วไม่ยอม ขอใช้ทุนแทน แม้น้องจะอยู่ได้ แต่คนที่อยู่ไม่ได้จริงๆ ก็มีบ้างเป็นธรรมดา" พล.อ.ต.นพ.อิทธพร เผยให้ฟัง
นพ.อิทธพร กล่าวอีกว่า เมื่อใช้ทุนครบ 3 ปี ต้องกลับมาเรียนต่อปีละ 1,500 ราย ทั้งได้ทุนเรียนและใช้เงินส่วนตัว แต่ต้องเข้าใจว่าการเรียนต่อในวิชาเฉพาะที่ตนเองรัก หากรัฐไม่มีทุนก็ต้องลาออกเรียนเองเป็นเรื่องปกติ บางคนหากอยู่ในพื้นที่มีทุนสาขาที่อยากเรียน เช่น 80 สาขา แต่ต้องรอ 1-2 ปี อาจอยู่รอได้แต่บังเอิญเขตนั้นไม่มี อาจจำใจลาออกมาอยู่รัฐอื่นๆ ที่มีทุนตรงใจ เช่น มหาวิทยาลัย ตำรวจ ทหาร ก็ออกจาก สธ. ทั้งที่ไม่อยากออก นอกจากนี้ในหลายครอบครัว บ้านอยู่เหนือ "จับฉลาก" ได้ใต้ ได้อีสาน ส่วนบ้านอยู่ใต้ ได้เหนือ ทำงานไปแล้วอาจขอย้ายกลับมาบ้าน ดูแล พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่เจ็บป่วยชรา อัมพาต มะเร็ง ฯลฯ หรือด้วยเหตุความกตัญญูก็มีไม่น้อย และอีกส่วนย้ายตาม สามี ภรรยา ซึ่งถ้าขอย้ายแล้วไม่มีตำแหน่งราชการว่าง ก็อาจลาออกมาอยู่เอกชนหรือเปิดคลินิกในพื้นที่เดียวกันหวังครอบครัวสมบูรณ์ก็ต้องยอม ยิ่งมีลูกยิ่งลำบาก หรือลูกเข้าเรียนต้องย้ายตามลูก
"หลายรายมีปัญหาการเงินแต่เดิม จึงมาอยู่เอกชน ทำงานเก็บเงินไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือใช้หนี้ที่บ้านให้บุพการี เพราะเงินเดือนหลวง 1-2 หมื่น รวมๆ 3-4 หมื่น อยู่เวรแทบทุกวัน อาจไม่เพียงพอ บางคนแลกด้วยการอยู่เวรดึก ข้ามคืน ไม่ได้นอน ทำให้หมอใหม่ๆ ตายเพราะอุบัติเหตุทางรถหลังออกเวรบ่อยๆ ซึ่งการลาออกปีละ 500 คน อ.พรรณพิมล บอกชัดเจน คือ ออกจากทั้งหมดครับ แต่ที่ออกเลยหลังจับฉลากมีเพียง 10-20 คนที่ใช้เงินเต็ม 5 ล้าน ส่วนมากไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือกลับมาใน รพ.ที่มีตำแหน่งการใช้ทุนในปี 2 และ 3 จ่ายน้อยลงตามลำดับ และจากแบบสอบถามแพทยสภา อันดับ 1 คือกลับมาเรียนต่อนั่นเอง ที่สำคัญลาออกหลัง 3 ปีไปแล้ว ไม่ต้องใช้ทุนนะครับ ดังนั้นปรับ 5 ล้านไม่มีผลกับน้องที่ใช้ทุนครบ 3 ปีแล้วลาออก ตัวเลข 500 คนออก จึงเป็นการคิดรวมหมดครับ จริงๆ น้อยมากที่อยู่ระหว่างทุน" รักษาการเลขาธิการแพทยสภา เผยให้ฟัง
นพ.อิทธพร กล่าวเพิ่มว่า ดังนั้นกรณีการเพิ่มค่าปรับเป็น 5 ล้านบาท คงตอบคนละโจทย์ รัฐบาลพยายามบอกว่าต้นทุนจริงราคาสูงกว่า 4 แสนบาทเท่านั้นเอง การปรับมากขึ้นคงแค่ทำให้การลาออกช้าลง 1-2 ปี ถ้าจะย้ายกลับบ้านไปดูแลพ่อแม่ เรียนต่อ คงช่วยใน 3 ปีแรกเท่านั้น พอครบออกแน่นอน ดังนั้นถ้าเรื่องค่าปรับไม่ได้ "ลด" อัตราการรั่ว เพียงชะลอได้ 2 ปีเท่านั้น ต่อไปก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งสิ่งที่จะแก้แบบยั่งยืน เราหาข้อมูลทำวิจัยหลายครั้ง คือ สร้างความมั่นคงในวิชาชีพให้เขา และมีความสุข แบบ Maslow's hierarchy of needs ให้น้องๆ ไปอยู่ได้สบาย ปลอดภัย จากการทำร้าย และกฎหมายคุ้มครอง เพื่อนร่วมงาน พี่น้องดี อาจารย์ใจดี ถ้าดุ ถ้าเอาเปรียบ ทิ้งน้องๆ ไม่มีใครอยากอยู่ด้วย น้องหมอชอบที่มีทางก้าวหน้าเรียนต่อได้ ยิ่งขอย้ายไปรัฐที่ใกล้บ้าน ใกล้พ่อใกล้แม่ได้ และได้ทุนเรียนต่อ รวมถึงมีเส้นทางเติบโตก้าวหน้าหรือไปต่างประเทศได้ตามวิชาที่ตนเองรัก ยิ่งไม่มีทางลาออก แต่ความเป็นจริงที่ทุกคนทราบดีว่ายาก เพราะงานมาก งบน้อย ด้วยระบบข้าราชการ จริงๆ แล้วลำบากทุกตำแหน่ง พยาบาล เภสัชฯ บุคลากรสาธารณสุข ฯลฯ ลำบากกว่าเราอีก ท่านรองปลัดทราบดี
"งานหนัก เพราะทุกอย่างฟรี ไม่จัดลำดับความสำคัญ ไม่จำกัดงาน บริการทุกเวลา ไม่พอใจ ทำไม่ทัน ว่ากล่าวได้ ฟ้องได้ เสียหายเรียกร้องได้ง่ายๆ ท่ามกลางทรัพยากรขาดแคลน แทบทุกรพ.เช่นนี้ จนพี่ตูนต้องออกมาวิ่งรับบริจาคแก้ไข ที่ใดขาดแคลนมาก คงมีคนอยากอยู่น้อยลงเรื่อยๆ สรุปอย่าไปว่าน้องหมอเลยครับ เอาเวลามาช่วยกันแก้ไขปัญหาดีกว่า ให้ประชาชนเข้าใจ และสร้างตัวเองให้แข็งแรง ลดอุบัติเหตุ แบบที่สธ.รณรงค์ หากทำได้ดีเชื่อว่าคนป่วยน้อย หมอมีความสุข ในสังคมที่ TRUST กัน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ น้องหมอไม่ลาออกหรอกครับ" รักษาการเลขาธิการแพทยสภา กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : https://www.dailynews.co.th/regional/652477