สปสช.เผย 6 เดือนยอดผู้ป่วยผ่าตัดวันเดียวกลับเกือบ 1 พันราย
สปสช.เผย 6 เดือน ยอดผู้ป่วยผ่าตัดวันเดียวกลับสะสม 947 ราย ผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบสูงสุด 378 ราย สะท้อนผลสำเร็จ เพิ่มศักยภาพดูแลผู้ป่วย เข้าถึงการรักษาเพิ่ม ลดความแออัด รพ. ทั้งประหยัดงบประมาณ ผลความร่วมมือหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมรุกพัฒนา “ไทยแลนด์ 4.0 ด้านสาธารณสุข” ตามมติ ครม.
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากแนวทางการพัฒนาประเทศไทย “ไทยแลนด์ 4.0 ด้านสาธารณสุข” ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ สปสช., กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ส่งเสริมการรักษาด้วยระบบบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (one day surgery: ODS) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ราชวิทยาลัยแพทย์, สมาคมและองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมมือพัฒนาระบบบริการผ่าตัดวันเดียวกลับในการดูแลผู้ป่วย ในส่วนของการดำเนินการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อเป็นการสนับสนุนการบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ สปสช.ปรับกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายชดเชยค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขรักษาพยาบาลให้กับหน่วยบริการสอดคล้องกับการบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ และ สปสช.ได้ออกประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ พ.ศ. 2561
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากรายงานผลการดำเนินงานระบบบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายหลังจาก สปสช.ได้ประกาศหลักเกณฑ์เบิกจ่ายฯ นั้น ตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงมิ.ย. 2561 มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับและเบิกจ่ายในระบบจำนวน 68 แห่ง ทั้งโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงเรียนแพทย์ เป็นต้น โดยเดือนมกราคม 2561 ที่เริ่มต้นดำเนินการปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายนี้ มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ จำนวน 43 ราย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นในเดือนถัดไป ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือน มีผู้ป่วยที่เข้ารับบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับสะสมทั้งสิ้น จำนวน 947 ราย (ข้อมูล 1 ม.ค. – 20 มิ.ย. 61)
ทั้งนี้เมื่อแยกดูข้อมูลบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับตามรายโรค มีการให้บริการผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนขาหนีบมากที่สุด จำนวน 378 ราย รองลงมาเป็นผ่าตัดหลอดเลือดดำโป่งพองในหลอดอาหารและกระเพาะ จำนวน 181 ราย ตัดติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่ จำนวน 147 ราย โรคนิ่วในท่อน้ำดี จำนวน 60 ราย โรคถุงน้ำอัณฑะ จำนวน 58 ราย ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด จำนวน 46 ราย ภาวะหลอดอาหารตีบ จำนวน 38 ราย โรคริดสีดวงทวาร จำนวน 29 ราย และภาวะท่อน้ำดีตีบ จำนวน 10 ราย
“จากข้อมูลผลการดำเนินงานนี้ นอกจากสะท้อนการบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ได้ร่วมพัฒนาระบบการรักษาและดูแลผู้ป่วยผ่าตัดวันเดียวกลับอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดทั้งเวลานอนในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงติดเชื้อของผู้ป่วย ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ป่วยและญาติระหว่างมาโรงพยาบาล ลดระยะเวลารอคอยผ่าตัด รวมถึงลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล ทำให้มีเตียงว่างเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินและซับซ้อนเพิ่มขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า สปสช.พร้อมสนับสนุนการผ่าตัดแบบวันเดียวกับ นอกจากเป็นหนึ่งในภารกิจและบทบาทหน้าที่ของ สปสช.ในการร่วมพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานแล้ว ในอนาคตเชื่อว่าการบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าแล้ว ยังดีกับตัวผู้ป่วยและระบบบริการสาธารณสุขในภาพรวมประเทศ เพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยภายใต้งบประมาณจำกัด ขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งได้มีการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับแล้ว อาทิ การให้ผู้ป่วยเตรียมตัวที่บ้านก่อนมารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ การพักฟื้นหลังผ่าตัดเพื่อให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองและกลับบ้านได้ในวันเดียวหรืออยู่ในโรงพยาบาลไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย