ค้าขยะใครเดือดร้อน? ฟังเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมจากคนในพื้นที่ 7 จังหวัด
สถานการณ์ “ขยะพิษ” ไทยวิกฤติ พื้นที่หลายจังหวัดกลายเป็น “บ่อกำจัดขยะ” ชาวบ้านได้รับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิต
ในช่วงนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในประเด็นที่กำลังร้อนแรงในสังคมไทย คือ เรื่องการลักลอบนำเข้าขยะจากต่างชาติมากำจัดในประเทศไทย จนมีการหวั่นเกรงกันว่า ไทยจะกลายเป็น “บ่อขยะแห่งใหม่ของโลก”
คำกล่าวนี้คงไม่ใช่คำกล่าวลอย ๆ เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดงานแถลงข่าว “เปิดปูมกรณีการนำเข้า”ขยะพิษ”” ซึ่งภายในงานได้มีตัวทนชาวบ้าน 7 จังหวัด คือ จังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี สระบุรี และราชบุรี ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินการของโรงงานกำจัดขยะในพื้นที่ ต่างมาสะท้อนให้ผู้คนรับรู้ถึงปัญหา และผลกระทบที่พวกเขาประสบพบเจอ
นางสาวสุณิสา โชติกเสถียร ตัวแทนชาวบ้านจากตำบลบางโทรัด จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งในพื้นที่มีโรงงานคัดแยกขยะ ชื่อ บริษัท สมุทรสาคร เนเชอรัล คลีน เอ็นเนอร์จี จำกัด และบริษัทสมุทรสาคร คลีนเอ็นเนอร์นี่ จำกัด เธอบอกว่า เริ่มแรก เมื่อปี 2558 บริษัทแห่งนี้ขอใบอนุญาตเปิดเป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานขยะ โดยไม่ได้มีการทำประชามติมาก่อน ต่อมาถูกชุมชนคัดค้าน เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ชุมชน คนในชุมชนกังวลเรื่องมลพิษ กลิ่นเหม็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีศูนย์เด็กเล็กตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย
ที่สำคัญภายหลังเมื่อก่อตั้งเป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะแล้ว บริษัทแห่งนี้กลับแปรเปลี่ยนเป็นโรงงานคัดแยกขยะ ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วพื้นที่ ซึ่งตัวแทนชาวบ้านจึงตั้งข้อสงสัยเหตุใดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อุตสาหกรรมจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด อนุญาตให้ก่อตั้งได้
ไม่ต่างจากที่ระยอง โรงงานอุตสาหกรรม บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ตั้งอยู่ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งเคยมีข่าวรถพ่วงบรรทุกแทงค์สารเคมีรั่วไหลลงถนน 50 ลิตร ขณะจะนำไปกำจัดที่โคราช นายภราดร ชนะสุนทร ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนหนองพวา จังหวัดระยอง ระบุถึงปัญหาในพื้นที่ บริษัท วินโพรเซส จำกัด ซึ่งประกอบกิจการโรงงาน 106 (นำของเสียมาผลิตเป็นวัตถุดิบ) โดยเป็นโรงงานอัดเศษกระดาษและหลอมโลหะ ซึ่งโรงงานมักจะลักลอบทิ้งของเสียในที่นาชาวบ้าน จนทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ดินเสื่อมโทรม และส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว
นอกจากนี้ชาวบ้านในชุมชนหนองพวา ยังชี้ว่า โรงงานแห่งนี้มีการคัดแยกน้ำมัน ซึ่งใช้สารเคมีแยกน้ำมันดีไปขายและทิ้งน้ำมันเสียลงคลอง จนน้ำกลายเป็นสีเหลือง น้ำมันเหม็นเน่า นักเรียนในพื้นที่ต้องใช้ผ้าปิดจมูกเรียนหนังสือ แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ เจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรมจังหวัดได้ลงมาตรวจโรงงานคัดแยกดังกล่าวแล้วพบว่า เป็นสารเคมีอันตราย แต่ 1 เดือนต่อมาโรงงานดังกล่างกลับได้รับใบอนุญาต 105 และ 106 เพิ่มเติม
ขณะที่ชาวบ้านอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ระบุถึงปัญหาในพื้นที่มีโรงงาน ของบริษัทไ มด้า วัน จำกัด ตั้งอยู่ ตำบลท่าข้าม อำเภอบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบกิจการรับบำบัดกากอุตสาหกรรม มีแทงค์สารเคมีอุตสาหกรรม 10 แทงค์ อยู่ในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของธนาคารกรุงไทย ซึ่งเมื่อปี 2569 บริษัทฯ ได้ปิดตัวลง ที่ดินจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ปัจจุบันยังไม่มีการแนวทางการจัดการของเสียภายในโรงงานเลย
ชาวบ้านบอกว่า มีปล่อยกากอุตสาหกรรมไหลลงปนเปื้อนแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำสำหรับใช้เลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นอาชีพและแหล่งอาหารของชาวบ้าน โดยได้แจ้งทั้งเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด ศาลยุติธรรม และผู้ว่าราชการจังหวัดมากว่า 5 ปีแล้ว แต่ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ถือว่า มีโรงงานประเภท 105 และ 106 มากที่สุดนั้น
นายจอร์น เนาวโอภาส ตัวแทนชาวบ้าน ให้ข้อมูลว่า จังหวัดฉะเชิงเทรามีโรงงานประเภท 105 (โรงงานคัดแยกหรือฝังกลบขยะ) และ 106 (โรงงานนำของเสียมาผลิตเป็นวัตถุดิบ) กว่า 200 โรงงาน ซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย รวมถึงบ่อฝังกลบขยะของกรุงเทพฯ ก็ตั้งอยู่ที่นี่ เริ่มดำเนินการณ์มาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว
ช่วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ชาวบ้านได้มีร้องเรียนไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมถึงปัญหาความเดือดร้อนจากการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมอย่างรุนแรง จนถึงปัจจุบันมีการขยายตัวของโรงงานกำจัดของเสียจำนวนมาก ทำให้เกิดผลกระทบทั้งกลิ่นเหม็น น้ำเสีย และความเสี่ยงต่อแหล่งน้ำใต้ดิน แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขแต่อย่างใด
เช่นเดียวกับชาวบ้านจากจังหวัดเพชรบุรีสะท้อนปัญหาว่า ภายในพื้นที่มีโรงงานของบริษัท มงคลไทยและธุรกิจ จำกัด ซึ่งได้ดำเนินการขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน 106 เพื่อประกอบกิจการหลอมพลาสติก หลอมทองแดง คัดแยก ถอดแยก และบดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเก็บรวบรวมแบตเตอรี่ ที่ผ่านมาขณะยังไม่ได้รับใบอนุญาต บริษัทฯ นำเศษโลหะ ลวดทองแดง มากองไว้บริเวณพื้นที่โรงงาน ทำให้ชาวบ้านร้องเรียนและคัดค้านการขออนุญาตตั้งโรงงาน กระทั่งปัจจุบัน บริษัทได้รับใบอนุญาตโรงงาน 105 คัดแยกขยะไม่อันตราย และอยู่ระหว่างทำเรื่องขอใบอนุญาตหลอมทองแดง จนชาวบ้านหวั่นว่า การดำเนินกิจการของโรงงานแห่งนี้จะส่งผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
และที่จังหวัดสระบุรี มีปัญหาฝุ่น และการส่งกลิ่นเหม็นจากโรงงาน บริษัท ทีซีเอ นอนเฟอรัส เมทัล จำกัด ตั้งอยู่ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นการขออนุญาตโรงงานลำดับที่ 106 เดิมโรงงานแห่งนี้ประกอบกิจการนำเศษโลหะมาหลอมใหม่ แต่มีปัญหาร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็น จึงถูกเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อปี 2557 ซึ่งตัวแทนชาวบ้านจากอำเภอเฉลิมพระเกียรติ แสดงความประหลาดใจเช่นกันว่า มีการออกใบอนุญาตให้โรงงานแห่งนี้ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ชาวบ้านทั้งหมดในพื้นที่มีรวมตัวกันคัดค้าน
“พื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติเป็นพื้นที่เกษตรกรรมผลิตอาหารส่งไปยังโรงพยาบาลพระพุทธบาทสระบุรี ซึ่งชาวบ้านเคยเรียกร้องให้โรงงานย้ายไปตั้งยังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม แต่โรงงานยังยืนกรานจะเปิดที่บริเวณนี้เนื่องจาก “ค่าคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ””
สุดท้ายจังหวัดราชบุรี บริษัท แว๊กซ์ กาเบจ เซ็นเตอร์ จำกัด มีใบอนุญาตโรงงานถึง 9 ใบ เป็นลำดับที่ 105 คัดแยกขยะฝังกลบของเสียไม่อันตราย, ลำดับที่ 40 อัดเศษกระดาษ,ลำดับที่ 53 บด ย่อยพลาสติก, ลำดับที่ 64 อัดเศษโลหะ และลำดับที่ 106 จำนวน 5 ใบ
บริษัทฯ แห่งนี้ เคยมีเรื่องฟ้องกันมาแล้ว เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ศาลแพ่งรับคำฟ้องดำเนินคดีแบบกลุ่มให้กับชาวบ้าน โดยให้บริษัทรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่ จากกรณีสารเคมีรั่วไหลจากกิจการ เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหายต่อสุขภาพ วิถีชีวิตและการเกษตร และเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 ศาลแพ่งมีคำสั่งตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ให้ระงับการนำเข้าสารเคมี การฝังกลบสารเคมีในพื้นที่โรงงาน
ชาวบ้านจากอำเภอจอมบึง บอกว่า โรงงานแห่งนี้ได้คัดแยกและฝังกลบของเสียอยู่บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลองและปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำ ส่งผลให้ทางการต้องประกาศห้ามใช้นำเกษตรกรในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการการเกษตร ชาวบ้านขาดรายได้ นอกจากนี้สารเคมีจากโรงงานยังปนเปื้อนน้ำใต้ดิน พื้นที่ใช้อุปโภคบริโภค
จะเห็นว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะพลาสติก และของเสียอันตราย ทั้งในประเทศ และนำเข้าจากประเทศอุตสาหกรรมหลายสิบประเทศที่ส่งเข้ามาคัดแยก แปรรูป และกำจัดทิ้งบนผืนแผ่นดินไทย ได้ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้จึงถึงเวลาทบทวน จัดสมดุลระหว่าง นโยบายรัฐไทย ภาคอุตสาหกรรม และบริษัทรับกำจัดขยะนานาชาติ ไม่ให้ทำร้ายคนไทย...
มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับประชาชนผู้เดือดร้อน 7 จังหวัด
ยื่นจม.ถึงนายกฯ ขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพิษมายังประเทศไทย