ดีขึ้นจริงไหม 'ค้ามนุษย์' อ่านเหตุและผล TIP Report 2018 ปรับสถานะไทยขึ้นไปอยู่ ‘เทียร์ 2’
ปัจจุบันประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมายการค้ามนุษย์ เพิ่มโทษให้มีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยในปี 2559 ได้มีการเพิ่มโทษผู้กระทำผิดจากการค้ามนุษย์จำคุก 12 ปี และปรับสูงสุด 1.2 ล้านบาท ถ้าเป็นแรงงานเด็กจะถูกจำคุกถึง 20 ปี
ทันทีที่ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกามีการเผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2561 (TIP Report 2018) โดยประเทศไทยได้รับการปรับสถานะขึ้นไปอยู่ระดับ ‘เทียร์ 2’ จากระดับ ‘เทียร์ 2 ต้องเฝ้าจับตามอง’ (Tier 2 watch list)
รัฐบาลไทยก็ออกมายืนยันว่า จะยังคงเดินหน้าปราบปรามและกำจัดการค้ามนุษย์ในไทยให้มากที่สุด และในปีหน้าที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนก็จะผลักดันการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาคอาเซียนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นไปอีก
"นายกฯ ย้ำว่า ถือเป็นวันที่มีข่าวดี แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลและทุกฝ่ายต้องทำงานหนักยิ่งขึ้นอีก ไม่ใช่น้อยลงเพื่อแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ให้สำเร็จอย่างดีที่สุด พร้อมทั้งขอให้ประชาชนช่วยกันดูแล สอดส่อง และแจ้งข้อมูลแก่เจ้าหน้าทีหากพบเห็นปัญหาการค้ามนุษย์ทุกแห่ง ขณะเดียวกันได้กำชับทุกส่วนราชการ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานให้บูรณาการกับทุกฝ่าย เพื่อให้การคุ้มครองดูแลแรงงานไทยและต่างชาติ และการบังคับใช้กฎหมายมีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานทุกคนอย่างยั่งยืน" พันเอก อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
สำหรับเหตุผลที่ ประเทศไทยได้รับการยกระดับมาอยู่เทียร์ 2 นั้น ในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ ระบุว่า แม้ประเทศไทยยังแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ไม่ถึงระดับมาตรฐานที่ดีก็ตาม แต่การดำเนินการต่าง ๆ ที่ผ่านมา ก็มีประสิทธิภาพพอสมควร
ปี 2560 รัฐบาลไทยได้ดำเนินการต่าง ๆ เช่น การยึดทรัพย์เครือข่ายการค้ามนุษย์กว่า 784 ล้านบาท หรือการดำเนินคดี ตรวจสอบ และลงโทษเครือข่ายค้าแรงงานผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนแรงงานประมงมากขึ้น รวมไปถึง การขยายเวลาให้เหยื่อจากการค้ามนุษย์ รวมถึงพยานผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหยื่อได้อาศัยและทำงานในประเทศไทยนานขึ้น
ในรายงาน ยังระบุถึงการเพิ่มงบประมาณสนับสนุนการต่อต้านการค้ามนุษย์ อาทิ การจ้างล่ามแปลภาษาชาวต่างชาติเพื่อช่วยในการสอดส่องหาเหยื่อจากการค้ามนุษย์และการพูดคุยสัมภาษณ์เหยื่อ รวมถึงการเพิ่มปริมาณเจ้าหน้าที่ในหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบค้นหาเหยื่อจากการค้ามนุษย์ และเพิ่มกำลัง ความเชี่ยวชาญให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
อย่างไรก็ดี ในรายงานฉบับนี้ มีข้อเสนอแนะการทำงานของรัฐบาลไทยอีกว่า เนื่องจากรายงานผลงานของรัฐบาลไทยยังไม่มีผลงานอะไรที่ดีขึ้นกว่าในรายงานครั้งก่อน รวมถึงยังไม่ได้มีการดำเนินคดี และลงโทษผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์รุนแรงพอ
อีกทั้ง เจ้าหน้าที่รัฐแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ หรือค้นหาเหยื่อจากการค้ามนุษย์ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการรายงานผลครั้งก่อน สวนทางการการตรวจสอบการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมาย ที่รัฐบาลไทยเข้มงวดมากขึ้น และการเพิ่มจุดตรวจตราตามท่าเรือประมงเพิ่มขึ้น
ส่วนข้อเสนอแนะอื่นๆ เช่น
- ควรเพิ่มการตรวจสอบและบทลงโทษ สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
- เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบค้นหาเหยื่อในกลุ่มที่สุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มผู้อพยพ กลุ่มแรงงานประมง กลุ่มคนไร้สัญชาติ กลุ่มผู้เยาว์ และกลุ่มผู้ลี้ภัย ควรใช้กระบวนการทางกฎหมายเชิงรุกเข้าดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยอิงเหยื่อเป็นศูนย์กลาง
- ฝึกทักษะให้ผู้ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับเหยื่อ ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
- ตรวจสอบค้นหาเหยื่อค้ามนุษย์ ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มที่ถูกบังคับใช้แรงงาน นอกเหนือจากการใช้ความรุนแรงทางกาย ( แรงงานขัดหนี้ การทารุณทางเพศ การข่มขู่ )
- กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมและเจ้าหน้าที่รัฐในการร่วมกันตรวจสอบค้นหาเหยื่อค้ามนุษย์ รวมถึงเพิ่มความตื่นตัว และเพิ่มทรัพยากร การฝึกอบรมแก่หน่วยงานรัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์
สุดท้าย ในรายงานยังได้ ระบุถึงตัวบทกฎหมายด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมายการค้ามนุษย์ เพิ่มโทษให้มีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยในปี 2559 ได้มีการเพิ่มโทษผู้กระทำผิดจากการค้ามนุษย์จำคุก 12 ปี และปรับสูงสุด 1.2 ล้านบาท ถ้าเป็นแรงงานเด็กจะถูกจำคุกถึง 20 ปี ถือเป็นระดับการลงโทษที่เทียบเท่าได้กับ การข่มขืน รวมถึงมีการเพิ่มเนื้อหาบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการกดขี่แรงงานให้ครอบคลุมถึง “การกระทำเสมือนกดคนลงเป็นทาส” และ “การถูกกดเป็นแรงงานเพื่อไถ่หนี้” รวมถึงเพิ่มบทลงโทษการเอาคนลงเป็นทาส สนับสนุน จัดจ้างการนำคนมาขอทานด้วย ซึ่งถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็จะโดนโทษหนัก เป็นต้น