กรมอนามัย รณรงค์สร้างสุขภาพดีตั้งแต่ในท้องยันเกิด 2 ปี เพื่อพัฒนาสมวัยในอนาคต
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 11“มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต เพื่อการเจริญเติบโตคุณภาพ” สร้างคนไทยสุขภาพดีตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงอายุ 2 ปีให้มีพัฒนาการสมวัยและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 11 “มหัศจรรย์ 1,000วันแรกของชีวิต เพื่อการเจริญเติบโตคุณภาพ”ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า 1,000 วันแรกของชีวิต คือช่วงเวลาที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงอายุ 2 ปี เป็นช่วงวัยทองของเด็กที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสมอง เพราะโครงสร้างสมองจะมีการพัฒนาสูงสุด ทั้งการสร้างเซลล์สมองและการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์สมองเกิดเป็นโครงข่ายใยประสาทนับล้านโครงข่าย มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ส่งผลต่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการเตรียมความพร้อมของสตรีระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดไปจนกระทั่งเด็กอายุ 2 ปี จะเป็นตัวกำหนดสุขภาพและโรคในอนาคตได้ ซึ่งผลการดำเนินงานคัดกรองพัฒนาการใน ปี 2561 พบความครอบคลุมร้อยละ 82.5 มีพัฒนาการสงสัยล่าช้าร้อยละ 20.3 จำเป็นต้องเร่งค้นหาเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าให้ได้รับการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม โดยพบว่า ร้อยละ 90 จะกลับมาปกติ ส่วนอีกร้อยละ 10 อาจมีปัญหาอื่น ๆ เช่น ออทิสติก หรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้ ต้องได้รับการดูแลรักษา และการกระตุ้นพัฒนาการโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่สำคัญคือการเจริญเติบโตของเด็ก พบว่า เด็กสูงดีสมส่วนเพียงร้อยละ 50 โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ เด็กเตี้ย รองลงมาคือเด็กอ้วนและเด็กผอม ซึ่งส่งผลให้เด็กเจ็บป่วยและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน ระดับไอคิวต่ำ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเมื่อเป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยได้ส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็กผ่านเครือข่ายชุมชนโดยมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายชุมชนในการค้นหา คัดกรอง และกระตุ้นพัฒนาการเด็กล่าช้าอย่างทันท่วงที จะทำให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยส่งเสริมการบริโภคอาหารให้เหมาะสมตามวัย ให้สูงดีสมส่วน และดำเนินโครงการมหัศจรรย์1,000 วันแรกของชีวิต ขับเคลื่อนจากชุมชนผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ โดยยึดแม่และเด็กเป็นศูนย์กลางบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมด้วยระบบการดูแลที่ต่อเนื่องตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 2 ปี ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และเด็ก แต่ละคนต้องได้รับบริการตามชุดกิจกรรมพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และเด็กได้รับสารอาหารครบถ้วนเพียงพอ มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ รวมทั้งมีพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.Milk Code) เป็นกลไกส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น
“นอกจากนี้ ได้มีนโยบายการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกที่ถูกกำหนดรวมอยู่ในยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พศ. 2560 - 2573 โดยมีเป้าหมายให้ลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกให้ต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปี พ.ศ. 2563 และไม่มีทารกติดเชื้อรายใหม่ในปี 2573 และในปี 2561 ประเทศไทยผ่านการประเมินซ้ำจากองค์การอนามัยโลกเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้รับรองมาตรฐานการดำเนินงาน โดยได้มีการจัดทำแนวทางและเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการยุติการติดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสระดับจังหวัดของประเทศไทยขึ้น (Subnational validation) ครอบคลุมทั่วประเทศ” นายแพทย์วชิระ กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 11 “มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต เพื่อการเจริญเติบโตคุณภาพ” ในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ระหว่างภาคีเครือข่ายและผู้ปฏิบัติงานเพื่อนำไปพัฒนาและขับเคลื่อนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน ประกอบด้วย นักวิชาการด้านส่งเสริมสุขภาพ บุคลากรจากมหาวิทยาลัยสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนภาคีเครือข่าย โดยภายในงานมีการบรรยาย อาทิ มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิตเพื่อการเจริญเติบโตคุณภาพ,การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (Life course approach) การนำเสนอผลงานวิชาการทั้ง Poster Presentation และ Oral Presentation รวมกว่า280 เรื่อง และนิทรรศการภายใต้แนวคิด “มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต เพื่อการเจริญเติบโตคุณภาพ”