พฤติการณ์ อดีตพระพรหมสิทธิกับพวก ในคำสั่งอายัดเงิน 134 ล.
พลิกคำสั่ง ปปง. ดูพฤติการณ์อดีตบิ๊กพระคดีเงินทอน 3 วัดดัง พระพรหมสิทธิ ยื่นเอกสารของบฯเอง 2 โครงการ คนชง-คนอนุมัติ 'ตัวละคร' ชุดเดียวกัน ก่อนอายัดเงิน 10 บัญชี ‘ธงชัย’กับพวก 134.7 ล.
กรณีเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 คณะกรรมการธุรกรรมในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งที่ ย.82/2561 อายัดทรัพย์สินประเภทเงินฝากอดีตพระผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตเงินงบประมาณอุดหนุนบูรณะซ่อมแซม เพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม และเพื่อการเผยแผ่ดำเนินกิจกรรมทางศาสนา(เงินทอนวัด) จำนวน 4 ราย ได้แก่
1.พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร จำนวน 7 บัญชี วงเงิน 132.8ล้านบาท
2.พระพรหมเมธี 1 บัญชี จำนวน 162,151.76 บาท
3.พระพรหมดิลก 1 บัญชี จำนวน 1,745,953.37 บาท
4.พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด วงศ์ชอุ่ม) 1 บัญชี วงเงิน 27,876.08 บาท
รวมทั้งสิ้น 10 บัญชี 134,793,505.17 บาท
พลิกเอกสารคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ปปง.พบพฤติการณ์แห่งคดีดังนี้
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้จัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาและเพื่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการกองปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่ทุจริตกรณีการอนุมัติและเบิกจ่ายงบประมาณสนับสนุนการจัดการศึกษา พระปริยัติธรรมของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดสัมพันธวงศ์ และวัดสามพระยา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 142 ,มาตรา 157 มาตรา 162 มาตรา 83 และมาตรา 86 โดยที่วัดทั้งสามดังกล่าวไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาสังกัดหรือตั้งอยู่ จึงเป็นการสมคบกันกระทำความผิดเพื่อเบียดบังเอาเงินงบประมาณของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต และกรณีทุจริตเงินงบประมาณโครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรม และโครงการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดยในการยื่นขอรับเงินอุดหนุนทั้ง 2 โครงการ มีพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นผู้ทำคำขอยื่นลงวันที่เดียวกัน การดำเนินการตามโครงการอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เสนอเรื่องจนถึงผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุนทั้งสองโครงการเป็นบุคคลชุดเดียวกัน
ต่อมาปรากฎข้อเท็จจริงว่าวัดต่างๆ ซึ่งมีชื่อปรากฎอยู่ในโครงการตามที่ขออนุมัติงบประมาณทั้งสองโครงการ หลายแห่งยืนยันว่าไม่ได้รับเงินอุดหนุนตามโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด นอกจากนี้ บก.ปปป.ได้ส่งสำนวนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว
กรณีน่าเชื่อว่าบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอเรื่อง จนถึงขั้นตอนการอนุมัติและการนำงบประมาณออกไปจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สมคบกันโดยมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดเพื่อเบียดบังเอาเงินงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือของบุคคคลที่สามโดยทุจริตตั้งแต่ต้น และเชื่อได้ว่าพฤติการณ์ของกลุ่มคนทุจริตเงินงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นความผิดฐานฟอกเงินด้วย
จากพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) และความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า กลุ่มบุคคลทุจริตเงินงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าว
คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 10 รายการพร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่ 23 พ.ค.2561-20 ส.ค.2561
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆซึ่งทรัพย์สินดังกล่าสหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงิน หรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของคำสั่งอายัดเงินฝาก 10 บัญชีของ 4 อดีตพระผู้ใหญ่ในคดีเงินทอนวัด
อ่านประกอบ :
เปิดคำสั่ง ปปง.อายัดเงินฝาก4 อดีตพระผู้ใหญ่10 บัญชี 134.7 ล.-‘พรหมสิทธิ’ 132ล.