“สุวิทย์” เคาะ สวทน. ปั้น “STI Policy White Paper”
สวทน. ศึกษาขอบเขตและเป้าหมาย พร้อมให้จัดทำรายละเอียดตามหลักการ (Guiding Principle) ตามที่ได้ให้แนวทางไว้ พร้อมให้จัดทำรายงานและข้อเสนอแนะในลักษณะของ Strategic Paper ที่มุ่งเน้นด้าน Bio Economy ศึกษาขอบเขตการพัฒนา
28 มิ.ย.2561 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (บวทน.) ครั้งที่ 4/2561 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 สวทน. โดยมี รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธาน และดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการในการประชุม
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ข้อเสนอแนะและทิศทางการจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการพัฒนา วทน. ของประเทศไทย (STI White Paper) ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (บวทน.) ว่า ในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมตามนโยบาย Thailand 4.0 ต้องมองว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างนวัตกรรม ดังนั้น STI White Paper ควรมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นการศึกษาที่สามารถชี้ทิศทางการพัฒนาและนำมาใช้ได้จริง ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ (Demand Driven)
โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่ประเทศมีศักยภาพ และการพัฒนาในด้านนั้นจะส่งผลกระทบต่อทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ เช่น Bio Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ ที่มีขอบเขตรวมทั้งด้านเกษตรกรรม อาหาร พลังงาน สมุนไพร รวมถึงยาชีววัตถุ เป็นต้น ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สวทน. ศึกษาขอบเขตและเป้าหมาย พร้อมให้จัดทำรายละเอียดตามหลักการ (Guiding Principle) ตามที่ได้ให้แนวทางไว้ พร้อมให้จัดทำรายงานและข้อเสนอแนะในลักษณะของ Strategic Paper ที่มุ่งเน้นด้าน Bio Economy ศึกษาขอบเขตการพัฒนา โดยคัดเลือกบางเรื่องที่สำคัญและสามารถทำได้ก่อน หรือเป็นเรื่องที่สามารถกำหนดเป็นเป้าหมายที่สามารถทำสำเร็จได้ในระยะแรก (Quick win) ซึ่งเมื่อมีรายละเอียดหลักการที่ชัดเจน เป้าหมายการทำนโยบายก็จะชัดเจนขึ้น และสามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนการจัดทำ STI Policy White Paper ที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการจัดทำนโยบายการพัฒนาด้าน วทน. ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความสมดุลกันด้วย
“ประเทศไทยมีทรัพยากรค่อนข้างมาก แต่ยังขาดการนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ Bio Economy เป็นตัวอย่างชัดเจนที่เป็นทรัพยากรที่มีศักยภาพลำดับต้นของไทย เพราะฉะนั้นการนำเรื่องดังกล่าวมาเป็นเป้าหมายของการจัดทำนโยบายการพัฒนาด้าน วทน. หรือ STI Policy White Paper ของประเทศ จะเป็นการใช้ทรัพยากรของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อให้การดำเนินงานได้ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม จะมีการเชิญภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ Bio Economy มาหารือร่วมกัน โดยจัดเป็น Open Forum เพื่อมาระดมสมองขับเคลื่อนการจัดทำ STI Policy White Paper ต่อไป นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานฯ เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงาน โดยมีผมนั่งเป็นประธานกรรมการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
นอกจากที่ประชุมจะให้ความสำคัญกับประเด็นการจัดทำ STI Policy White Paper แล้ว ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. ยังได้รายงานถึงอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศ โดยได้อ้างอิงการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ ของ IMD (International Institute for Management Development) หน่วยงานระดับสากลที่ทำการเผยแพร่รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ โดยในปี 2018 (รายงานผลช่วงปลายเดือน พ.ค. 61) ประเทศไทยถูกจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 30 จาก 63 ประเทศ ลดลง 3 อันดับจากปี 2017 แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่น่าจับตามองคือ อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของไทย พุ่งขึ้นไปอยู่อันดับที่ 42 ดีขึ้นจากปี 2017 ถึง 6 อันดับ โดยผลประเมินความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ 5 อันดับแรก ตกเป็นของ สหรัฐอเมริกา จีน สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล และญี่ปุ่น ตามลำดับ
“อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของไทยดีขึ้นจากปี 2017 เกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศต่อ GDP ที่ดีขึ้นจากอันดับที่ 47 (0.62% ต่อ GDP) ในปี 2017 มาอยู่ในอันดับที่ 45 (0.78% ต่อ GDP) ในปี 2018 เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของธุรกิจเอกชนต่อ GDP ดีขึ้นจากอันดับที่ 37 (0.43% ต่อ GDP) ในปี 2017 มาอยู่ในอันดับที่ 36 (0.57% ต่อ GDP) ในปี 2018 นอกจากนี้ จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาแบบทำงานเต็มเวลาของทั้งประเทศ ดีขึ้นจากอันดับที่ 18 (89,600 คน) ในปี 2017 มาอยู่ในอันดับที่ 17 (112,400 คน) ในปี 2018” เลขาธิการ สวทน. กล่าว
ทั้งนี้ การที่อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของไทย มีอันดับดีขึ้นเกือบทุกด้าน ส่วนสำคัญเป็นผลมาจากมาตรการจากภาครัฐเพื่อส่งเสริมการลงทุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อมุ่งสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ไม่ว่าจะเป็น การยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการวิจัยและพัฒนา การให้สิทธิประโยชน์เพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ การส่งเสริมให้เกิดเขตเศรษฐกิจสำหรับนวัตกรรม (Economic Zone for Innovation) อาทิ เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innopolis โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ หรือ Science Park รวมถึง EECi โครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นต้น ตลอดจนการออกมาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ 300% หรือ 3 เท่าของวงเงินที่มีการใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนการสนับสนุน และส่งเสริมให้เกิดโครงการ Talent Mobility ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนบุคลากรระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคผลิตและบริการ นอกจากนี้ ภาครัฐยังคงมุ่งหน้าในการส่งเสริมการลงทุนการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสร้าง Startup Ecosystem หรือ โครงการนโยบายและมาตรการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบนิเวศ กฎหมาย และกฎระเบียบที่เหมาะสมที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเติบโตได้ Spearhead Program โครงการวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้สูงในสาขาเป้าหมายของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้ รวมถึงการพัฒนากลไกและมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ Ease of Doing Innovation Business โดยมีแนวคิดสำคัญในการปลดล็อคกฎหมาย ระเบียบ กระบวนการ วิธีการต่าง ๆ ให้ง่ายและเข้าถึงเป้าหมาย และนำร่องทดลองใช้มาตรการต่าง ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยี (Technology Sandbox) และด้านกฎระเบียบ (Regulatory Sandbox) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และขับเคลื่อนในทิศทางที่ถูกต้องอย่างแท้จริง